รู้ทัน AI Deepfake ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป!

รู้ทัน AI Deepfake ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป!

อัลกอริทึม Generative AI ซึ่งถูกพัฒนาสู่การเป็น AI Deepfake ที่ฉลาดล้ำ และถูกนำมาสร้างเนื้อหา “ภาพ+เสียง” ที่เสมือนเรื่องจริงจนแยกไม่ออก ว่านี่คือชุดข้อมูล ที่ “มนุษย์” หรือ “เทคโนโลยี AI” เป็นผู้คนสร้างสรรค์ขึ้น ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่เราต่างจับตามอง

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic หรือ AIGC) โดย เอ็ต ด้า เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง พาคนไทยไปทำความรู้จักกับ “AI Deepfake” พร้อมวิธีการรับมือเบื้องต้น เพื่อการรู้ทันเทคโนโลยีเอไอ ที่วันนี้สามารถสร้างชุดข้อมูล ภาพ เสียงได้ราวกับมนุษย์

ทำความรู้จัก AI Deepfake

AI Deepfake คือ Generative AI รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ ทั้งภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ที่เหมือนเป็นคนมาพูดหรือคุยจริงๆ จนแทบแยกไม่ออก

ด้วยระบบการเรียนรู้หรือ Deep Learning จากลักษณะภายนอกของบุคคล เช่น สีผิว ตา ปาก จมูก รูปลักษณ์ต่างๆ ด้วยความฉลาดล้ำจากการเรียนรู้ข้อมูลมหาศาลของ Generative AI จึงทำให้การสร้างภาพและเสียง มีความเหมือนราวกับว่า คนๆ นั้นเป็นคนพูดจริงๆ

ที่สำคัญ วัตถุประสงค์ของการสร้าง AI Deepfake นั้น จะขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่า ต้องการนำไปใช้ในแง่ไหน ซึ่งแน่นอนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจจะมีทั้งในมุมที่ดีและมุมที่ไม่ดีกับสังคมก็ได้

วันนี้ AI Deepfake ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่จำกัดแค่คนสายเทคเท่านั้น แต่ประชาชน คนธรรมดาอย่างเราๆ ก็สามารถพบเจอสื่อที่ถูกสร้างและผลิตจาก AI Deepfake ได้ทั่วๆ ไป

ปลอมภาพและเสียงอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่าการสร้างคลิปภาพและเสียงจาก AI Deepfake หลักๆ จะมี 2 แบบ คือ การปลอมแค่บางส่วน หรือ Face Wrap เช่น เอาหน้าที่อยากปลอม ไปแปะใส่หน้าคนจริงที่ถ่าย แล้วพยายามเลียนแบบเสียง และพฤติกรรมให้เหมือนคนนั้นๆ

ขณะที่ อีกวิธีการสร้างคือ การปลอมทั้งหมด หรือ Face Reenactment โดยใช้เอไอที่เกิดจากการเรียนรู้จากข้อมูลต่างๆ ทั้งการให้แสงเงา การกระพริบตา การยิ้ม เลียนแบบทุกอย่าง ก่อนสร้างภาพเสียงสังเคราะห์เป็นคนนั้นออกมา ต้องยอมรับว่าหากฟังแบบเผินๆ แล้ว ก็เหมือนจนยากจะแยกออกเลย

อย่างไรก็ตาม AI Deepfake ปลอมภาพ เสียงได้ แต่ปลอมอัตลักษณ์ไม่ได้ แม้ว่าเอไอจะสามารถสร้างภาพเคลื่อนไหว เสียง ปลอมเป็นเราได้เหมือนมาก จนตาเปล่ามองแทบแยกไม่ออก ว่าคลิปที่เราได้เห็น ได้ยิน ถูกสร้างโดยเทคโนโลยี หรือ มนุษย์ กันแน่

ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า มันไม่สามารถเลียนแบบอัตลักษณ์ หรือ Identity ที่สะท้อนความเป็นเราจริงๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ม่านตา เลือด DNA ฟัน หรือแม้แต่ลายนิ้วมือ

อัตลักษณ์เหล่านี้ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ต่างก็นำมาใช้ในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือที่มักได้ยินบ่อยๆ คือบริการ Digital ID ซึ่งการยืนยันตัวตนด้วยวิธีนี้ค่อนข้างมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเงินมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

รู้ได้อย่างไร? นี่คือคลิป AI Deepfake

ในวันที่คลิปภาพและเสียง ถูกสร้างและเผยแพร่อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ ตลอดจนสื่อช่องทางต่างๆ เกิดคำถามคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่า คลิปที่เราเห็นถูกสร้างจาก AI Deepfake หรือไม่

ประเด็นนี้ อาจเป็นเรื่องที่ตอบยาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า สิ่งที่จะทำให้เรารู้ทัน AI Deepfake ได้ คือ “วิจารณญาณ” ของเราเอง ที่อย่าเชื่อแค่ภาพที่เราได้เห็น เสียงที่เราได้ยิน แล้วกดไลค์ กดแชร์ต่อ หรือแสดงความคิดเห็นเลย ต้องมององค์ประกอบ หรือปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนบริบทที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสที่คนคนนี้จะพูดแบบนี้ จริงหรือไม่ หรืออย่าเชื่อแค่สิ่งที่สื่อสำนักต่างๆ นำเสนอ ทั้งต้องยอมรับว่า สิ่งที่สื่อนำเสนอบางทีอาจไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดก็ได้

แน่นอนว่า เหรียญยังมีสองด้าน  AI Deepfake ก็เช่นเดียวกัน ใช่ว่าจะมีแค่ด้านไม่ดี สร้างผลกระทบ และความเสี่ยงต่างๆ อย่างที่เกริ่นมาเท่านั้น

อีกมุมหนึ่ง AI Deepfake ก็สามารถนำมาสร้างเนื้อหา ภาพ และเสียง ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้หลากหลายแง่มุมเลยทีเดียว

วันที่ AI Deepfake มาพร้อมชีวิตดิจิทัล ที่เราทุกคนต่างมีโอกาสพบเจอได้ นอกจากการมีสติ มีวิจารณญานในการเปิดรับสื่อ ที่ไม่เชื่อแค่สิ่งที่ตาเห็น หูฟังแล้ว

สิ่งสำคัญที่คนไทยทุกคนจะต้องมี คือ ต้องมีทักษะของการรู้เท่าทัน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของดิจิทัล หรือ Digital Literacy เท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี AI หรือ AI Literacy ด้วย