AWS โชว์วิชั่น ยกระดับ ‘บุคลากร’ ปลดล็อก ศักยภาพ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

AWS โชว์วิชั่น ยกระดับ ‘บุคลากร’ ปลดล็อก ศักยภาพ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

AWS โชว์วิชั่น ยกระดับ ‘บุคลากร’ ปลดล็อก ศักยภาพ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ชี้ 'มนุษย์' คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วง

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ทว่าอีกทางหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลที่มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องทํางานร่วมกันเพื่อให้การฝึกอบรมทักษะมีความสําคัญมากกว่าที่เคย เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสําหรับความท้าทายในปี 2566 ที่จะถึงนี้

แนะยกระดับฝีมือแรงงาน

แอนดรูว์ สกลาร์ หัวหน้าประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น AWS Training and Certification อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) เผยว่า สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนองค์กรที่ได้ย้ายโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมายังระบบคลาวด์ คาดว่าการนําคลาวด์ แมชีนเลิร์นนิง การวิเคราะห์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์มาใช้ในทุกๆ อุตสาหกรรมจะมีส่วนในการสร้างงานจํานวนมาก ขณะเดียวกัน มีส่วนช่วยเศรษฐกิจในทุกๆ ขนาด

ข้อมูลการวิจัยโดย “AWS Cloud Economics” ชี้ให้เห็นว่า ฐานลูกค้าของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งในภาคอุตสาหกรรมการค้าและภาครัฐที่ย้ายข้อมูลมายังคลาวด์ เห็นถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เร็วขึ้น โดยสามารถลดระยะเวลาในการออกสู่ตลาดของฟีเจอร์และแอปพลิเคชันใหม่ๆ ลงประมาณ 28% และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นประมาณ 40%

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทําให้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่มนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วง จากการวิจัยของ AlphaBeta และ เอดับบลิวเอา ระบุว่าพนักงานทุกคนได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัล

โดยพนักงานที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพที่มากขึ้น (88%) มีโอกาสในการเลื่อนตําแหน่งเพิ่มขึ้น (62%) และมีอัตราการจ้างงานที่ดีขึ้น (76%) บุคลากรด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่ยังได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพที่สูงขึ้น (86%) เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น (76%) และมีความพึงพอใจในงานที่มากขึ้น (82%)

เอดับบลิวเอสระบุว่า ด้วยช่องว่างทางทักษะที่กว้างขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว นายจ้างมีความจำเป็นในการเพิ่มทักษะและยกระดับทักษะให้กับบุคลากรของตนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสําหรับทักษะด้านคลาวด์ แมชีนเลิร์นนิง และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับความผันผวนทางการเงิน

สำหรับเอดับบลิวเอสยังคงมุ่งมั่นที่จะทํางานร่วมกับภาครัฐ สถาบัน และอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและช่วยลดช่องว่างด้านทักษะ ด้วยการนําเสนอโซลูชันการฝึกอบรมที่หลากหลายเหมาะกับผู้เรียนทุกกลุ่ม เชื่อว่าแม้ว่าจะมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจแต่การทํางานร่วมกันจะทำให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรมีความเข้าใจด้านดิจิทัลเพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ และทําให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคนี้อย่างยั่งยืน

โลกเปลี่ยน ‘คน’ ไม่เหมือนเดิม

นอกจากการยกระดับศักยภาพบุคลากรแล้ว องค์กรธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยไอดีซี พบว่า ปัจจุบันแนวคิดของลูกจ้างเปลี่ยนไปอย่างมาก แนวทางการทำงานแบบไฮบริดไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งถกเถียงกันอีกต่อไปแล้ว จากการสำรวจพบว่า มีลูกจ้างมากถึง 60% ที่ต้องการทำงานแบบระยะไกล โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปประจำที่สำนักงานตลอดเวลา

ดังนั้น เป็นอีกหนึ่งความท้าทายขององค์กรธุรกิจที่มีหน้าที่สร้างความสมดุลและเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและสถานที่ เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน ทุกวันนี้พบว่ามีสำนักงานหลายแห่งที่เร่ิมออกแบบและปรับโฉมสถานที่ทำงานของตนใหม่ โดยมุ่งปรับปรุงประสบการณ์ในสำนักงานของพนักงาน ยกระดับผลผลิตและการทำงานร่วมกัน

ไอดีซีระบุว่า มีองค์กรในเอเชียและเอเชียแปซิฟิกราว 25% ที่ได้มีการปรับโฉมสำนักงานใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ 70% มีแผนที่จะเริ่มทำภายในระยะเวลา 18 เดือน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือทำให้ประสบการณ์การกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานของพนักงานดีขึ้น พร้อมทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นกว่าเดิม

ด้านการลงทุนจะใช้งบประมาณราว 11-30% ของเงินลงทุนสำหรับการปรับโฉมสถานที่ทำงานใหม่ โดยมุ่งทรานสฟอร์มสำนักงานให้รองรับการทำงานร่วมกันและงานที่มุ่งโฟกัสภายในปี 2567 โดยองค์กรต่างๆ จะโฟกัสไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและซอฟต์แวร์อัจฉริยะสำหรับการจัดการสำนักงาน

ภายใต้เป้าหมายและแรงผลักดันที่ต้องการปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รองรับการทำงานแบบผสมผสาน การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร และประหยัดค่าใช้จ่าย