ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (3) | พิเศษ เสตเสถียร

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (3) | พิเศษ เสตเสถียร

ประกาศฉบับสุดท้ายคือ ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง การโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 

 1. ในกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวเตือน แจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทมหาชนจำกัดให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบโดยทางหนังสือพิมพ์ เช่น โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุม โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผล ฯลฯ

ตามประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฉบับใหม่นี้ ก็ให้บุคคลอาจใช้วิธีการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่บริษัทมหาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง 

    2. ในการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ก็ให้กระทำโดยการประกาศผ่านเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้เป็นการทั่วไปและสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของเว็บไซต์โดยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวกและไม่เลือกปฏิบัติ เช่น เว็บไซต์ของบริษัทเอง เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

เว็บไซต์ที่ไม่ได้เปิดให้คนเข้าถึงได้เป็นการทั่วไปคือ ไม่ได้เปิดเป็น Public เช่น จะเข้าถึงได้ต้องเป็นสมาชิกเสียก่อน เว็บไซต์อย่างนี้ก็จะเอามาใช้ประกาศโฆษณาไม่ได้

ข้อความหรือเอกสารที่โฆษณานั้นต้องเป็นภาษาไทยและเป็นเอกสารชุดเดียวกัน ต้องมีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับที่ส่งให้แก่บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบ เรียกว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อความก็ต้องเหมือนกันจะมีหลายเวอร์ชั่นไม่ได้ 

    3. การนับระยะเวลาและการมีผลของการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2 ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นโดยให้เริ่มนับแต่วันที่มีการโฆษณานั้น 

เช่น ในมาตรา 101 บัญญัติว่า “ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ให้คณะกรรมการจัดทำเป็นหนังสือนัดประชุม ระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร

โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่จะเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา แล้วแต่กรณี รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าวและจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นและนายทะเบียนทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม  

ทั้งนี้ ให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันประชุมด้วย”กฎหมายให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันประชุม

ดังนั้น การโฆษณาคำบอกกล่าวข้างต้นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องทำไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันประชุมด้วย หรืออย่างเช่นกรณีตามมาตรา 73 ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท”

    ถ้ากรรมการคนไหนยื่นใบลาออกเป็นอีเมล ใบลานั้นก็จะมีผลตั้งแต่วันที่ใบลาถึงบริษัท ซึ่งตามปกติอีเมลก็จะมีผลส่งไปถึง mailbox ของบริษัทในทันที ดังนั้นก็จะถือว่า ใบลาออกนั้นมีผลทันที โดยไม่ต้องดูว่าทางบริษัทได้เปิดอีเมลนั้นดูหรือไม่

กรรมการซึ่งลาออกดังที่กล่าวมาจะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้ อันนี้ไม่ได้เป็นบทบังคับว่าจะต้องแจ้ง เรียกว่าจะแจ้งหรือไม่แจ้งก็ได้ ถ้าจะแจ้งก็ต้องดูว่า นายทะเบียนมี mailbox หรือไม่? ถ้ามี ก็จะ cc: ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไปก็ได้ 

    4. เมื่อมีการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2 แล้ว บุคคลผู้ส่งก็ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานการโฆษณาพร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่มีการโฆษณาไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ส่งบอกกล่าวเตือน แจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใด ๆ ไปทางอิเล็กทรอนิกส์จริง และได้ทำตามกฎหมาย(คือทำตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด)แล้วจริง

อย่างเช่น  การโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมต้องทำไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนวันประชุม บริษัทก็ต้องเก็บหลักฐานที่แสดงว่าบริษัทได้โฆษณาก่อนวันประชุม 3 วันจริง

โปรดสังเกตว่า ตามประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพูดถึงกล่าวเตือน แจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทมหาชนที่เป็นภาษาไทยเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงภาษาต่างประเทศอื่น

ทั้งนี้ก็เพราะตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 6  กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลใดมีหน้าที่หรือจะบอกกล่าวเตือน แจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทใด ให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบ

โดยทางหนังสือพิมพ์ให้บุคคลนั้นโฆษณาข้อความนั้น ๆ ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่าย ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน”

คือกฎหมายไทยก็จะบังคับใช้แต่ภาษาไทยเท่านั้น แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องทำโฆษณาข้อความใด ๆ เป็นภาษาอังกฤษด้วยนั้น ก็เพราะข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์กำหนดเอาไว้ บริษัทมหาชนใดมิได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นภาษาอังกฤษด้วย.