ส่งเสริม ‘ความหลากหลาย’ สู่การเติบโตที่ ‘ยั่งยืน’

ส่งเสริม ‘ความหลากหลาย’ สู่การเติบโตที่ ‘ยั่งยืน’

สังคมโลกที่เปิดกว้างในปัจจุบันทำให้ความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่าง (Diversity & Inclusion) กลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกสนใจ และพูดถึงอย่างแพร่หลาย

สังคมโลกที่เปิดกว้างในปัจจุบันทำให้ความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่าง (Diversity & Inclusion) กลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกสนใจ และพูดถึงอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา อายุ หรือความหลากหลายทางเพศ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ในประเด็นต่างๆ อาทิ

แคมเปญ #BlackLivesMatter ที่เรียกร้องสิทธิ และความเท่าเทียมกลุ่มคนผิวสี หรือกิจกรรม Pride Month ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน เป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มคน ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยองค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality)เป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญการส่งเสริมความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่างในที่ทำงานมากขึ้น เพราะเชื่อว่า นอกจากการปฏิบัติที่เสมอภาคจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีและสร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากมาย อาทิ ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดใหม่ๆ ในองค์กร รวมถึงประโยชน์ด้านภาพลักษณ์และการตลาดอีกด้วย

โดยจากรายงาน Why Diversity Mattersซึ่งจัดทำโดย McKinsey ในปี 2558 พบว่า กลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศสูงมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 15% และกลุ่มบริษัทที่เปิดรับความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35%

ฝั่งเทคคอมพานี เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องความหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี 2559-2565 ที่มีการจ้างงานผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารมีอัตราสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ จากผลสำรวจ World Economic Forum: Global Gender Gap Report2022 มีการตั้งข้อสังเกตว่า เทคคอมพานีที่มีความหลากหลายในองค์กร จะมีความสามารถเข้าใจถึงความต้องการลูกค้าได้มากกว่า เนื่องจากบุคลากรในองค์กรสามารถให้มุมมอง และความคิดเห็นที่หลากหลาย ทำให้องค์กรเข้าถึงทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น

สำหรับ แกร็บ ในฐานะผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งมั่นสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้คนในภูมิภาค โดยเปิดกว้างให้ทุกคนใช้แพลตฟอร์มของเรา เพื่อเข้าถึงโอกาสสร้างรายได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา หรือแม้แต่ข้อจำกัดทางร่างกาย

ปัจจุบัน แกร็บมีพาร์ทเนอร์คนขับ และพาร์ทเนอร์ร้านอาหารที่ลงทะเบียนบนแพลตฟอร์มทั่วทั้งภูมิภาคกว่า 10 ล้านบัญชี รวมถึงผู้พิการมากกว่า 2,100 ราย เราตั้งเป้าให้จำนวนพาร์เนอร์ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2568

ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร แกร็บให้ความสำคัญการส่งเสริมความเสมอภาค ความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง (Equity, Diversity and Inclusion) โดยพยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อให้พนักงานที่มีความหลากหลาย ด้านเพศ เชื้อชาติ อายุ และความแตกต่างในด้านอื่นๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร

ปัจจุบัน แกร็บมีพนักงานทั่วทั้งภูมิภาครวมกว่า 57 เชื้อชาติ มีพนักงานผู้หญิงมากกว่า 40% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมที่อยู่ราว 30% จากรายงาน Boosting Women in Technology in Southeast Asia ซึ่งทำโดย BCG พร้อมวางเป้าหมายที่ชัดเจนเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารหญิง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 34% ให้เป็น 40% ภายในปี 2573

สำหรับ แกร็บ ประเทศไทย แนวคิดด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างได้ถูกสะท้อนผ่านบริการต่างๆ ของเราด้วย อาทิ GrabCar for Ladies บริการเรียกรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้บริการโดยพาร์ทเนอร์คนขับผู้หญิงสำหรับผู้ใช้บริการผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงสร้างความอุ่นใจในการเดินทางให้กับทั้งสองฝ่าย แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับผู้หญิงด้วย

นอกจากนี้ เรายังมี GrabAssist ซึ่งเป็นบริการเรียกรถสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกายให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ส่วนตัวผมเชื่อว่า การเปิดรับความหลากหลาย นอกจากจะช่วยให้มองเห็นโลกในมุมใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น นำไปสู่แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ และเห็นคุณค่าทุกคนในสังคม ซึ่งสังคมที่ทุกคนตระหนักเห็นถึงคุณค่าในตัวเองและคนรอบข้าง จะก่อให้เกิดการช่วยกันขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป