‘เอาท์ซิสเต็มส์’ แนะเคล็ดลับ ฝ่าวิกฤติการณ์ ‘Tech Talent’ ขาดแคลน

‘เอาท์ซิสเต็มส์’ แนะเคล็ดลับ  ฝ่าวิกฤติการณ์ ‘Tech Talent’ ขาดแคลน

เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความท้าทายทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ จึงเกิดตามมา และหนึ่งในปัญหาที่หลายธุรกิจต่างกำลังเผชิญก็คือ การขาดแคลนแรงงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือ “Tech Talent” ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในหกดาวรุ่งทางเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ “Asean-6” ที่ประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

เติมศักดิ์ วีรขจรพงษ์ รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาท์ซิสเต็มส์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโมเดิร์นแอปพลิเคชันชั้นนำ เผยว่า ขณะที่ความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สูงมาก จำนวนบุคคลากรในสายงานกลับมีน้อยจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ บริษัทต่างๆ จึงต้องดิ้นรนอย่างหนักในการเฟ้นหาและดึงรั้งบุคคลากรที่มากความสามารถเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรต่อไป

‘เอาท์ซิสเต็มส์’ แนะเคล็ดลับ  ฝ่าวิกฤติการณ์ ‘Tech Talent’ ขาดแคลน

 ‘การศึกษาไทย’ ไม่ตอบโจทย์

เกิดคำถามคือ แล้วองค์กรต่างๆ จะมีวิธีจัดการปัญหาการขาดแคลน Tech Talent ที่นับวันจะทวีความรุนแรงนี้ได้อย่างไร?

ก่อนอื่นมาดูว่าสาเหตุใดที่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลน Tech Talent? การขาดแคลนบุคคลากรไอทีที่มีทักษะสูงเป็นวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สืบเนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิดความต้องการบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้น

ตามรายงานของไอดีซี การขาดแคลนพนักงานประจำในตำแหน่งนักพัฒนาซอฟแวร์จะเพิ่มสูงถึง 20% ภายในปี 2568 โดยมีหลายปัจจัยที่นำไปสู่การขาดแคลนบุคลากรที่มากความสามารถ 

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก สาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลน Tech Talent ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทยนั้น เกิดจากปัจจัยคือ การมีทักษะไม่ตรงสายงาน การขาดการส่งเสริมระบบการศึกษาด้านเทคนิคอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมที่ไร้ประสิทธิภาพ

ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการ แข่งขันทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพราะขณะนี้หลักสูตรระดับอุดมศึกษานั้นไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมหรือความต้องการของประเทศอีกต่อไปแล้ว

กระเป๋าไม่หนัก ความสัมพันธ์ต้องดี

ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ต้องยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นหรือยื่นเสนอข้อเสนอจูงใจอื่นๆ เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ ซึ่งการทำเช่นนี้นำไปสู่ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงแนวคิดริเริ่มที่สำคัญต้องชะงักลง เกิดความล่าช้าหรือแม้กระทั่งถูกยกเลิก

เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรควรจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้? ประการแรก การรักษาและดึงดูดใจพนักงานเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลน Tech Talent

ประเด็นนี้ ดูเหมือนว่าใครๆ ก็คงทราบดี แต่หากองค์กรไม่ได้กระเป๋าหนัก ไม่สามารถแข่งกันขึ้นเงินเดือน หรือไม่ได้มีการจัดตั้งโครงการนวัตกรรมที่น่าตื่นใจแบบยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างกูเกิล หรือ อะเมซอนได้ การเอาชนะใจเพื่อรักษาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรและบุคลากรดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ปีนี้ปัญหายิ่งหนักกว่าเดิม

จากรายงานผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2566 ของโรเบิร์ต วอลเตอร์ส ประเทศไทย พบว่า Tech Talent ยังคงเป็นที่ต้องการสูงและยังพอรับข้อเสนอที่แข่งขันได้ ในขณะที่นายจ้างจำต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการ เพื่อการจ้างงานบุคคลากรในกลุ่มนี้และเพื่อรักษาพนักงานเก่าไว้

บริษัทกว่า 84% ยังคงมีความกังวลกับปัญหา การขาดแคลน Tech Talent ในสายงานของตน โดยมากกว่า 77% ชี้ว่ามีการขาดแคลนในตำแหน่งระดับ อาวุโส/หัวหน้าทีม และระดับผู้จัดการ

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 9 ใน 10 บริษัทมีการเพิ่มทักษะของพนักงานเดิมอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำภายในองค์กรและมากกว่า 79% มีความคิดริเริ่มที่จะรักษาพนักงานไว้ด้วยการเพิ่มองค์ความรู้และส่งเสริมการพัฒนาที่ดีขึ้น มีนโยบายการทำงานแบบผสมผสาน รวมถึงเพิ่มผลตอบแทน/ค่าจ้าง สวัสดิการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่พนักงาน

ตลอดจนมีการประเมินผลงาน และเลื่อนตำแหน่งนอกรอบซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเกือบ 40% ของ Tech Talent มักคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยกว่า 53% มองเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพการงาน 

คาดว่าการแข่งขันในกลุ่ม Tech Talent จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2566 เนื่องจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจต้องการสร้างธุรกิจ ของตนเอง และมักจะลาออกก่อนที่จะเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง

3 แรงจูงใจทำเปลี่ยนงาน

เอาท์ซิสเต็มส์เผยว่า แรงแรงจูงใจในการเปลี่ยนงาน 3 ลำดับแรกของ Tech Talent ได้แก่ 1. มองหาตำแหน่งงานใหม่ที่น่าสนใจกว่า หรือมีตำแหน่งงานที่ซีเนียร์ขึ้น (55%) 2. ขาดโอกาสสร้างความก้าวหน้าในสายงาน (31%) และ 3. เงินเดือนและสวัสดิการไม่น่าพึงพอใจ (26%)

ข้อมูลระบุว่า Tech Talent ต้องการงานที่มั่นคงและให้ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน 68% ของพวกเขามองว่า เป็นสิ่งที่จะใช้ตัดสินว่านี่คือเส้นทางอาชีพในอุดมคติหรือไม่ โดยมีเพียง 18% เท่านั้นที่เต็มใจกลับไปทำงานประจำที่ออฟฟิศ ขณะที่ 64% ชอบแบบไฮบริด

การศึกษาของ เอาท์ซิสเต็มส์ พบด้วยว่า นักพัฒนาโปรแกรมน้อยกว่าครึ่งมีแผนที่จะทำงานอยู่ที่บริษัทเดิมที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบัน ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นคือเหตุผลอันดับ 1 ที่จะทำให้พวกเขาอยู่ต่อ ที่น่าสนใจนักพัฒนาโปรแกรมบนแพลตฟอร์ม low code มีแนวโน้มที่จะทำงานต่อที่บริษัทเดิมมากกว่า