มองแลนด์สเคปอุตฯ สื่อฉบับ “พิรงรอง รามสูต” รับมือเปลี่ยนผ่านปี 2572

มองแลนด์สเคปอุตฯ สื่อฉบับ “พิรงรอง รามสูต”  รับมือเปลี่ยนผ่านปี 2572

สิ่งที่จะได้เห็นในอุตสาหกรรม 'สื่อ และกิจการโทรทัศน์' ต่อจากนี้ คือการเปลี่ยนผ่านการแพร่ภาพจากอดีต จาก 'อนาล็อก' มาสู่ 'ดิจิทัล' ในอีกไม่เกิน 6 ปี ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะสิ้นสุดอายุลง ในขณะนี้ที่แพลตฟอร์มการเสพสื่อบน 'โซเชียลมีเดีย' ก็เข้ามาถาโถมเข้ามาไม่หยุด

สิ่งที่จะได้เห็นในอุตสาหกรรมสื่อและกิจการโทรทัศน์ต่อจากนี้ คือการเปลี่ยนผ่านการแพร่ภาพจากอดีตจากอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล ในอีกปีไม่เกิน 6 ปี ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดอายุลง ท่ามกลางการเข้ามาของ โซเชียล มีเดีย ที่ถาโถม การดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ของ “กสทช.” ในอีกครั้งในการรับมือกับโลกที่กำลังจะเปลี่ยน

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เล่าว่า ตลอด 1 ปี 4 เดือนที่อยู่ในตำแหน่งตัวเองวางนโยบากสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ 5 ด้านเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์ต่อจากนี้ คือ

1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572

2. เข้ามาศึกษาและพิจารณาบริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) เพื่อแนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ

3. การส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย ผ่านสร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน

4. การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ

5. การส่งเสริม Local Content และสื่อท้องถิ่น-ชุมชน

 

มองแลนด์สเคปอุตฯ สื่อฉบับ “พิรงรอง รามสูต”  รับมือเปลี่ยนผ่านปี 2572

เข็น 'เนชั่นแนล แพลตฟอร์ม'

เธอ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ในอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคม โดยจะต้องทำความเข้าใจ นิยามตลาด Audio Visual (VDO) เพื่อให้เห็นแนวทางของการกำกับดูแลในอนาคต ทำความเข้าใจในซัพพลาย เชนที่จะได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทั้งผู้ผลิตและผู้ชม เพื่อนำมากำหนดบทบาททางสังคมของโทรทัศน์ยุคหน้าและต่อยอดเนื้อหาเพื่อผลักดันไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคต

ทั้งนี้การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 จะรวมถึงการผลักดันให้เกิด National OTT Platform (Linear TV/ On Demand/ Ad Management) รองรับเทคโนโลยี 4K การแพร่ภาพผ่าน 5G Broadcast การใช้งานคลื่นความถี่ 600 เมกะเฮิรตซ์สำหรับกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง

ดึง“โอทีที”เข้ามาอยู่ในระบบ

ส่วนการกำกับโอทีทีนั้น จำเป็นต้องพิจารณาศึกษานำโอทีทีเข้าสู่ระบบการกำกับดูแลการลดความเข้มงวดในการกำกับดูแลสื่อเดิมและเปิดโอกาสให้สื่อเดิมสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น ติดตาม เรื่อง หลักการ/หลักเกณฑ์ ที่สำนักงาน กสทช. จะส่งไปสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) ภายใต้ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. 2565 เพื่อสร้างเฟรมเวิร์กและ ขั้นตอนการดำเนินการ การศึกษาการกำกับดูแลบริการหลอมรวม รวมถึงมีการแยกใบอนุญาตระหว่างเน็ตเวิร์กกับเซอร์วิสในอนาคต

โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย สร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและจริยธรรม สู่ดิจิทัลที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามประกาศฯ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ (กองทุน กทปส.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

เอไอ-โซเชียลเครดิตเช็คเนื้อหา

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น Netflix, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา (สอวช.) , กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึง สถาบันการศึกษาในส่วนกลางและภูมิภาค เช่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, คณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ส่วนการกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทางวิชาการและเทคโนโลยีประเมินคุณภาพสื่อ/เนื้อหา การเฝ้าระวัง และการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งในอนาคตจะมีการดึงเอา ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาช่วยมอนิเตอร์เนื้อภาพด้วย ซึ่ง ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของสาธารณะผ่านระบบโซเชียล เครดิต โดยทุกแผนงานก็เพื่อผลักดันให้เกิดโทรทัศน์ชุมชนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อปัจจุบัน