เปิดยุทธศาสตร์ ‘เอไอเอส’ สู้ศึก 2 ขั้ว!!!

เปิดยุทธศาสตร์ ‘เอไอเอส’ สู้ศึก 2 ขั้ว!!!

'เอไอเอส' เปิดยุทธศาสตร์ใหญ่ สู้ศึกโทรคมนาคม 2 ขั้ว หลังเหลือผู้เล่นในตลาดแค่ 2 รายใหญ่ วางบทบาทสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจแบบร่วมกัน ชู 3 แกนหลักย้ำบทบาท ‘พี่ใหญ่’ มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ,เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตฯ, ยกระดับขีดความสามารถคนไทย

Key Points : 

  • ทุ่ม 3 หมื่นล. มุ่ง ECOSYSTEM ECONOMY สร้างการเติบโตให้ศก.ไม่เน้นกินรวบ 
  • ชู 3 เรื่องหลัก 'ดิจิทัลอินฟราฯ -ครอสบิซิเนส -ปลุกสกิลคนไทย
  • มั่นใจดีล3บีบีฉลุย หนุนเอไอเอสขึ้นเป็นรายใหญ่

'เอไอเอส' เปิดยุทธศาสตร์ใหญ่ สู้ศึกโทรคมนาคม 2 ขั้ว หลังเหลือผู้เล่นในตลาดแค่ 2 รายใหญ่ วางบทบาทสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจแบบร่วมกัน ชู 3 แกนหลักย้ำบทบาท ‘พี่ใหญ่’ ครองคลื่นความถี่มากสุด 1460 เมก มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ,เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตฯ, ยกระดับขีดความสามารถคนไทย พร้อมทุ่มงบใหญ่ 3 หมื่นล้านรองรับแผนโต ย้ำเปิดกว้างกับทุกคน ไม่กินรวบคนเดียว มั่นใจดีล3บีบีฉลุย หนุนเอไอเอสขึ้นเป็นรายใหญ่

สมรภูมิการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไทย ยังคงร้อนระอุหลังดีลแสนล้านระหว่าง ทรู และดีแทคจบลงอย่างสมบูรณ์ ทำให้ตลาดเหลืิอผู้เล่นรายใหญ่ขับเคี่ยวกันเพียงแค่ 2 รายจาก 2 กลุ่มทุนใหญ่ ขณะที่ตลาดสื่อสารในไทยไม่ได้มีแค่โทรศัพท์มือถือ การมุ่งสร้างรายได้จากธุรกิจเดิมๆ ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป การขยายธุรกิจออกนอกกรอบสู่น่านน้ำใหม่ จึงจำเป็น และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพลิกเกมการแข่งขันจากนี้ 

เปิดยุทธศาสตร์ ‘เอไอเอส’ สู้ศึก 2 ขั้ว!!!  

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวในงานแถลงข่าวครั้งสำคัญ "AIS BEYOND THE BOUNDARIES" ว่า ทิศทางธุรกิจปี 2566 เอไอเอส มุ่งสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจแบบร่วมกัน หรือ ECOSYSTEM ECONOMY

โดย 3 แกนหลักสำคัญที่จะช่วยผลักดันมาจาก Digital Intelligence Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ จากโครงข่าย 5จี และเน็ตบ้าน พร้อม 5จี แพลตฟอร์มเพื่อภาคอุตสาหกรรม ด้วยการลงทุนในปีนี้ที่ 27,000 - 30,000 ล้านบาท, Cross Industry Collaboration เชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1.8 ล้าน ร้านค้าทั่วประเทศ สร้างการเติบโตไปด้วยกัน พร้อมประโยชน์เพื่อลูกค้า

เปิดยุทธศาสตร์ ‘เอไอเอส’ สู้ศึก 2 ขั้ว!!!

รวมไปถึง Human Capital & Sustainability ยกระดับขีดความสามารถของ Digital Talent และคนไทยผ่าน Education Platform รวมถึงส่งเสริมความรู้ทักษะดิจิทัลสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์

“จะมีการผสานความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมร่วมผู้ประกอบการ พร้อมสร้างศักยภาพของคนไทยผ่านนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความอัจฉริยะบนโครงข่าย 5จี และเน็ตบ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ”

ปักธงขับเคลื่อน 4 เสาหลักธุรกิจ

ปัจจุบัน เอไอเอสมีฐานลูกค้า 41 ล้านเลขหมาย การบริการไม่เพียงแค่ด้านการสื่อสารแต่ยังครอบคลุมไปถึงดิจิทัลเซอร์วิสซึ่งตอบโจทย์สำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ คนทำงาน หรือผู้ใช้งานทั่วไป โดยธุรกิจมีอยู่ 4 เสาหลักคือ โมบาย, ฟิกซ์บรอดแบนด์, เอ็นเตอร์ไพรส์ บิสิเนส, และดิจิทัลเซอร์วิส

ด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในอุตสาหกรรม ทำให้เอไอเอสพร้อมก้าวข้ามทุกขีดจำกัด ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบร่วมกัน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัล ทั้งโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะ เน็ตบ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์มากที่สุด

รวมถึงงานบริการที่ดีที่สุด ภายใต้การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาสร้างการเติบโตร่วมกันให้กับลูกค้า คนไทย และประเทศ

ปัจจุบัน รายได้ของเอไอเอสมาจากธุรกิจโมบาย 85% ภายใน 3 ปี ตั้งเป้าว่าจะทำให้สัดส่วนรายได้จากโมบายลดลงเหลือประมาณ 70% ที่เหลืออีก 3 กลุ่มรวมกัน 30% จากปัจจุบันมีอยู่ราว 15%

สานต่อ ‘Cognitive Tech-Co’

ซีอีโอเอไอเอสกล่าวว่า ยังคงสานต่อการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “Cognitive Tech-Co” เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและคนไทยในการก้าวข้ามทุกข้อจำกัด พร้อมผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ECOSYSTEM ECONOMY” ดังกล่าว

เอไอเอส มีมุมมองว่า การผลักดันให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วน โครงข่ายสื่อสารต้องมีความสามารถใหม่ๆ ที่มีความพร้อมที่จะเอื้อต่อการเติบโตของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ

ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของเน็ตเวิร์กที่ต้องมีความ Interactive สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าตลอดเวลา บริการได้แบบเฉพาะบุคคลตอบสนองในระดับเรียลไทม์

ทั้งนี้เพื่อให้เท่าทันทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งการใช้เทคโนโลยี Autonomous Network Monitoring เข้ามาการตรวจเช็คปริมาณการใช้งานของลูกค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถจัดสรรคาปาซิตี้ของเน็ตเวิร์กให้กับลูกค้าได้แบบอัตโนมัติ หรือแม้แต่งานบริการดูแลลูกค้าแบบ Intelligent Service ที่มีการนำเอไอเข้ามาเป็นตัวช่วยตรวจสอบ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอัจฉริยะแบบ Smart Diagnostics

 ย้ำเปิดกว้าง ไม่กินรวบ

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า เอไอเอสมีแนวทางธุรกิจที่เปิดกว้างกับทุกคน ไม่กินรวบคนเดียว จากนี้จะทำดาต้าอินไซต์ให้เก่งขึ้น โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ พร้อมเปลี่ยนโครงสร้างระบบไอทีเพื่อเปิดทางให้พันธมิตรเข้ามาเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว

“วันนี้ล้าสมัยแล้วที่จะพูดว่าเน็ตเวิร์กของใครครอบคลุมกว่า เร็วกว่า แต่ที่สำคัญคือต้องฉลาดพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการการใช้งานของลูกค้า ส่วนของเอไอเอสจะทำธุรกิจที่เก่งและแข็งแรง ไม่ไปกินรวบในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างแน่นอน”

สำหรับดีลสามบีบียังคงรอ กสทช. แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา ด้วยมั่นใจว่าดีลนี้สะอาด โปร่งใสอย่างมาก และหากได้รับการอนุญาตเอไอเอสจะกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 3.6% ทั้งได้เห็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัว ซึ่งนับเป็นโอกาส แม้ว่ายุคนี้อะไรก็ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงจากทั้งสงครามรัสเซีย ยูเครน ค่าไฟเพิ่ม วิกฤติการเงิน ทว่าธุรกิจในไทยยังคงแข็งแรง และเชื่อว่าจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน

ข้อมูลระบุว่า ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน มีข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ซึ่งหลายคนอยากเข้ามาลงทุน จากขณะนี้รวมผู้ให้บริการ 3 ราย มีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 100 ล้านเลขหมาย มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2570 มีโอกาสที่การเชื่อมต่อของสมาร์ทดีไวซ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านดีไวซ์ ดังนั้นมีโอกาสเติบโตได้อีก 8 เท่า

อย่างไรก็ตาม ไทยจะแข็งแรงได้ไม่ใช่องค์ขนาดใหญ่แข็งแรง องค์กรขนาดกลางและเล็กต้องแข็งแรงด้วย ยุคดิจิทัลลทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นโอกาสทองของบริษัทเล็กๆ ที่จะแจ้งเกิด ไม่เหมือนสมัยก่อนที่แทบไม่มีโอกาสเลย เนื่องจากกฏระเบียบรัฐเอื้อบริษัทใหญ่มากกว่า

“ผมมองว่าไม่มีใครอยู่อย่างยั่งยืนได้โดยข้างล่างพังทลาย ดังนั้นไม่ใช่แค่อินฟราสตรักเจอร์ที่แข็งแรง ต้องแข็งแรงโดยภาพรวมตั้งแต่ฐานราก เชื่อว่าถ้าทุกองค์กรร่วมมือกันประเทศไทยจะแข็งแรง และเติบโตได้มากกว่านี้ โดยการจะเติบโตได้ปัจจัยสำคัญต้องมาจากทั้งการมีกติกา เงินทุน และบุคลากรที่เอื้ออำนวย”

 มาตรฐานใหม่อุตฯ โทรคม

จากผลการดำเนินงานของเอไอเอสในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างการเติบโตที่สวนทางกับสถานการณ์การแข่งขัน ในมิติต่างๆ ทั้งรายได้ ผลกำไร และจำนวนลูกค้า ทำให้วันนี้เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่สามารถส่งมอบโครงข่ายสื่อสาร 5จี ที่เร็วแรงที่สุด มีความครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเป็นอันดับ 1

ปัจจุบันเครือข่าย 5จี ของเอไอเอสครอบคลุมแล้ว 87% ส่วน 4 จีครอบคลุมมากกว่า 95% อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเอไอเอสไฟเบอร์เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วไทยกว่า 8.8 ล้านครัวเรือน ครองส่วนแบ่งตลาดในเชิงของผู้ใช้งานกว่า 16%

“ทั้งหมดนี้สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเอไอเอสสามารถก้าวข้ามทุกความท้าทายมาได้เสมอ แม้จะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป”

นอกจากนี้ วันนี้เอไอเอสได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม ด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) ด้วยการถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz

รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับเอ็นที เพื่อร่วมกันพัฒนาทัลอินฟราสตรักเจอร์ของให้ประเทศให้มีความแข็งแกร่ง สามารถใช้คลื่นความถี่ที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยตามความตั้งใจของทั้งสององค์กรที่ได้ประมูลมา รวมถึงจะทำให้เอ็นทีเป็นองค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ลูกค้าเอไอเอสก็จะได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น จากการมีคลื่น 700 MHz เพิ่มขึ้นอีก 10 MHz (Downlink 5 MHz และ Uplink 5 MHz) ทำให้ AIS มีคลื่น 700 MHz รวมเป็น 40 MHz (Downlink 20 MHz และ Uplink 20 MHz) ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ

เปิดยุทธศาสตร์ ‘เอไอเอส’ สู้ศึก 2 ขั้ว!!!

 ผนึกกำลังพันธมิตรท้องถิ่น-ระดับโลก

ส่วนของ 5G SA (Stand Alone) เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่สามารถเปิดให้บริการได้ครบทั้ง 77 จังหวัด ครอบคลุมเขตพื้นที่อีอีซีกว่า 92%, เอไอเอสไฟเบอร์มีการสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยความเร็วสูงระดับกิกะบิต, ยกระดับภาคอุตสาหกรรมผ่านบริการ AIS PARAGON (Next Generation Orchestration Platform) ที่จะเป็นเสมือน 5G One Stop Platform ให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยบริหารจัดการ resources ผ่าน Cloud และ Edge Computing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมไปถึงอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Green Data Center ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

เอไอเอสยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนข้ามอุตสาหกรรมแบบตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลกเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน

โดยในปีนี้ยังคงทำงานร่วมกับร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชว์ห่วย ร้านสตรีทฟู้ด รวมกว่า 1.8 ล้าน ร้านค้าทั่วประเทศ ผ่านโครงการพอยท์เพย์ จากธนาคารกรุงไทย

รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยอย่าง เครือเซ็นทรัล ร้านค้าแบรนด์ดังจากทั่วประเทศรวมมากกว่า 20,000 ร้านค้า ร่วมมือทำงานร่วมกับสถานบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพ ยูโอบี

พันธมิตรระดับโลกอย่าง ซัมซุง คอนเทนต์โพรวายเดอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Disney+ Hotstar, NETFLIX, 3Plus, MONOMAX รวมถึงคอนเทนต์กีฬาระดับโลกไม่ว่าจะเป็น เทนนิส ฟุตบอลทั้งยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ยูฟ่ายูโรปาลีกและ ลีกชั้นนำของยุโรป ฯลฯ กับช่อง beIN Sports

ด้านการศึกษา AIS Academy มีโอกาสได้ทำงานกับพันธมิตรที่หลากหลาย รวมถึงสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และ สมาคมวิทยาลัยและสถาบันประเทศแคนาดา นำหลักสูตรการเรียนรู้จากสถาบันชั้นนำของประเทศแคนาดาเสมือนการนำโลกไร้พรมแดนมาให้คนไทยและลูกค้าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

นอกจากนี้ นำศักยภาพโครงข่ายดิจิทัลมาพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ AIS “อุ่นใจ CYBER”