คนหรือดิจิทัล

คนหรือดิจิทัล

การทำ Digital Transformation ยังคงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจเสมอมา

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราคุ้นเคยกับศัพท์คำนี้มานานหลายปี นับตั้งแต่โลกออนไลน์เริ่มขยายตัวโดยเฉพาะการเติบโตของโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

แต่หัวใจสำคัญของการทำ Digital Transformation ในองค์กรนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ นิตยสาร Harvard Business Review ก็ได้หยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งหนึ่ง 

โดยแยกคำว่า Digital และ Transformation ออกจากกันและชวนให้คิดว่า 2 คำนี้อะไรจะสำคัญและจำเป็นต่อการทำ Digital Transformation มากกว่ากัน

ผู้อ่านหลายท่านอาจเห็นว่าดิจิทัลสำคัญกว่า เพราะการเติบโตขององค์กรธุรกิจยุคนี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำ ไม่ว่าจะเป็นด้าน IoT, Big Data, AI ฯลฯ ซึ่งก็ไม่ผิดเลย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าดิจิทัลนั้นอาจจะสำคัญต่อองค์กรมาก แต่มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีความคิดหรือมีทัศนคติแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามกับคำว่า Transformation ซึ่งเนื้อแท้แล้วก็คือการปรับเปลี่ยน ว่าจะเปลี่ยนองค์กรหรือจะเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนอะไรก็ล้วนต้องใช้ “คน”​ เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งแต่ละปัจเจกบุคคลก็ล้วนมีทัศนคติที่ไม่เหมือนกันเลย

นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำ Digital Transformation ทั่วโลกมีคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ล้มเหลวหลายเท่า เพราะการปรับตัวนั้นต้องอาศัยคนเป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ หากคนในองค์กรไม่สามารถปรับตัวได้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือบริษัทที่ก่อตั้งโดยนักประดิษฐ์อย่าง Polaroid ที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจอยู่ในทุกวันนี้ในฐานะของสินค้าย้อนยุค แต่ในความเป็นจริงแล้ว Polaroid ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนปี 1940 โดย Edwin H. Land ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการบันทึกภาพแบบใหม่ขึ้นมา

ด้วยความล้ำสมัย และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของตัวเองในยุคนั้นทำให้ Polaroid มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสูงมาก จนสะสมความมั่งคั่งเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของโลกในสมัยนั้น ซึ่งนั่นทำให้คนของบริษัทเสียดายสิ่งที่มีอยู่ และไม่ยอมปรับตัวรับกับการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะกล้องดิจิทัล

เพราะเมื่อยึดติดกับความสำเร็จในอดีต แม้จะมีเทคโนโลยีใหม่มาก็ยังคงมองว่าไม่น่าจะกระทบกับตัวเอง เพราะคนของ Polaroid เชื่อว่ากล้องดิจิทัลแม้ไม่ใช่ฟิล์ม แต่เมื่อถ่ายรูปได้แล้วก็ต้องเสียเวลาไปพิมพ์รูปออกมาอยู่ดี เทคโนโลยีของ Polaroid ที่ได้รูปเลยในทันทีจึงน่าจะได้เปรียบมากกว่า

แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่ใครจะนึกถึง และคนที่ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัลก็แทบจะไม่มีความจำเป็นของการพิมพ์รูปออกมาเป็นแผ่น ๆ เหมือนในอดีตเพราะทุกวันนี้เราดูรูปผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นหลัก

บริษัท Polaroid จึงเข้าสู่ศาลล้มละลายเมื่อปี 2001 แม้ว่าทุกวันนี้จะยังคงมีสินค้าวางขายอยู่แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งตรงกันข้ามกับอดีตที่ยิ่งใหญ่เมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งนอกเหนือจาก Polaroid ก็ยังมีอีกหนึ่งบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบไม่แตกต่างกันเลย

นั่นคือ Kodak อดีตผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1892 และเติบโตสุดขีดในช่วงปี 1986-1990 ซึ่งในยุคนั้นสื่อหลายสำนักเช่น Fortune เลือกให้ Kodak เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดติดอันดับ 5 ของโลก

หลายคนอาจคิดว่า Kodak ไม่ยอมปรับตัวเมื่อกล้องดิจิทัลถือกำเนิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริงเลย เนื่องจากในยุคนั้น Kodak เป็นผู้คิดค้นเรื่อง Digital Image และเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นกล้องดิจิทัลจนมีสิทธิบัตรในเทคโนโลยีดังกล่าวมากมาย และมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบันทึกแบบดิจิทัลอยู่ในบริษัทหลายคน

แล้วทำไม Kodak ถึงล่มสลาย คำตอบก็คือเรื่องของ “คน”​ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเพราะยังคงเชื่อมั่นในผลกำไรที่ได้จากธุรกิจฟิล์มและระบบการล้างอัดภาพ และยังคงเชื่อว่าลูกค้ามีความต้องการพิมพ์ภาพออกมาอยู่ดี ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

คนจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดสำหรับการทำ Digital Transformation เพราะแม้จะมีคนเก่งที่สุดมารวมกันอยู่เหมือน Kodak แต่หากทุกคนยึดมั่นในธุรกิจดั้งเดิมไม่มีใครคิดจะปรับตัวสู่แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น 

ธุรกิจที่อยู่มานานนับร้อยปีก็มีโอกาสล่มสลายได้ง่ายๆ ..ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่จะมาแบ่งปันต่อให้สัปดาห์หน้าครับ