ความหวังในปีใหม่

ความหวังในปีใหม่

ผ่านพ้นกันไปกับการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านจากปี 2022 ที่เราต้องพบเจอกับความผันผวนมากมายเกินจินตนาการ แม้จะตั้งความหวังไว้ว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2023 แต่จากสภาพแวดล้อมรอบตัวเราบ่งชี้ว่ามันอาจไม่เป็นไปตามนั้น

จากการประชุมระดับโลกโดยเฉพาะกลุ่ม G7 จะเห็นได้ว่าสมาชิกรายสำคัญทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติที่แตกต่างกัน การจะคาดหวังให้กลุ่มประเทศยุโรปเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาสารพัน ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมองไม่เห็นทางออก หรือการใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อออกมาสกัดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่ในประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น แต่นี่คือการดูดความมั่งคั่งจากทั่วโลกจนทำให้ค่าเงินของหลายประเทศเกิดความผันผวนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้ในระยะสั้นอาจส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ถ้ามองย้อนหลังไป 2-3 ปีที่แล้วจะเห็นว่าบริษัทชั้นนำอย่างแอปเปิ้ลเคยมีมูลค่าสูงกว่าราคาปัจจุบันกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ 

เช่นเดียวกับ อะเมซอนที่มูลค่าลดลงราวๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐฯ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

นั่นกลายเป็นที่มาที่บริษัทเหล่านี้ต้องลดการจ้างงานครั้งมโหฬารเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ​จนนักวิชาการหลายคนเชื่อว่าเราจะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่จะเป็นรูปแบบ Soft Landing หรือ Hard Landing เท่านั้น

โลกจึงดูเหมือนจะเหลือที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือจีนที่เก็บตัวเงียบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยความเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินไม่เต็มที่ โรงงานก็ต้องทำๆ หยุดๆ เมื่อพบการระบาดของโรค ส่งผลให้ระบบซัพพลายของโลกสะดุดติดขัดเพราะจีนถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญ

แต่เมื่อรัฐบาลจีนประกาศผ่อนปรน การผลิตของจีนจึงกลับมาสู่ภาวะปกติ ปัญหาซัพพลายสินค้าหลายอย่างจึงเริ่มคลี่คลายทันที และในขณะเดียวกันประชาชนชาวจีนที่จำเป็นต้องเก็บตัวอยู่แต่ในประเทศตัวเองมานานกว่า 3 ปี ก็ได้ไฟเขียวให้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ 

แม้จะต้องเจอกับมาตรการจากหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ หรือบางประเทศในยุโรป ที่จะต้องมีประวัติการฉีดวัคซีน และผลการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศดังกล่าว ก็ไม่สามารถเป็นอุปสรรคต่อประชาชนชาวจีนแต่อย่างใด นั่นจึงหมายถึงโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในหลายๆประเทศทั่วโลก

สำหรับบ้านเราซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลักเราจะพบข้อเท็จจริงอยู่ 3 ประการด้วยกัน นั่นคือประการแรก เศรษฐกิจไทบขับเคลื่อนด้วยการส่งออก ซึ่งตลาดที่สำคัญอย่างยุโรปและสหรัฐฯ​กำลังมีปัญหา แต่ก็โชคดีที่ไทยมีจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่

ประการที่สอง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะหลั่งไหลกลับมาสู่ประเทศไทยนั้นจะช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวได้แน่นอน แม้จะยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคนต่อปี แต่ก็มากพอที่จะพลิกฟื้นธุรกิจด้านโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

ประการที่สาม ถึงแม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในภาวะซบเซาด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 3% ซึ่งคือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การเลือกตั้งทั่วไปจะช่วยให้เศรษฐกิจได้คึกคักกันอีกครั้ง

เพราะการเลือกตั้งเป็นการสร้างความหวังใหม่ให้กับประชาชน และการหาเสียงที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะเอื้อให้เกิดเงินสะพัดในหลาย ๆ ภาคส่วน หากเกิดการเลือกตั้งได้ในไตรมาสแรกของปี ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงต้นปีดีกว่าที่หลายคนคาดกันไว้

โดยรวมจึงถือว่าประเทศไทยน่าจะยังคงเติบโตไปได้แม้ต้องพบเจอกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังประมาทไม่ได้ เราจึงต้องไม่ทำอะไรเกินตัวและหาทางสร้างความมั่นคงให้ตัวเองอย่างดีที่สุด เพราะทั้งวิกฤติและโอกาสก็ยังดำรงอยู่คู่กันเสมอ