‘บล็อกเชน-เงินดิจิทัล’ เมื่อนักการเมือง ใช้ศัพท์เทคฯ สร้างนโยบายหาเสียง

‘บล็อกเชน-เงินดิจิทัล’ เมื่อนักการเมือง ใช้ศัพท์เทคฯ สร้างนโยบายหาเสียง

การเลือกตั้งรอบนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคต่างนำเทคโนโลยี มาเป็นนโยบายหาเสียง ทั้งเรื่องของ “เทคโนโลยีเอไอปราบคอรัปชัน” “เทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มรายได้เกษตรกร” และล่าสุด “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”

การนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาใช้ถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้าสามารถทำได้จริง แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ดูแล้วน่าจะเป็นการนำมาเพื่อเติมสีสันให้นโยบายดูทันสมัยขึ้น สื่อต่างๆ และประชาชนก็ให้ความสำคัญตามกระแสของนโยบาย โดยไม่ได้ถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ของนำเทคโนโลยีมาใช้ในนโยบาย

ทั้งๆ ที่บางเรื่องก็ทราบถึงความเป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่คนวงการวิชาการก็อาจจะนิ่งเฉย และไม่อยากเข้าไปยุ่งกับเรื่องของการเมือง

การนำเทคโนโลยีไอทีมาหาเสียง ถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนในสังคมสับสน นักวิชาการควรออกให้คำอธิบาย เพราะความรู้ ถูกหรือผิดไม่ใช่เรื่องของการเมือง การปล่อยให้ประชาชนเข้าใจอะไรผิดๆ เป็นเรื่องที่น่ากลัวยิ่ง และสิ่งสำคัญสื่อทางด้านไอทีควรจะเป็นคนช่วยสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองนำเทคโนโลยีมาสร้างกระแสอย่างผิดๆ

สัปดาห์ที่แล้วเรื่องที่มีคนพูดมากที่สุด คือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สังคมก็สับสนพอสมควรว่าอะไรคือ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” (Digital Wallet) แล้วเงินที่จะแจกเป็นเงินดิจิทัลแบบใด เป็นเงินคริปโทฯ โทเค็น หรือเงินบาท และข้อสำคัญคือ ทำไมต้องมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่พรรคการเมืองบอกว่าเป็นเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด สามารถควบคุมการชำระเงินในรัศมี 4 กิโลเมตรจากทะเบียนของตัวเองได้

จริงๆ แล้วกระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ บ้านเราก็มี แอปเป๋าตัง หรือ ทรูวอลเล็ต ที่ผู้คนใช้กันเป็นประจำ ซึ่งก็ไม่ใช่เทคโนโลยีบล็อกเชนอะไร เป็นการใช้ดาต้าเบสธรรมดา ซึ่งสามารถเขียนโปรแกรมกำหนดเงื่อนไขชำระเงินได้ ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลเจ้าใหญ่ๆ ทั่วโลกอย่าง PayPal, ApplePay หรือ Alipay ก็ไม่ได้ใช้บล็อกเชน เพราะการใช้จะทำให้การทำธุรกรรมล่าช้า มีค่าใช้จ่ายที่สูง และอาจไม่สามารถจะทำธุรกรรมพร้อมกันจำนวนมากๆ ได้ แม้อาจจะมีข้อดีด้านความปลอดภัย และสามารถกระจายการควบคุมได้

 

แต่กรณีของกระเป๋าเงินดิจิทัลที่กล่าวมานี้ ยังไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เพราะเทคโนโลยีทั่วไปก็ทำได้อยู่แล้ว และอาจทำได้ดีกว่าด้วย เนื่องจากระบบปกติสามารถออกแบบให้รองรับธุรกรรมจำนวนมากซึ่งมีความพร้อมใช้อยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่ต้องเสี่ยงกับการพัฒนาที่อาจไม่สำเร็จ

อีกเรื่องที่คนถกกันอย่างมากคือ จะเอาเงินอะไรใส่กระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งสุดท้ายเหมือนพรรคการเมืองแถลงออกมาว่าจะใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินดิจิทัลที่จะออกโดยธนาคารกลาง หนึ่งบาทดิจิทัลจะมีความเสถียรที่มีค่าเท่ากับเงินบาทปกติซึ่งผมเองก็เคยบทความเรื่องนี้ทั้ง CBDC และ กระเป๋าเงินดิจิทัลหลายครั้งแล้ว ฟังดูน่าสนใจดี และมีประเทศที่ทำแล้วคือ บาฮามาส ไนจีเรีย รวมถึงประเทศจีนที่ทดลองใช้ช่วงกีฬาโอลิมปิค

หลายประเทศทั่วโลกมีแผนการทำ CBDC เพื่อนำมาใช้งาน ซึ่งถ้าเราเข้าไปศึกษาที่เว็บไซต์ cbdctracker.org จะมีข้อมูลระบุการทำ CBDC ของประเทศต่างๆ ล่าสุด จะพบว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในขั้นศึกษาทำวิจัย หรือพัฒนาหลักแนวคิด (Proof of Concept) หรือทดลองใช้ (Pilot) โดยแทบจะไม่มีการใช้งานจริงเลย ยกเว้นแต่ บาฮามาส ประเทศเดียวที่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความจำเป็นที่เป็นประเทศเล็กๆ และมีหมู่เกาะจำนวนมากการขนเงินสดข้ามเกาะอาจมีความยากลำบาก

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ โครงการ CBDC ในหลายประเทศต้องยกเลิกไป เช่น ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ฟิลิปปินส์ และเฮติ หรือแม้แต่ที่ทำการทดลองใช้อย่างประเทศจีนก็ไม่ได้มีการแพร่หลายเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนธุรกรรมที่สามารถทำพร้อมกันได้

และอีกอย่างบางประเทศมีความเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน นอกจากนี้การพัฒนา CBDC ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา จึงแทบจะฟันธงได้เลยว่าที่จะบอกว่าแจกเงินดิจิทัลที่เป็น CBDC ทำไม่ทันใน 1-2 ปีนี้แน่นอน เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกแทบไม่มีใครทำสำเร็จในช่วงนี้

หรือแม้แต่การลงทะเบียนกระเป๋าเงินดิจิทัล ได้ฟังนักการเมืองออกมาพูดว่าใครก็ได้ที่มีบัตรประชาชนใช้ได้ทันที ไม่ต้องลงทะเบียน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการพิสูจน์ตัวตนเป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง ไม่เช่นนั้นอาจมีการสวมสิทธิ์จำนวนมาก และอีกอย่างเราก็มีแอปเป๋าตัง ที่ลงคนละครึ่งอยู่แล้ว หรือระบบการยืนยันตัวตนออนไลน์ ThaID ของกรมการปกครอง ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

การนำเสนอนโยบายด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่นักการเมืองต้องอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี และมองความเป็นไปได้ ผมคงไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแจกเงินเป็นนโยบายประชานิยม และจะทำให้เสียวินัยการเงินการคลังหรือไม่

แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านเทคโนโลยี สิ่งที่นำเสนอแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะแจกเงินจริงๆ เราก็อาจนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วอย่าง “แอปเป๋าตัง และใส่เงินสดเข้าไป ซึ่งก็สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้ คือแจกเงิน 10,000 บาททุกคนที่อายุเกิน 16 ปี และมีรัศมีการใช้ไม่เกิน 4 กิโลเมตร ไม่ต้องมาบอกว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและ CBDC ที่คงต้องใช้เวลาอีกนาน