“เอไอเอส” แนะ สตาร์ตอัป ดึง Tech รีดไขมันองค์กรให้ปราดเปรียว

“เอไอเอส” แนะ สตาร์ตอัป ดึง Tech รีดไขมันองค์กรให้ปราดเปรียว

AIS The StartUp มองเทรนด์ภาพรวมธุรกิจ ชี้ต้องเข้าใจและมองการเปลี่ยนแปลงของ “โลก-ธุรกิจ-คน” เป็นภาพเดียวกัน แนะสตาร์ตอัปใช้ เทคโนโลยี รีดไขมันองค์กรให้ปราดเปรียว

ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านการพัฒนาธุรกิจ สร้างโอกาส และติดอาวุธทางดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ สตาร์ตอัป บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ฉายเทรนด์ภาพรวมธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2023 ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระดับ “มหภาค” ลงมาในภาค “ธุรกิจ” และเรื่อง “คน"

ที่วันนี้ต้องมองให้เป็นภาพเดียวกันแบบ Interconnected Futures พร้อมให้คำแนะนำ สตาร์ตอัป และผู้ประกอบการ มุ่งปรับกระบวนท่าการทำงานภายในให้ปราดเปรียวมากยิ่งขึ้น โฟกัสการบริหารต้นทุน รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

โยนโจทย์ Interconnected Futures

"ศรีหทัย พราหมณี" ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันนี้ไม่สามารถมองเทรนด์ในระดับมหภาค แบบแยกออกจากกันระหว่างเรื่องธุรกิจ และเรื่องคน ได้อีกต่อไป เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันในมิติของการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นหากเข้าใจภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นแบบ Interconnected Futures ก็จะเห็นได้ทันทีว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และกลุ่ม สตาร์ตอัป ที่ต้องก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ แหล่งเงินทุน นวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี หรือแม้แต่ความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค

ศรีหทัย อธิบายต่อว่า Interconnected Futures เริ่มต้น จากสถานการณ์ภาพใหญ่ระดับโลก ที่วันนี้มีดัชนีชี้วัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน คือ ตัวเลข “จีดีพี” ที่เปิดเผยโดย เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่า ตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นไปสูงสุดตั้งแต่ปี 1982 นั่นสะท้อนให้เห็นถึง ภาวะเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อของผู้คนกำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าครองชีพ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ภาคประชาชน อย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับตัวเลขของจีดีพี ที่ลดลงในช่วงนี้ ได้รับปัจจัยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เราเรียกช่วงนี้ว่า “Near-term Slow Down” หรือ “การถดถอยในช่วงเวลาสั้นๆ” นั่นหมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจทั้งของประเทศและในภาพรวมของโลก อาจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในอีก 2-3 ปี ทำให้ในปีนี้ทุกภาคส่วนอาจจะต้องหันกลับมามองตัวเองเพื่อทำให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลา Near-term Slow Down นี้ไปได้

สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ

ผู้บริหาร AIS The StartUp บอกด้วยว่า หากเชื่อมต่อมาที่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ หลายบริบท ตั้งแต่การลงทุนที่มีแนวโน้มลดลงในกลุ่มธุรกิจระดับเริ่มต้น (Early Stage) ที่อาจยังไม่มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน แต่ในทางกลับกัน โอกาสระดมทุนในไทยสำหรับบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มเติบโต (Early-Growth Stage) มีโอกาสเพิ่มขึ้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดการลงทุนที่ 3 LiVE Exchange เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น นักลงทุนให้ความสำคัญกับการคำนวณมูลค่าบริษัทในมิติที่กว้างขึ้น ที่จะไม่ใช่เพียงแค่ผลประกอบการ และ กำไร แต่ต่อไปนี้การคำนวณมูลค่าบริษัทยังคำนึงถึงมิติอื่นๆ ที่เป็นดัชนีชี้วัดตัวใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืน อาทิ ESG (Environment -Social-Governance), AML (Anti-Money Laundering), ABC (Anti-Bribery, Anti-Corruption) และ DATA Privacy เป็นต้น”

เธอ บอกว่า อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้องค์กรก้าวผ่านช่วง Near-term Slow Down ได้ คือ ต้องลงรายละเอียดในกระบวนการทำงาน (Internal Operation) เน้นไปที่การบริหารจัดการต้นทุน และผลกำไรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการลดความผิดพลาด (Error Reduction) ในการทำงานให้มากที่สุด จากการนำเทคโนโลยี ระบบออโตเมชั่นเข้ามาช่วย ในขณะเดียวกัน บุคลากรเองก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเช่นกัน

เร่งพัฒนา Skill Set ใหม่ๆ

และแน่นอนว่า เมื่อซูมอินลงมาในเรื่อง “คน” นอกเหนือจากการพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีองค์ความรู้และ Skill Set ใหม่ๆ ให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิ่งที่จะเห็นชัดเจนขึ้น ในแง่ของการพัฒนาตัวเอง คือ ต้องเข้าใจความสามารถที่ลงลึกในระดับ Attribute หรือ คุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนขึ้น เพราะในมุมขององค์กรธุรกิจจะมองหาคนที่มี คุณลักษณะเฉพาะ คำว่าสายงานหรือตำแหน่งงานอาจจะไม่ใช่เพียงแค่การมีองค์ความรู้ และ Skill เท่านั้นอีกต่อไป แต่ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ที่บ่งบอกถึงขีดความสามารถตนเอง ที่จะส่งมอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อประเมินจากปัจจัยดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ภาพใหญ่ มาจนถึงภาคธุรกิจ และเรื่องคน "ศรีหทัย" ได้เสนอแนวทางดำเนินธุรกิจสำหรับกลุ่ม สตาร์ตอัป โดยให้เน้นไปที่ การทำธุรกิจให้อยู่รอด (Default Alive) และผ่านช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ในปี 2025 ให้ได้

“นอกเหนือจากการปรับตัวแล้ว ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารกระแสเงินสด การ Lean หรือรีดไขมันให้กับองค์กร โดยโฟกัสในธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไร รวมถึงมองหาเครื่องมือด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบัน เอไอเอส สนับสนุน สตาร์ทอัป มากกว่า 11 ปี ยกตัวอย่างสตาร์ทอัปที่ประสบสำเร็จ เช่น ในกลุ่ม EdTech ได้แก่ SKILLANE, HealthTech Agnos, Fintech ได้แก่ FLOW ACCOUNT, กลุ่มService on demand ได้แก่ iStorage

ทั้งนี้ AIS The StartUp ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น 1.EdTech 2.Finance and FinTech 3.Gaming 4. HealthTech 5.AgTech and FoodTech 6.Digital Commerce 7.Enterprise Solution 8.Service and on-Demand Economy 9.Smart SME solution 10.TravelTech and MICETech 11. IndustryTech 12.Big Data / AI  และ 13.Digital Content