ปรับแต่งความเข้าใจ การตีความ Digital Transformationให้ถูกต้อง

ปรับแต่งความเข้าใจ การตีความ Digital Transformationให้ถูกต้อง

คำว่า “ดิจิทัล” แตกต่างกับคำว่า “ไอที” เพราะดิจิทัลคือ การเชื่อมโยงกันระหว่างข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคำว่า Digital Transformation มีความหมายมากกว่าการทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้คำว่า Transformation ดูจะมีความสำคัญมากกว่าคำว่า Digital เสียด้วยซ้ำ

เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation ที่จัดโดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งทีมงานแจ้งว่าได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูงให้ทำแผนงานด้าน Digital Transformation ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริหารองค์กรเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ แต่แปลกใจที่ผู้บริหารยังเข้าใจผิดคิดว่า เรื่องนี้ซึ่งควรจะเป็นงานด้านกลยุทธ์กลับมอบหมายให้ฝ่ายไอทีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

คำว่า “ดิจิทัล” แตกต่างกับคำว่า “ไอที” เพราะดิจิทัลคือ การเชื่อมโยงกันระหว่างข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคำว่า Digital Transformation มีความหมายมากกว่าการทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้คำว่า Transformation ดูจะมีความสำคัญมากกว่าคำว่า Digital เสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงขององค์กร โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ

ผู้บริหารหลายคนอาจยังสับสนระหว่างคำว่า “Digitization” “Digitalization” และ “Digital Transformation” ผมขออธิบาย ดังนี้

Digitization คือ การเปลี่ยนแปลงระบบเดิมที่เป็นอนาล็อกให้เป็นดิจิทัล เช่น การทำระบบ ERP หรือ CRM ขององค์กร หรือการทำเอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

Digitalization คือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น การจัดประชุมออนไลน์ การทำงานหรือการให้บริการลูกค้าแบบรีโมท

Digital Transformation คือ การเปลี่ยนแปลงขององค์กรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่นการทำงานในองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประสบการณ์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือการปรับรูปแบบบทบาทหน้าที่หรือธุรกิจขององค์กร โดยการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากเดิม

Digital Transformation จึงเป็นเรื่องของกลยุทธ์ที่ผู้บริหารระดับสูงแทบทุกคนในหน่วยงานจะต้องเข้ามาร่วมผลักดันด้วยกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไม่สามารถทำได้เพียงด้วยพลังของคนในฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบดิจิทัลต่างๆ

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลคือ การปฎิรูปองค์กรที่อาจมีผลกระทบกับบุคลากรทุกฝ่ายของหน่วยงาน ซึ่งต้องได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน

ในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้หลายหน่วยงานเห็นความสำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจผิดๆ บางอย่างที่เราควรจะทบทวน ดังนี้

1.คำว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีค่าเท่ากับคำว่าการเปลี่ยนแปลง: มักจะมีความเข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงคือการใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมีมากกว่าเพียงการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมองค์กร การดำเนินการ และยุทธศาสตร์ขององค์กร

2. เป็นเรื่องของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ: การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะฝ่ายไอทีเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงทุกฝ่ายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การขาย หรือฝ่ายบุคคล

3.เป็นโครงการเฉพาะกิจ: การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือเป็นโปรเจ็คเดียวแล้วก็สิ้นสุดไป แต่เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินต่อเนื่องและเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

4.เทคโนโลยีล่าสุดคือสิ่งที่ดีที่สุด: การนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แต่ละองค์กรจะมีบริบทที่แตกต่าง ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดคือการหาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการและที่สุดขององค์กร และควรเริ่มต้นที่ความต้องการขององค์กรมากกว่าเริ่มต้นจากเทคโนโลยี

5.จะเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว: ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจไม่เกิดขึ้นทันที การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องการเวลาในการปรับปรุงวัฒนธรรมและการดำเนินการในองค์กร

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ หรือเพียงแค่การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องการความพยายามในการเปลี่ยนแปลงองค์กรวัฒนธรรม การดำเนินการ และยุทธศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังองค์กร เพื่อให้สามารถนำเสนอผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมา

ดังนั้น เราควรที่จะปรับแต่งความเข้าใจให้ถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้องค์กรของเราสามารถเติบโตและแข็งแกร่งในยุคดิจิทัลนี้ และที่สำคัญยิ่งเป็นเรื่องต้องห้ามคือ ไม่ควรมอบหมายงานนี้ให้ฝ่ายเทศโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้รับผิดชอบหลักและทำงานตามลำพัง แต่ควรมองเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์องค์กรที่ทุกฝ่ายควรเข้ามาร่วมมือกัน