สร้างทักษะเชิงสังคม

สร้างทักษะเชิงสังคม

การมีความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมจะเอื้อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และใช้พลังร่วมกันของคนทั้งกลุ่มผลักดันให้ทุกคนไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้

นอกเหนือจากสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ที่เรารู้จัก IQ และ EQ กันเป็นอย่างดีแล้ว ในสังคมยุคปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาการทำงานร่วมกันยังจำเป็นต้องอาศัย “ความเฉลียวฉลาดเชิงสังคม” หรือ Social Intelligence (SQ) ด้วยอีกปัจจัยหนึ่ง

การจะเติบโตเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องมี SQ สูง เพราะการเก่งแต่เพียงลำพังไม่อาจสร้างความสำเร็จชิ้นใหญ่ได้ 

การมีความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมจะเอื้อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และใช้พลังร่วมกันของคนทั้งกลุ่มผลักดันให้ทุกคนไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้

ทักษะในการสร้างความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และเราสามารถพัฒนาตัวเองให้มี SQ ที่สูงขึ้นได้ โดยอาศัยการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อโดยเริ่มจากการทำงานเป็นทีม ที่ได้เกริ่นไปแล้ว เพราะนี่เป็นด่านแรกของการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น

ประการที่สองคือ ต้องรู้จักทั้งการร่วมมือและการแข่งขันในเวลาเดียวกัน เพราะการทำงานเป็นทีมจะสร้างทักษะในการประสานงานกับผู้อื่น แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องรู้จักแข่งขันกันทั้งภายในและภายนอกเพื่อดึงเอาศักยภาพสูงสุดของทีมงานออกมาให้ได้

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราจำเป็นต้องรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ ซึ่งนั่นก็คือ EQ ที่ต้องรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงผู้คนรอบข้าง ซึ่งยิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็ยิ่งมีอิทธิพลทางความคิดกับคนในทีมงานมากขึ้น เอื้อให้เราได้มีบทบาทในทีมงานมากขึ้นด้วย

ประการที่สาม ต้องรู้จักยอมรับความรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะการทำงานร่วมกัน จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนหลากหลาย ที่ล้วนมีที่มาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคมรอบข้าง สถาบันการศึกษา แนวคิดทางการเมือง ฯลฯ

ความหลากหลายทางความคิดจะทำให้ทั้งทีมงานมีมุมมองที่กว้างขึ้น และมีส่วนผสมทางความคิดที่มีมิติที่ลึกซึ้งมากกว่า แต่ทั้งนี้จะต้องมีการยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ไม่คิดดูถูกความเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่คิดแตกต่างจากเรา

คนที่มีเฉลียวฉลาดเชิงสังคมมักจะเป็นกาวประสานความแตกต่างที่ดี นั่นคือสามารถเชื่อมโยงผู้คนที่มีความคิดเห็นต่างกันให้อยู่ร่วมกันและแสดงความคิดเห็นที่เป็นของตัวเองได้อย่างอิสระ รวมถึงมองหาจุดร่วมที่เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ประการที่สี่ ต้องมีความสามารถในการประนีประนอม เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในทีมงาน ซึ่งอาจบานปลายสู่ความแตกแยกและการปะทะกันทางความคิด จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมย่ำแย่ลงได้

ความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมจะเกิดขึ้นได้เมื่อทีมงานมีการสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคนในทีม และผู้ที่มี SQ สูงก็จะช่วยให้ทีมงานผ่อนคลายด้วยวิธีการต่างๆ เช่นใช้อารมณ์ขันเพื่อลดความขัดแย้ง

เมื่อทุกคนสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็เท่ากับได้แนวคิดใหม่ และมีแนวทางสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยไม่สนใจว่ามันจะเป็นเพียงความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะทุกคนล้วนยอมรับซึ่งกันและกันและมีเป้าหมายเดียวกัน