จาก ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ‘RoboCop’ สู่โลกความจริงด้วย ‘RoboTaxi’

จาก ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ‘RoboCop’ สู่โลกความจริงด้วย ‘RoboTaxi’

เมื่อวันก่อนผมฟังรายการวิทยุมีพิธีกรสองคนพูดคุยเรื่อง “Robotaxi” โดยระบุว่า กำลังสร้างความขัดแย้งกับผู้คนในเมืองซานฟรานซิสโก ที่เริ่มให้บริการเต็มรูปแบบ

เมื่อวันก่อนผมฟังรายการวิทยุมีพิธีกรสองคนพูดคุยเรื่อง “RoboTaxi” โดยระบุว่า กำลังสร้างความขัดแย้งกับผู้คนในเมืองซานฟรานซิสโก ที่เริ่มให้บริการเต็มรูปแบบ พิธีกรท่านหนึ่งถามว่ามัน คือ รถแท็กซี่ที่ใช้หุ่นยนต์ขับหรืออย่างไร เข้าใจว่าพิธีกรคนนั้นคงจะอยู่วัยเดียวกับผม ที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง “RoboCop” ซึ่งเข้าฉายเมื่อปี 1987 เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เล่าถึงเรื่องราวของตำรวจที่ถูกยิงเสียชีวิตและถูกนำมาสร้างเป็นหุ่นยนต์ตำรวจ

กระทั่งนำมาสู่ความวุ่นวายเนื่องจากไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของหุ่นยนต์ตำรวจที่มีความก้าวร้าวได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนถึงปัญหาสังคมของการนำเทคโนโลยีมาใช้

RoboTaxi ไม่ใช่รถที่ใช้หุ่นยนต์ขับเคลื่อนแต่คือ “แท็กซี่ไร้คนขับ” ซึ่งผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้ผ่านแอปพลิเคชัน คล้ายๆ กับ Uber หรือ Grab แต่ต่างกันตรงที่เป็นรถไม่มีคนขับมารับผู้โดยสาร และผู้โดยสารสามารถเปิดประตูเข้ารถได้โดยสั่งผ่านแอป ซึ่งคล้ายกับ RoboCop ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเอไอในการทำงาน และคงต้องพิจารณาถึงความพร้อมของเทคโนโลยีและการยอมรับจากผู้คนในสังคม

ในปัจจุบันมีสามเมืองในสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้มีการใช้ RoboTaxi สำหรับรับส่งผู้โดยสารสาธารณะได้คือ เมืองฟีนิกซ์ ในรัฐแอริโซนา เมืองซานฟรานซิสโก ในรัฐแคลิฟอเนีย และเมืองออสติน ในรัฐเท็กซัส และกำลังทำการทดสอบอีกหลายสิบเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังจะมีการขอใบอนุญาตให้ใช้จริงในเมืองใหญ่ๆ อีกบางแห่ง

แต่สิ่งที่สร้างความตื่นเต้นกับวงการมากที่สุดคือ การที่เมืองซานฟรานซิสโกอนุญาตให้ RoboTaxi สามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แทนที่จะวิ่งได้เฉพาะเวลากลางคืนแบบเดิม

ผู้ให้บริการรายหลักในเมืองซานฟรานซิสโกมีอยู่สองบริษัท คือ บริษัท Cruise ของ General Motors และWaymo ของ Google โดยทั้งสองรายได้เพิ่มจำนวนรถที่ให้บริการหลังจากได้รับอนุญาตให้วิ่ง 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้แต่ละบริษัทมีรถจำนวนหลายร้อยคัน โดยมีรถที่วิ่งในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ทั้งนี้เพราะกลางคืนมีจำนวนรถบนถนนน้อยกว่าทำให้การขับอัตโนมัติง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีการอนุญาตให้ RoboTaxi วิ่งได้ตลอดเวลา ก็เริ่มมีปัญหาตามมาโดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุ เช่น รถ Robotaxi ของ Cruise ชนกับรถดับเพลิงในเมืองซานฟรานซิสโก ทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ก็เนื่องจากรถดับเพลิงจะรีบไปยังสถานที่เกิดเหตุ คนขับจึงเบียดเข้าสู่ทางรถที่เดินขาเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงรถในเส้นทางปกติ แต่รถของ Cruise ก็ข้ามไฟเขียวอย่างปกติโดยอาจไม่ทราบว่าต้องหยุดจอดเพื่อหลบให้รถดับเพลิง นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุการณ์ที่ RoboTaxi ไปจอดขวางรถขยะหรือบางครั้งก็หยุดกลางถนนโดยไม่ทราบสาเหตุ

สังคมในเมืองซานฟรานซิสโกบางส่วนเริ่มต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้บริการของ RoboTaxi เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย และความไม่พอใจของกลุ่มผู้พิการที่เคยใช้บริการแท็กซี่ที่มีคนขับแล้วมาอำนวยความสะดวกในระหว่างขึ้นและลงรถ นอกจากนี้กลุ่มคนขับรถแท๊กซี่แบบดั้งเดิมอย่าง Uber และ Lyft ก็เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียอาชีพในอนาคตด้วยเช่นกัน

อีกทั้ง ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรอบกฎหมายและผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีการเกิดอุบัติเหตุ ผู้คนบางส่วนจึงเริ่มมีการออกมาต่อต้าน บางรายก็ใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการนำกรวยกั้นถนนไปวางไว้บนฝากระโปงรถ RoboTaxi ทำให้รถเข้าใจว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า จึงหยุดรถแล้วไม่ขับต่อ

มุมมองอีกด้านหนึ่งมีความรู้สึกว่า RoboTaxi ปลอดภัยกว่าการมีคนขับ เพราะรถถูกทดสอบมาเป็นระยะเวลานาน

จำนวนหลายล้านกิโลเมตร แม้จะมีอุบัติบ้างแต่ก็น้อยกว่าคนขับ และระบบเอไอก็มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่จะพัฒนาระบบการขับอัตโนมัติให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้บริการบางส่วนยังคิดว่ามีความสะดวกสบาย และบางคนมีประสบการณ์ไม่ดีกับคนขับรถแท็กซี่จึงคิดว่า RoboTaxi มีความปลอดภัยมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตามบริษัท Cruise ของ General Motors มีแผนที่จะลดขนาดรถ Robotaxi ลง 50% ในเมืองซานฟรานซิสโกหลังจากเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง เพื่อทำการปรับปรุงและให้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพของรถก่อนจะมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งในอนาคต

นอกจากในสหรัฐอเมริกาแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่เริ่มให้บริการรถไร้คนขับแบบสาธารณะ เช่น รัฐบาลจีนได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Baidu และ Pony.ai ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Toyota ให้บริการ RoboTaxi สองเมืองคือ ปักกิ่ง และกวางโจวและเมื่อเร็วๆ นี้ที่สกอตแลนด์ก็เปิดให้บริการรถบัสอัตโนมัติคันแรกของโลกที่เมืองแอเบอร์ดีน โดยวิ่งเป็นระยะทาง 14 ไมล์ และจะทดลองให้บริการจนถึงปี 2025 แต่ก็ยังมี "คนขับรถอยู่ในที่นั่งคนขับรถ” เพื่อความปลอดภัย

ค่ายรถหลายบริษัทมุ่งพัฒนา Robotaxi เช่น Hyundai มุ่งเน้นกับกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาย รวมถึงผู้สูงอายุ โดยมีแผนที่จะเปิดตัวรถรุ่นนี้ทั่วโลกในปีนี้ และบริษัท EasyMile ในประเทศฝรั่งเศสได้มีความร่วมมือกับ Amazon เพื่อพัฒนา RoboTaxi กัด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการคาดการณ์จากบริษัทวิจัยบางแห่งระบุว่า มูลค่าตลาดของ RoboTaxi จะเพิ่มขึ้นจาก 0.4 พันล้านดอลลาร์ ในปีนี้ กลายเป็น 45.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2030

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี RoboTaxi กำลังเข้ามาให้บริการได้จริงจังมากขึ้น แต่อาจต้องทดสอบมากขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นและยอมรับ ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้เท่าทันเทคโนโลยี

ส่วนจะมาใช้ในบ้านเราได้เมื่อไร คงตอบได้ยาก ถ้าจะมาใช้จริงๆ ต้องทดสอบกันนานกว่าหลายๆ เมือง เพราะ RoboTaxi อาจเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างรถมอเตอร์ไซค์แซงซ้าย คนโหนรถสองแถวทำให้เข้าใจผิด คิดว่ามีคนยืนอยู่ หรือแม้แต่ถูกรถปาดหน้ากระทันหัน ระบบเอไอที่จะนำมาใช้ในบ้านเมืองเราคงต้องเรียนรู้กันอีกมากกว่าจะนำมาใช้ได้จริงๆ