คนแต่ละวัยในมิติที่แตกต่าง

คนแต่ละวัยในมิติที่แตกต่าง

การที่คนทุกรุ่นจะรวมพลังและก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันได้นั้นต้องมีความเข้าใจคนในแต่ละรุ่นอย่างถ่องแท้

ย้อนไปในอดีตสมัยที่การทำธุรกิจไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้ การเริ่มต้นประกอบกิจการอะไรสักอย่าง จึงเน้นความตรงไปตรงมา ยิ่งเป็นการค้าขายยิ่งชัดเจนว่า เราอยากขายอะไร ขายให้กับใคร จะเปิดร้านที่ไหน หรือจะให้ใครเป็นตัวแทนจำหน่าย

ตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ ที่ไม่ได้มีแค่ช่องทางจำหน่ายแบบเดิมที่เราคุ้นเคย แต่ยังมีช่องทางออนไลน์ แถมด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มทั้ง ติ๊กตอก ยูทูบ ฯลฯ และยังต้องอาศัยบริการส่งถึงที่ผ่านระบบต่างๆ ไม่นับรวมการขายแบบ Omnichannel ที่ต้องใช้ทุกช่องทางประสานการทำงานเข้าด้วยกันทั้งหมด

งานแต่ละด้านจึงมีคนที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป เช่น ช่องทางการจำหน่ายดั้งเดิมก็อาจเป็นกลุ่มคนรุ่นเก่าที่ประสานงานกันมาอย่างยาวนาน แต่ถ้าเป็นช่องทางออนไลน์ก็ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่รู้จักใช้สื่อดิจิทัลได้เก่งที่สุด

แต่ในความเป็นจริงในโลกการทำงานยุคปัจจุบันไม่ได้มีแค่คนเพียง 2 รุ่นทำงานร่วมกันเท่านั้น หากเราแยกอายุเป็นช่วงประมาณ 10 ปี จะพบว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเริ่มงานในวัย 20-30 ปีนับเป็น 1 รุ่น และวัย 30-40 ปีนับเป็นอีก 1 รุ่น จนถึงวันเกษียณอายุคือไม่เกิน 60 ปีก็นับว่ามีคนถึง 4 รุ่นเลยทีเดียว

ยิ่งถ้าเป็นองค์กรธุรกิจเก่าแก่ขนาดใหญ่หลายๆองค์กร ที่ผู้ก่อตั้งยังคงมีบทบาทอยู่ในปัจจุบันก็เท่ากับว่ามีคนถึง 6-7 รุ่นทำงานร่วมกันอยู่ในองค์กรเลยทีเดียว ซึ่งการที่จะให้คนทุกรุ่นทำงานร่วมกัน และมีเป้าหมายร่วมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะคนและละรุ่นก็ล้วนมีมุมมองและความคิดที่แตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับ

ผู้อาวุโสในองค์กรที่เติบโตมาอย่างยากลำบากเพราะผ่านช่วงสงครามโลกและความแร้นแค้นต่าง ๆ มาก็ย่อมมองโลกไม่เหมือนกัน คนเจนเอ็กซ์ ​ที่โตมาท่ามกลางความเงียบสงบและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

เช่นเดียวกับ คนเจนเอ็กซ์ ที่มักมีความภักดีต่อองค์กรด้วยการทำงานที่เดียวมาอย่างยาวนานจนผูกพัน ก็จะมองโลกไม่เห็นกับคนรุ่นมิลเลนเนียลที่เพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน จึงไม่ต้องพูดถึงความแตกต่างระหว่างคนรุ่นบูมเมอร์กับคนรุ่นมิลเลนเนียลที่มักจะเห็นตรงกันข้ามกันเสมอเพราะช่องว่างระหว่างวัยที่ต่างกันมากเหลือเกิน

เราไม่อาจบอกได้ว่าประสบการณ์ของใครสำคัญกว่ากันเพราะการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจในแต่ละช่วง ก็ล้วนมีความสำคัญและจำเป็นต้องพัฒนาการขององค์กรในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นจากยุคที่ปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคไอที หรือจากยุคไอที่สู่ดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งก็ล้วนใช้เวลาสั้นลงเรื่อยๆ

คนแต่ละรุ่นจึงล้วนพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างมโหฬาร ส่งผลให้มีมุมมองความคิดและทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของกันและกัน เช่นคนรุ่นเก่าก็จะไม่เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องไปทำงานเหมือนในอดีต

เพราะโลกดิจิทัลก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่มีอิสระมากกว่าเดิม โดยเฉพาะงานด้านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์​ อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นงานที่ไม่เคยมีในอดีต ยิ่งเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว งานเหล่านี้ล้วนเป็นงานในฝันของคนยุคนั้น

ด้วยความอิสระ ไม่ต้องยึดกับกรอบการทำงาน 8:00-17:00 เหมือนธุรกิจทั่วไป จะทำงานตอนไหนก็ได้ และการทำงานแบบ WFH ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางมาที่ทำงาน ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ดูเหมือนจะมีอิสระมากเกินกว่าที่คนรุ่นเก่าจะจินตนาการได้

แต่สิ่งเหล่านี้ใช่ทิศทางที่ควรจะเป็นขององค์กรจริงหรือ และคนแต่ละรุ่นจะเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างไร แต่ละองค์กรอาจต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะการที่คนทุกรุ่นจะรวมพลังและก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันได้นั้นต้องมีความเข้าใจคนในแต่ละรุ่นได้อย่างถ่องแท้ ...ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ