ดิจิทัลและความเป็นส่วนตัว

ดิจิทัลและความเป็นส่วนตัว

วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาอาศัยระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือใช้ชีวิตส่วนตัวเราล้วนอาศัยบริการดิจิทัลช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงข้อมูลองค์กรอาจหลุดรั่วออกไปได้มากขึ้นเช่นกัน

ในยุคที่ข้อมูลเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุด รวมถึงการถือกำเนิดของเงินสกุลดิจิทัล เราจึงคุ้นเคยกับคำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ยังพัฒนาตามมาไม่ทันคือแนวคิดแบบดิจิทัล ที่ต้องตระหนักในเรื่องความปลอดภัยและใส่ใจต่อข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่านี้

เริ่มจากประการแรกคือต้องเข้าใจว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” แม้ว่าบริการดิจิทัลที่เปิดใช้อยู่ในปัจจุบันหลายแพลตฟอร์มจะไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ แต่เราต้องเข้าใจว่าบริการเหล่านี้ล้วนได้ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของผู้ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ไม่ได้ใจดีเปิดให้ใช้ฟรีอย่างที่หลายๆ คนคิด

ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้ รวมไปถึงข้อมูลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานว่าเข้ามาดูข้อมูลหรือค้นหาสินค้าชนิดใดเป็นพิเศษ ซึ่งระบบเอไอก็จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าตัวตนของเรานั้นเป็นอย่างไร เหมาะกับสินค้าและบริการแบบไหน เราจึงได้เห็นโฆษณาสินค้าที่เรากำลังมีความสนใจอยู่บ่อยๆ

ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานเท่านั้น เพราะในปัจจุบันแพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มพยากรณ์ความต้องการของผู้ใช้ได้แม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ได้ละเอียดมากขึ้นเช่นกัน

ประเด็นที่สองที่ต้องขบคิดให้ดีก่อนจะสมัครใจใช้แพลตฟอร์มใด ๆ ก็คือความน่าเชื่อถือของแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะทุกวันนี้มีบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เปิดตัวมากมายแทบจะทุกนาทีซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกแฟลตฟอร์มจะถูกตรอจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น

ในโลกแห่งความเป็นจริงเราจึงเห็นแอพพลิเคชั่นบางตัว ขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากเกินไป รวมไปถึงบางแอพลิเคชั่นที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเอาข้อมูลจากผู้ใช้ และที่หนักที่สุดคือแอพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ผู้ใช้โหลดโดยตรงเพื่อนำเงินออกจากธนาคารตามที่เป็นข่าวครึกโครมในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา

ก่อนจะใช้บริการจากแพลตฟอร์มใด ๆ เราจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลของเรามากเพียงใด

การดูชื่อเจ้าของแพลตฟอร์มจึงอาจช่วยได้พอสมควรเพราะทำให้ได้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด รวมถึงป้องการการแอบอ้างจากแอพพลิเคชั่นอื่นที่จงใจทำให้มีชื่อคล้าย ๆ กับแอพพลิเคชั่นจากบริษัทใหญ่ที่คนนิยมใช้

ประเด็นสุดท้ายคือต้องทำความเข้าใจกับความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่จะปล่อยให้คนอื่นเข้าถึงอย่างง่าย ๆ ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เรายังไม่ค่อยตระหนักในความสำคัญของมันอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อเราไม่สนใจ ผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มักจะคิดแบบเดียวกัน ผลสุดท้ายก็คือการหลุดรั่วของข้อมูลจนตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เช่นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ที่นำเอาข้อมูลเหล่านี้มาหลอกลวงผู้อื่นจนก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย

แต่หากเรามองข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นสินทรัพย์และปฏิบัติต่อมันแบบสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง เราก็ย่อมมีความระมัดระวังและจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างรอบคอบ เช่นไม่นำข้อมูลทั้งหมดไปผูกไว้กับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง

แม้กระทั่งโซเชียลมีเดียก็ไม่ควรเอาข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งหมดไว้ในที่เดียว เพราะในความเป็นจริงเราอาจใช้แพลตฟอร์มหนึ่งสำหรับใช้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนสนิท กับแพลตฟอร์มหนึ่งที่ใช้กับคนทั่วไป และอีกแพลตฟอร์มหนึ่งใช้เพื่อการทำงาน ข้อมูลที่จัดเก็บในแต่ละแพลตฟอร์มจึงต้องแยกให้เหมาะสม

เพราะเราไม่อาจย้อนกลับไปในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะเกิดขึ้น และวิถีชีวิตปัจจุบันเราก็จำเป็นต้องใช้บริการเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องตระหนักในความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเลิกเก็บข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดไว้ในแพลตฟอร์มเดียว อย่ามักง่าย และอย่าเอาความสะดวกของตัวเองเป็นหลัก เพียงแค่นี้ เราก็น่าจะใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น