‘ไซเบอร์จีนิคส์’ ปักธงลุยตลาด 'ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้'

‘ไซเบอร์จีนิคส์’ ปักธงลุยตลาด 'ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้'

ไซเบอร์จีนิคส์ รุกตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ชูบริการครบวงจร โซลูชันชั้นนำจากพันธมิตรระดับโลก บริการให้คำปรึกษา บริหารจัดการความปลอดภัยและเฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ครอบคลุมทุกความต้องการของธุรกิจ

นายสุธี อัศวสุนทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด ที่ปรึกษาและให้บริการไซเบอร์ซิเคียวริตี้โซลูชัน หนึ่งในบริษัท Tech spin-off ภายใต้กลุ่มจีเอเบิล เผยว่า ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์กรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน

ปัจจุบัน แนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

โดย ตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท ทุกธุรกิจที่ต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดตามความเหมาะสมด้านงบประมาณ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบ

สำหรับ ไซเบอร์จีนิคส์ ทิศทางธุรกิจปีนี้พร้อมให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยมั่นใจว่ามีจุดแข็งด้านเทคโนโลยี การปรับแต่งโซลูชันที่ตรงกับความต้องการ ทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม

กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ธุรกิจการเงิน การธนาคาร ประกันภัย พลังงาน การผลิต ค้าปลีก รวมถึงเฮลธ์แคร์ โดยเฟสแรกมุ่งโฟกัสตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ก่อน จากนั้นค่อยขยายต่อไปยังภาครัฐ

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ปีนี้จากที่ภาพรวมตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้โลกมีแนวโน้มเติบโตราว 13.8% ในไทยประมาณ 10% ไซเบอร์จีนิคส์จะสามารถเติบโตได้เทียบเท่าหรือมากกว่าการเติบโตของภาพรวมตลาด

“ไซเบอร์จีนิคส์ ต้องการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจผ่านการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันได้อย่างปลอดภัย โดยเรามีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของลูกค้า ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกแบบครบวงจร”

นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน เราอยู่ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยสร้างความได้เปรียบเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ

เทคโนโลยีจึงเปรียบเสมือนตัว Enabler ที่ช่วยสร้างคุณค่าใหม่ เช่นการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ เพื่อช่วยในการตัดสินใจวางแผนทางธุรกิจ

หรือแม้กระทั่งใช้ป้องกันการโจมตีต่างๆ ทางด้านไซเบอร์ รวมถึงช่วยสร้าง New S-Curve เพื่อต่อยอดธุรกิจของ G-Able ในบทบาทของ Tech Enabler ที่สร้างความเป็นไปได้ให้กับองค์กรธุรกิจ ได้อย่างสะดวก ง่ายดายและปลอดภัยสำหรับทุกคนในทุกองค์กร

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การเติบโตและขยายตัวของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็อาจส่งผลให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน โดย Cybersecurity Ventures ซึ่งเป็นองค์กรผู้นำด้านการวิจัยและเก็บรวบรวมสถิติด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2031 การโจมตีทางไซเบอร์ จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 วินาที นับเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วจนน่าตกใจ