ย้อนอ่านยุทธศาสตร์ "ไทยคม" หลังส่งบริษัทลูกชนะประมูลดาวเทียม 2 ชุด

ย้อนอ่านยุทธศาสตร์ "ไทยคม" หลังส่งบริษัทลูกชนะประมูลดาวเทียม 2 ชุด

จบไปแบบไม่ต้อง "ลุ้น" เอกชนทั้ง 3 รายเคาะราคากันตามกติกาคนละ 1 ครั้ง ทำให้การประมูลวงโคจรดาวเทียม สิ้นสุดลงไปในเวลา 11.36 น. แต่หากนับเวลาที่เคาะเวลาทั้ง 5 ชุดกันจริงๆ ก็ใช้เวลาเพียง 31 นาที ในการตัดสินใจเท่านั้น "ไทยคม" ยิ้มกลับบ้านคว้าไป 2 ชุด

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเปิดงานการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) วันนี้ (15 ม.ค.) ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. จำนวน 5 ชุด พร้อมด้วยคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. อีก 4 คน ได้แก่ นายศุภัช ศุภชลาศัย พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ นางสาวพิรงรอง รามสูต ส่วนนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ไม่ได้เข้าร่วมโดยแจ้งว่าป่วย

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายที่สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้นกสทช.จะกำหนดลำดับด้วยการจับสลากโดยผลปรากฎว่า ประมูลชุดที่ 4 , 3 , 5 , 2 และ 1 เป็นชุดสุดท้ายเพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

โดยอายุใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้มีอายุ 20 ปี แบ่งการจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นงวดแรก ภายใน 90 วันจำนวน 10% งวดที่ 2 ปีที่ 4 จำนวน 40% งวดสุดท้ายปีที่ 6 จำนวน 50% โดยบอร์ดกสทช.จะรับรองผลภายใน 7 วันนับจากวันนี้ 

ย้อนอ่านยุทธศาสตร์ \"ไทยคม\" หลังส่งบริษัทลูกชนะประมูลดาวเทียม 2 ชุด

สเปซเทคฯคว้า2ชุดกว่า 797 ล้านบ.

สำหรับผลการประมูลนั้นสรุปว่า

ชุดที่ 1 ประกอบด้วยวงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51)  ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ และตะวันออกกลาง เป็นวงโคจรสำหรับ Broadcast ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท โดยเริ่มประมูลในเวลา 11.30 น. จบในเวลา ราคา 11.36 น. ผลปรากฎ ว่าไม่มีผู้เสนอราคา unsold

ชุดที่ 2 ประกอบด้วยวงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในพม่า อินเดียประเทศไทย ปัจจุบันมีดาวเทียมให้บริการอยู่แล้ว 2 ดวงในตำแหน่งดังกล่าวคือ ไทยคม 6 และ ไทยคม 8 เป็นวงโคจรสำหรับให้บริการ Broadcast ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาท และจบในเวลา 11.05 นาที ในรอบแรก แต่ในชุดดังกล่าวมีการแข่งขันเคาะราคาอยู่ 2 ราย ทำให้เริ่มเคาะรอบที่ 2 ในเวลา 11.10 น. และจบในราคา 11.16 น.ที่ 380 ล้านบาท เนื่องจากมีเอกชน 1 รายหมอบไป โดยผู้ที่ชนะได้แก่ สเปซ เทคฯ 

ชุดที่ 3 ประกอบด้วยวงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการ Broadband เป็นวงโคจรเดิมของไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เหมาะกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และอินโดจีน ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาท เริ่มประมูลเวลา 10.15 น. และจบลงเวลา 10.21 น. ด้วยการเคาะเพียง 1 ครั้งเช่นกันที่ราคา 417 ล้านบาท โดยผู้ชนะได้แก่ สเปซ เทคฯ
 

ย้อนอ่านยุทธศาสตร์ \"ไทยคม\" หลังส่งบริษัทลูกชนะประมูลดาวเทียม 2 ชุด

ชุดที่ 4 ประกอบด้วย 126E ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาท เหมาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และทะเลจีน สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นดาวเทียม Broadcast และ Broadband ราคาเริ่มต้น 8.6 ล้านบาท ใช้โดยผลประมูลจบลงใน 2 นาที ด้วยการเคาะราคาจากเอกชนเพียง 1 ครั้ง โดยราคาของชุดที่ 4 จบที่ ราคา 9.076 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่ เอ็นที 

ชุดที่ 5 ประกอบด้วยวงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) โคจรอยู่แถบแปซิฟิก เหมาะกับบริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท เหมาะสำหรับสำหรับให้บริการ Broadcast ซึ่งจบในเวลา 10.46 นาที ผลปรากฎว่าไม่มีเอกชนรายใดยื่นเคาะราคาเลยทำให้ชุดดังกล่าวขายไม่ออก โดยระบบขึ้นว่า unsold

ย้อนอ่านยุทธศาสตร์ \"ไทยคม\" หลังส่งบริษัทลูกชนะประมูลดาวเทียม 2 ชุด

ไทยคม ปรับโครงสร้างรับความต้องการ

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” หลังจากเข้ารับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ว่า ตนเองเป็นพนักงานในองค์กรแห่งนี้ ปีนี้เข้าปีที่ 30 และมองว่า ธุรกิจดาวเทียมยังคงมีโอกาสอยู่มากมายในจักรวาลนี้ และไม่ใช่ธุรกิจขาลงหรือเป็น Sunset Business อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโอกาสของธุรกิจยังมีรูมให้ขยายตัวอีกมาก

ผลวิจัยหลายแห่งระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เทรนด์ของการติดต่อสื่อสารในโลกจะเติบโตในทุกๆ รูปแบบ ทั้งผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ฟิกซ์ไลน์ และแน่นอนว่า การสื่อสารผ่านดาวเทียมยิ่งทวีความต้องการมากขึ้น การให้บริการ “บรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม” จะช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ส่วนที่เครือข่ายการสื่อสารยังไม่เพียงพอ

โครงสร้างธุรกิจ “ไทยคม” ได้ปรับเปลี่ยนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ปัจจุบันไทยคมมีดาวเทียมให้บริการของตัวเองอยู่ 2 ดวง คือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นการให้บริการด้านเทเลคอมภายใต้ C-band ส่วนไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 ปัจจุบัน ส่งมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงฯ ได้ส่งต่อให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานต่อ ไทยคมก็ได้ไปเช่าเหมาทรานสปอนเดอร์จากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงมาทำตลาดให้ลูกค้าอีกทอดนึง มีลูกค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

“จากที่เราแบกรายจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานถึง 22.5% พอเราหลุดจากสัมปทาน เราก็มีรายจ่ายให้ กสทช.เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแค่ 4% ทำให้ไตรมาสที่ 2/2565 เรามีกำไรสุทธิจากธุรกิจหลักพลิกฟื้นจากผลขาดทุน และสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีผลกำไรสุทธิ จากธุรกิจหลักเป็นจำนวน 338 ล้านบาท พลิกฟื้นจากผลขาดทุนจำนวน 106 ล้านบาทในปีก่อน”

วางเป้าสู่ “สเปซ เทค คัมพานี”

ปฐมภพ บอกว่า ไทยคมเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดาวเทียมมาตลอด 30 ปี มีทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในกิจการอวกาศ แนวทางการทำตลาด การหาพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้น ภาพของอนาคตตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น 

“ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจของตัวเอง จากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่ง 3 ธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ”

3 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 1.บริการ Software defined satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ 

“ดาวเทียมชนิดนี้จะต่างจากดาวเทียมดวงก่อนๆ ที่ไทยคมผลิตและยิงขึ้นสู่วงโคจร เพราะในอดีตการสร้างดาวเทียมหนึ่งดวงจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมการให้บริการองศาความครอบคลุมการใช้งาน ตั้งแต่สร้างดาวเทียม ไม่สามารถแก้ไข ดังนั้น หากดาวเทียมให้บริการในพื้นที่ๆ ไม่มีความต้องการใช้งานมากนัก ก็เท่ากับเป็นความเสี่ยงที่บริษัทต้องแบกรับ” 

2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) จาก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดินไทยคมในพื้นที่ลาดหลุมแก้ว 

และล่าสุดไทยคมร่วมกับเอ็นที ในการเป็นให้ดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับ “One Web” เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์จากอังกฤษ มีเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในปี 2566

3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิด “บิ๊กดาต้า” ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งไทยคมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing Satellite) มาวิเคราะห์โดยใช้ “เอไอ” เพื่อสร้างข้อมูลและโมเดลของระบบวิเคราะห์และประมวลผลเพื่องานประกันภัยพืชผล

ยิงดาวเทียมใหม่-ลุยประมูล

ซีอีโอไทยคม กล่าวว่า สำหรับการประมูลวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย ที่จะทำให้อุตสาหกรรมดาวเทียม และกิจการอวกาศเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจเสรีอย่างเต็มตัวนั้น ไทยคม แสดงความจำนงมาตลอดว่า พร้อมเข้าประมูลตามเงื่อนไขที่สำนักงานกสทช.กำหนด และก็กำลังร่างแผนงานยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรด้วย

นอกจากนี้ ตั้งแต่มานั่งหัวเรือไทยคม ได้ตั้งคณะทำงาน Growth Council ที่มีความคิด มีนวัตกรรมและมองหาโอกาสใหม่ให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไทยคม ขณะนี้ตั้งทีมมาแล้ว 15 ทีม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ไทยคมสามารถเข้าไปต่อยอด หรือจะดำเนินการได้ โดยคณะทำงานนี้ จะแยกจากพนักงานของไทยคมที่มีอยู่ 400 คน เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวสูงสุด

“เพราะดาวเทียมกำลังถูกพัฒนาในด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องให้สามารถประยุกต์เข้าได้กับหลายธุรกิจที่เกิดใหม่ แนวโน้มการทำธุรกิจของไทยคม กำลังมองถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งที่ผ่านมารายได้ของไทยคม โดยรวมมาจากต่างประเทศมากกว่า 50%” ซีอีโอ ไทยคม ทิ้งท้าย