ถอดสูตรแม่ทัพใหญ่ ‘ไลน์แมน วงใน' ยูนิคอร์นตัวที่ 4 แห่งวงการสตาร์ตอัปไทย

ถอดสูตรแม่ทัพใหญ่ ‘ไลน์แมน วงใน'  ยูนิคอร์นตัวที่ 4 แห่งวงการสตาร์ตอัปไทย

ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ "ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน (LINE MAN WONGNAI) ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังเส้นทางความสำเร็จที่ “เริ่มจากศูนย์”

จากบริการค้นหาและรีวิวร้านอาหารบนเว็บไซต์ สู่เทคสตาร์ตอัปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์ “ยูนิคอร์น” ตัวที่ 4 แห่งวงการสตาร์ตอัปไทย

หากใครได้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยีคงพอจะทราบว่า เส้นทางการเดินทางของ “สตาร์ตอัปไทย” นั้นไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่เพียงสมการของการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่แค่ “พยุงให้อยู่รอด” ยืนระยะให้นานมากพอยังเป็นเรื่องยาก

ไม่ต้องพูดถึงการก้าวขึ้นไปเป็น “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ยิ่งเป็นงานหิน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องฝ่าคลื่นมรสุม มีหลากหลายอุปสรรคและความท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน...

อย่ากลัวความล้มเหลวในอดีต

ยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ ไลน์แมน วงใน เผยว่า ถึงวันนี้นับว่าเดินทางมาไกลอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นที่เป็นศูนย์กระทั่งวันนี้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นได้แล้ว

“ผมเป็นคนที่ชอบเลื่อนเส้นชัยออกไปเรื่อยๆ ตามประสาคนที่ชอบการเดินทางและเรื่องราวระหว่างเส้นทาง สนุกที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ใหญ่ๆ และสร้างอิมแพคได้จริง ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ไปให้ถึงเป้าหมายเพียงอย่างเดียว”

ส่วนเป้าหมายต่อไป ยังคงเปิดกว้าง และแน่นอนว่าการไอพีโอในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่มองไปในระยะเวลาที่ไม่ไกลมากนักในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสตาร์ตอัปสัญชาติไทยที่มาถึงจุดนี้ได้ยังไม่มี ฉะนั้นหากทำได้น่าจะเป็นการจุดประกายให้กับคนรุ่นต่อไป รวมถึงเพื่อนๆ ในวงการด้วย

ยอดบอกว่า การทำงานย่อมมีความผิดหวังเกิดขึ้นได้เสมอ หรืออาจตัดสินใจผิดพลาดได้บ่อยๆ เขาเองก็เคยเปิดธุรกิจที่เจ๊งมาแล้ว ซึ่งก็ได้เรียนรู้จากมันและเดินหน้าต่อ 

"ผมจำได้ว่าในระยะเริ่มต้นที่มาทำวงในแทบไม่มีคนใช้งานเลย ช่วงสองปีแรกเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดแล้ว มีความกดดันในหลายๆ เรื่องทั้งที่ชวนเพื่อนออกจากงานมาทำ ระดมทุนไม่ได้ต้องใช้เงินตัวเองและติดลบไปเรื่อยๆ กับเงินเก็บที่สะสมมา ต้องอาศัยความอึดกว่าจะผ่านมันมาได้ ถ้าถามว่าผ่านมาได้ยังไงก็คือทำมาเรื่อยๆ ลุยต่อในสิ่งที่เราเชื่อ แต่ก่อนเคยถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ฉะนั้นจากนี้ไปหากมีปัญหาเกิดขึ้นก็คงเป็นปัญหาที่เล็กกว่านั้นแล้ว ช่วงเวลานั้นทำให้เรามีสกิลที่อึดสุดๆ ในวันนี้”

ดีใจกับความสำเร็จเล็กๆ

ยอดเล่าว่า หลังการระดมทุนรอบล่าสุดในซีรีส์บีและกลายเป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่าธุรกิจกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ ภายในบริษัทฉลองกันแค่วันเดียวไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร และหลังจากวันนั้นก็กลับมาทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่ได้มา มองว่าจากนี้เป็นความท้าทายที่ค่อนข้างใหญ่ที่จะต้องก้าวไปข้างหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเมื่อวานหรือวันนี้ แค่มีความสำเร็จเล็กๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น “วันนี้ออเดอร์เยอะจังเลย” หรือ “โปรโมชันออกใหม่ได้รับการตอบรับที่ดี” ก็จะดีใจเสมอ 

ผมคิดว่าการทำงานและมีแนวคิดลักษณะนี้ทำให้เกิดความยั่งยืนได้มากกว่าการตั้งเป้าหมายเพียงเป้าหมายเดียวและพอถึงวันนั้นเมื่อทำสำเร็จได้แล้วก็จะไม่มีอะไรให้ทำต่อ

หลังจากนี้ ไลน์แมนวงในยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มทีมงานรองรับการขยายธุรกิจ พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาการตลาดเพื่อสร้างฐานลูกค้าให้มากขึ้น กว้างขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น

“การเติบโตของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากการโหมหนักโปรโมชันและข้อเสนอที่จูงใจ ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แพลตฟอร์มต้องฉลาดขึ้น ใช้เงินเป็นมากขึ้น มีการเซ็กเมนท์และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสมกับลูกค้ารายบุคคล”

ปักธงขับเคลื่อน 3 ธุรกิจหลัก

ปัจจุบัน ไลน์แมนวงในมีฐานธุรกิจที่แข็งแรง ด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่กว่า 10 ล้านคน ธุรกิจในเครือมี 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1. บริการออนดีมานด์ ครอบคลุมการส่งอาหาร สินค้า เมสเซนเจอร์ และแท็กซี่ โดยการบริการครอบคลุมพื้นที่รวม 246 อำเภอ 77 จังหวัดทั่วไทย มีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 700,000 ร้าน, บริการสั่งซื้อสินค้าร้านออนไลน์ ไลน์แมนมาร์ท มีจำนวนร้านค้ารายย่อยกว่า 60,000 ร้าน ครอบคลุม 96 อำเภอ รวม 9 จังหวัด

ขณะที่ 2. กลุ่มโซลูชันสำหรับร้านค้าและร้านอาหาร มีฐานข้อมูลร้านค้าและร้านอาหารมากกว่า 1 ล้านร้านทั่วไทย และ 3. กลุ่มธุรกิจเสริมมูลค่า ธุรกิจโฆษณาสำหรับร้านอาหาร ธุรกิจบริการทางการเงิน ที่ผ่านมายังมีส่วนในการสร้างงานให้กับไรเดอร์มากกว่า 1 แสนตำแหน่งทั่วประเทศ

อีโคซิสเต็มของบริษัทประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ใช้งาน, ร้านค้า และไรเดอร์ จากพนักงานทั้งหมดกว่า 1,000 คน มีทีมเทคโนโลยีมากกว่า 350 คน ซึ่งสามารถแบ่งโครงสร้างออกเป็นเป็น 3 ทีมใหญ่ๆ ได้แก่ ทีม Engineering, ทีม Product และทีม Data

ปี 2566 บริษัทตั้งเป้าขยายทีมงานเทคโนโลยีเป็น 450 คนภายในครึ่งปีแรก และเพิ่มสัดส่วนพนักงานระดับอาวุโส (Senior) อีกจำนวนมากทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อรองรับการเติบโตของแพลตฟอร์มที่จะขยายพื้นที่บริการฟู้ดดิลิเวอรีให้ลึกยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาบริการใหม่ๆ ในรูปแบบ “E-commerce Platform for Services” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีบริการครบวงจรทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ขณะเดียวกันสร้างบริการ “Made in Thailand” ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกในระดับประเทศ

“เราให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องของคน การดูแลพนักงานมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม สวัสดิการที่ตอบโจทย์ มีงบประมาณรายเดือนสำหรับทำอะไรก็ได้ที่สร้างสรรค์ เดือนละ 2,500 บาท วันลาไม่จำกัด เวิร์คฟรอมโฮมไม่จำกัด ฯลฯ”

ธุรกิจร้านอาหารเสี่ยงสูง รอดยาก

ซีอีโอ ไลน์แมนวงในกล่าวว่า โควิดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีเติบโตได้แบบก้าวกระโดด เบื้องต้นพบว่าอย่างน้อยสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น 1 ปีจากภาวะปกติ

แต่ทั้งนี้ ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง รอดยากมาก จากประสบการณ์การทำงานในวงการนี้มาหลายปีพบว่า แม้แต่ช่วงเวลาปกติที่ไม่มีโควิดทุกๆ ปี ร้านเปิดใหม่มักจะปิดตัวราว 30% แต่ในทิศทางเดียวกันก็จะมีร้านเปิดใหม่เปิดออกมาในอัตราเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบการทำธุรกิจอาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของตลาด โดยเฉพาะร้านที่ไม่มีหน้าร้าน บริการจัดส่งอย่างเดียว

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทเองมีแผนพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และจะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทว่ายังไม่มีแผนขยายตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคหรือต่างประเทศในขณะนี้ ยังคงมุ่งสร้างการเติบโตในประเทศไทย ในมิติที่ไกลขึ้นและลึกขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มฐานผู้ใช้งาน หลักๆ เน้นสร้างบริการที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไทยที่มีมากกว่า 50 ล้านคน โดยบริการต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสำหรับคนในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองหรือหัวเมืองเท่านั้น

เชื่อสตาร์ตอัปไทยมีจุดแข็ง 

หากประเมินขณะนี้ จุดแข็งของเทคสตาร์ตอัปไทย แน่นอนว่าหากทำตลาดระดับโลคอลย่อมมีความได้เปรียบด้านความเข้าใจตลาดและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังเสียเปรียบด้านแหล่งเงินทุน ทรัพยากร สภาพแวดล้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงบุคลากร และแม้ว่าภาครัฐจะเห็นความสำคัญและหันมาสนับสนุนด้านนี้มากขึ้นแต่ยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของนักลงทุนไม่ได้มีแค่ปัจจัยเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความเสี่ยงของภาวะตลาดที่ผันผวนไม่อาจควบคุมได้ ความคุ้มค่า และโอกาสการเติบโตในอนาคต ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะสามารถระดมทุนได้เมื่อใด หรือจะระดมทุนได้หรือไม่

ส่วนตัวคาดว่าสถานการณ์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยภาพรวมอาจไม่ได้ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ทว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้ามีโอกาสฟื้นกลับคืนมาได้ ขณะนี้ได้เห็นว่าองค์กรต่างๆ เน้นด้านการทำกำไร ทำให้องค์กรกระชับและคล่องตัวมากที่สุด

สำหรับมุมมองต่อการแข่งขันในธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี มองว่าพีคของการแข่งขันอาจผ่านไปแล้วก็ได้ ขณะนี้ตลาดอยู่ในช่วงที่อิ่มตัว ผู้เล่นไม่ได้มีจำนวนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องพร้อมปรับตัวไปกับทุกสถานการณ์

‘การใช้ชีวิต’ ในแบบฉบับซีอีโอ

เมื่อถามถึงการบริหารจัดการเวลาส่วนตัวในแบบฉบับของซีอีโอ “ยอด” บอกว่า ต้องใช้เวลาให้มีค่ามากที่สุด สร้างความสมดุลและให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องงานและครอบครัว

ยอดเป็นคนทำงานที่จริงจัง แต่เมื่อถึงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ก็จะให้เวลากับครอบครัวเป็นหลัก สามารถไปเที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวต่างประเทศได้เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ

แม้ภาระหน้าที่ในตำแหน่งซีอีโออาจทำให้หลายคนต้องเสียสละบางอย่าง แต่สำหรับยอดมองว่าไม่ได้เสียอะไรไป ถ้ามีบางอย่างที่อยากจะทำเพิ่มเติมมีเพียงเป้าหมายส่วนบุคคล ที่อยากแบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเตรียมพร้อมสำหรับวัยที่เพิ่มมากขึ้นของตนเอง

ส่วนเป้าหมายอื่นๆ เรื่องการงานไม่มีเลย วันนี้แพชชั่นทั้งหมดของเขาอยู่ที่ตรงนี้ และมีมุมมองว่าไลน์แมนวงในใหญ่พอที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำหรืออาจจะทำอะไรได้มากกว่าที่วางแผนไว้เสียอีก