ความพยายามหรือความสนุก

ความพยายามหรือความสนุก

ภาษิตที่คนไทยคุ้นเคยกันมาหลายสิบปีคือ “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยให้ค่ากับคนที่ขยันหมั่นเพียรและพยายามไขว่คว้าหาความสำเร็จแม้จะต้องใช้เวลาเนิ่นนาน แต่ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นเสมอ

การเอาชนะที่คนมีความพยายามสูงจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีความพากเพียรพยายามในระดับเดียวกันก็ยากที่จะแข่งกับเขาได้ 

เพราะเราถูกปลูกฝังแบบนี้มานับสิบปี แต่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างมากมายในทุกวันนี้จะยังคงทำให้ “ความพยายาม” เป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จเหมือนเดิมหรือไม่ คำตอบอาจเปลี่ยนไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง

เพราะความเป็นไปของสังคมในยุคดิจิทัลเราจะเห็นว่านอกเหนือจากความพยายามแล้ว “แรงบันดาลใจ” ของคนที่ทำงานด้วยความสุข ความสนุก ก็มีโอกาสผลักดันให้คนๆ นั้นประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นงานที่ใช้ความพยายามและทำงานด้วยความสนุกก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จเป็นทวีคูณ

ในขณะที่คนที่ทำงานด้วยแรงขับเคลื่อนจากความรักในสิ่งที่ทำก็ย่อมทำงานนั้นด้วยความสนุกและอยากคิดอยากลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้งานนั้นดียิ่งขึ้นตลอดไปจนมีโอกาสเอาชนะคนที่ทำงานด้วยความพยายามแต่เพียงอย่างเดียว

คนที่พยายามอย่างเต็มที่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีใจรักในสิ่งที่ทำ หากเป็นความพยายามที่ฝืนใจตัวเอง หรือเป็นความพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรักที่จะทำ ก็จะกลายเป็นการฝืนใจทำจนอาจท้อถอยได้ในวันใดวันหนึ่ง

โอกาสของคนที่ทำงานด้วยความสุขคือมีแรงบันดาลใจเป็นแรงขับเคลื่อน ซึ่งมีโอกาสสำเร็จได้ไม่แพ้คนที่มีความพยายามแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งยิ่งทำมากขึ้นและมีเป้าหมายชัดเจนขึ้น จนมีความเพียรพยายามเพิ่มขึ้นตามมาก็ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นไปอีก

แต่การทำงานด้วยความสุข และสนุกกับการทำงานจนมีแรงบันดาลใจให้คิดและทำสิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเองเป็นหลัก นั่นคือต้องรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ค้นหาความต้องการที่แท้จริง

นั่นคือการใช้เวลาให้กับการเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง จนพบสิ่งที่อยากทำและมองเห็นว่าตัวเองมีความสุขที่สุดในการทำสิ่งนี้ สุดท้ายก็จะทำงานด้วยความกระตือรือร้นเพราะรู้แน่ชัดว่านี้คือสิ่งที่ตัวเองต้องการทำมากที่สุด

อาจฟังดูง่าย แต่นี่เป็นสิ่งที่หลายคนไขว่คว้าพยายามทำมานานแต่ก็ยังหาตัวเองไม่เจอ แม้จะเปลี่ยนงานมาหลายครั้ง ตลอดจนปรับบทบาทจากพนักงานมาเป็นเจ้าของกิจการแล้วก็ยังไม่สามารถค้นพบแนวทางที่ตัวเองต้องการได้

หลายคนจึงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามเพราะแม้จะทุ่มเทพยายามมากแค่ไหนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะงานที่ทำอยู่นานอาจฝืนตัวตนที่แท้จริง หรืออาจขัดกับบุคลิกและเป้าหมายที่ตัวเองเก็บเอาไว้อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

เหตุปัจจัยหลักๆ ของปัญหาเหล่านี้มักมาจาก “ความเชื่อมั่น” ในตัวเองที่ทำให้เราจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ จนไม่มีเวลาขบคิดว่าอะไรที่เป็นความต้องการที่แท้จริงเรา ซึ่งการจะเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้ก็ต้องกลับมาให้เวลากับตัวเองเป็นประการแรก

เมื่อเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว ก็จะค้นหาตัวเองได้พบและมองเห็นเส้นทางที่จะพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ในอนาคต