ผ่ายุทธศาสตร์ "โต" ค่ายมือถือ เอไอเอสบี้ 'ทรู+ดีแทค' ยังรั้งผู้นำ

ผ่ายุทธศาสตร์ "โต" ค่ายมือถือ เอไอเอสบี้ 'ทรู+ดีแทค' ยังรั้งผู้นำ

จับตากลยุทธ์ 2 ค่ายมือถือ (เอไอเอส -ทรูดีแทค) หลังรายงานตัวเลขผลประกอบการปี 65 เสือดุที่ใครๆ ก็กังวลว่าจะกระทบต่อการดำเนินงาน เพราะเศรษฐกิจภาพรวมแม้จะเริ่มลืมตาอ้าปาก หลังวิกฤติโควิดคลี่คลาย แต่ยังซมจากผลพวงปัญหาสงคราม เงินเฟ้อ ที่ดันค่าครองชีพสูงเป็นเงาตามตัว

ปกติแล้วเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วง 5-7 ปีย้อนหลังยังเรียกได้ว่าอยู่ช่วงขาขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีตั้งแต่ 3G ไล่มา 4G จนทุกวันเข้าสู่ 5G โดยสมบูรณ์ เม็ดเงินจากการบริโภคหากนับง่ายจากผลประกอบการของ 3 ค่ายใหญ่ "เอไอเอส ดีแทค ทรู" รวมกันเฉียด 5 แสนล้านบาทต่อปีจากจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยที่ทะลุ 100 ล้านเลขหมาย เกินกว่าจำนวนประชากรในประเทศแล้วและอุตสาหกรรมนี้ก็ยังเติบโตเป็น 2 เท่ามากกว่าจีดีพีประเทศมาตลอด

แต่หากเรามาดูงบอย่างเป็นทางการในปี 2565 ตัวเลขที่เห็นคงพูดว่าหืดขึ้นคอก็คงไม่เกินจริงนัก เริ่มที่ "เอไอเอส" บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานโดย สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ ระบุว่า ท่ามกลางความท้าทายในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งภาวะการแข่งขันของตลาดที่รุนแรง อัตราเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานและกำลังซื้อผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ดีด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้เรายังคงทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้งในเชิงรายได้และจำนวนผู้ใช้บริการ พร้อมยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม

เอไอเอสทำรายได้รวม 185,485 ล้านบาท เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 26,011 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3.4% ปัจจัยหลักมาจากในฝั่งของต้นทุนที่เจอความท้าทายจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2565 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านราย จากการส่งมอบคุณภาพ และการให้บริการที่เหนือกว่า วันนี้เอไอเอสได้ก้าวข้ามการแข่งขันด้วยราคาในตลาด ด้วยการมุ่งสร้างประสบการณ์การดิจิทัลที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือนที่ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในเชิงรายได้และผู้ใช้บริการ ในส่วนของการให้บริการ 5G ที่วันนี้มีลูกค้าอยู่ที่ 6.8 ล้านราย เติบโตก้าวกระโดดจาก 2.2 ล้านราย 

สำหรับเรื่องการทรูควบรวมดีแทค นั้น เอไอเอสไม่ได้ให้ความสนใจเพราะเอไอเอสก็ทำงานของเราไป นำเสนอบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าเอไอเอสเหมือนเดิม ส่วนสภาพการแข่งข้นอย่างไรก็เชื่อว่า จะรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลงเพราะคู่แข่งที่กำลังจะควบรวมกันต้องพยายามไม่ให้ลูกค้าเดิมที่มีอยู่ไหลออก จึงจะต้องพยายามเล่นสงครามราคาเพื่อดึงลูกค้าให้ยังอยู่ในระบบของตัวเอง 

"การแข่งขันผมว่าก็ไม่เปลี่ยนคือรุนแรงเหมือนเดิม เพราะรายที่รวมกันก็ต้อง Offer โปรโมชั่นดึงลูกค้าเอาไว้ให้ได้ แต่ส่วนตัวผมก็มองว่าในระยะยาวก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยน"

ทรูพลิกขาดทุนอ่วม-ดีแทคโชว์งบก่อนควบ

ส่วนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผลดำเนินงานปี 2565 ขาดทุนสุทธิ จำนวน 18,285.19 ล้านบาท คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า 20% จากปี 2564 ขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,428.40 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาโครงข่าย และค่าตัดจำหน่ายคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายโครงข่ายและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำประมาณ 8,500 ล้านบาท ในไตรมาส 4

อาทิ การตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนหรือคาดว่าจะไม่ได้ใช้ในบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการ การด้อยค่าของค่าความนิยม และผลกระทบจากการประเมินมูลค่าประจำปีของหน่วยลงทุน DIF  

โดยผลการดำเนินงานโดยสรุปมีดังนี้ กลุ่มทรูมีรายได้รวม 135,076 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 103,845 ล้านบาท ซึ่งลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด แม้ฐานผู้ใช้บริการจะเติบโต ส่งผลให้ EBITDA อ่อนตัวลงมาที่ 52,804 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการด้านการควบคุมต้นทุนยังดำเนินอยู่อย่างเข้มงวด ท่ามกลางต้นทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภคที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ มีผู้ใช้งานทรูมูฟ เอช รวมในระบบที่ 33.8 ล้านราย

ขณะที่นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ปี 2565 เป็นปีที่ผลการดำเนินงานของดีแทคเริ่มมีการฟื้นตัว แม้ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ซึ่งรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความท้าทายของเศรษฐกิจระดับมหภาค แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง แต่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้ ดีแทคยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในปี 2565โดยผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ดีแทค มีรายได้ 80,656 ล้านบาท ไตรมาส 4/2565 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 106,000 ราย ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 21.2 ล้านคน กำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท

คาดแถลงข่าวบริษัทใหม่ 2 มี.ค.นี้ 

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค เมื่อวันที่ (22 ก.พ.) ทรูฯรายงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทระหว่างทรูและดีแทคใช้ชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” พร้อมพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการของบริษัทใหม่ จำนวน 11 คน โดยทุนหรือมูลค่าของบริษัทใหม่อยู่ที่ 138,208 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับทุนชําระแล้วทั้งหมดของรวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจํานวนทังสิ้น 34,552,100,801 หุ้น โดยมีมูลค่าทีตราไว้หุ้นละ 4 บาท และมีกระแสข่าวว่าจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าการควบรวมบริษัทใหม่ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ 
 
สำหรับกรรมการของบริษัทใหม่ ประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์, นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป, ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (กรรมการอิสระ), นางกมลวรรณ วิปุลากร (กรรมการอิสระ), นายกลินท์ สารสิน (กรรมการอิสระ), นางปรารถนา มงคลกุล (กรรมการอิสระ), ดร.เกา ถงชิ่ง, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข, นางสาวรุซ่าร์ ซาบาโนวิค, นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ 
 
สิ่งที่ต้องรอลุ้นกันคือสำหรับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบบริษัทนี้ จะมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการรับมือกับความท้าทายของตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างที่ประกาศได้หรือไม่ และจะดันให้ผลประกอบการขยับมามีกำไรได้อย่างเร็วที่สุดเมื่อไร เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกัน

โดยเบื้องต้นมองว่า ตลาดลูกค้าระดับบน กับ ลูกค้าระดับล่างน่าจะไม่เปลี่ยนมือ แต่ลูกค้ากลุ่มกลางจะเป็นตัวละครลับที่ต้องจับตาดูว่าจะไปทางไหน และจะหันไปซบค่ายใด