เคาะเพิ่ม Smart City 6 จังหวัด ดัน ‘ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง’ Smart City อาเซียน!!

เคาะเพิ่ม Smart City 6 จังหวัด  ดัน ‘ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง’ Smart City อาเซียน!!

ดีอีเอส นั่งหัวโต๊ะ เคาะเพิ่ม 6 พื้นที่สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อม ชงเรื่อง 'ขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง' เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2566 โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ร่วมพิจารณาข้อเสนอ และเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด

 พื้นที่สมาร์ทซิตี้เพิ่ม 6 จังหวัด  

1.ลำปางเมืองอัจฉริยะ จังหวัดลำปาง

2. สมุทรปราการสมาร์ทซิตี้ จังหวัดสมุทรปราการ

3. เทพราชเมืองอัจริยะ จังหวัดฉะเชิงเทรา

4. นิคมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (เดิม มาบข่าเมืองอัจฉริยะ) จังหวัดระยอง

5. เมืองไตยองบวกค้างสมาร์ตซิตี้ จังหวัดเชียงใหม่

6. เทศบาลนครศรีธรรมราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 36 พื้นที่ ใน 25 จังหวัด เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 1,800,000 คน

การประชุมครั้งนี้ มี ศ.(พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุมด้วย

เคาะเพิ่ม Smart City 6 จังหวัด  ดัน ‘ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง’ Smart City อาเซียน!!

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการผลักดันเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะสู่เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน หรือ ASEAN Smart Cities Network (ASCN) จากเดิมที่ประเทศไทยมีเมืองที่เป็นสมาชิก ASCN แล้ว 3 เมืองคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต

โดยในการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ไทยเสนอชื่อเมืองเพื่อเป็นสมาชิกเพิ่มเติม 3 เมือง ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง ทำให้ปัจจุบัน ASCN มีสมาชิกรวม 29 เมือง ซึ่งเครือข่ายนี้จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมือง และขยายโอกาสความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ เมืองที่จะได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ต้องทำระบบบริการประชาชนให้ตอบโจทย์ใน 7 Smarts อาทิ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ การดำรงชีวิตอัจฉริยะ เป็นต้น และมีแผนการจัดทำ City Data Platform เพื่อรวบรวมข้อมูลของเมืองที่มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ ‘ประชาชน’

ดังนั้นผู้พัฒนาเมืองจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อน เนื่องจากภาคเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเมื่อเมืองนั้น ๆ ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ