เอกชนผุด ‘ฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม’ พยากรณ์ภัยพิบัติ ‘กรุงเทพฯ’ 100 ปี

เอกชนผุด ‘ฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม’  พยากรณ์ภัยพิบัติ ‘กรุงเทพฯ’ 100 ปี

ประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วนที่ทุกองค์กรทั่วโลก รวมถึงประชาชนทั่วไปต้องตระหนักรู้ และร่วมมือกันขับเคลื่อนงานที่สามารถบรรลุผลได้ชัดเจน พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับภาพรวม...

ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภัยพิบัติหลากหลายมากขึ้น จากความแปรปวนของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน ก่อให้ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก

ทาง “อีเอสอาร์ไอ” และ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมและป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม

โดยการนำความชำนาญของทั้งสองบริษัทมาร่วมพัฒนา “ฮับข้อมูลสภาพแวดล้อม (Urban Hazard Studio)” เพื่อพยากรณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึง 100 ปีข้างหน้า

ไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำท่วม มลพิษ ภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่ภัยแล้งต่างๆ ให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลไปช่วยยกระดับการวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ

พร้อมกันนี้คาดการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชุมชนเมือง โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

วิเคราะห์ผล สะท้อนภาพชุมชน

อีเอสอาร์ไอ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภูมิศาสตร์สารสนเทศ และซอฟแวร์จีไอเอส (ArcGIS) ที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ประมวลผล และแสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ “รูปภาพ” หรือ “แผนที่”

นอกจากนี้ แสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำ Visualization หรือ Analysis เท่านั้น แต่ยังสามารถทำ Prediction เพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น

การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัยและบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยทางศูนย์วิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่ออนาคต เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยในการคาดการณ์เพื่อสะท้อนภาพของชุมชน หากเกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ พร้อมแสดงผลผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งการเก็บข้อมูลวิเคราะห์อนาคตนั้น ต้องทำการติดตามและปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยฯ ยังมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล อากาศ พื้นดิน น้ำแข็ง และสิ่งมีชีวิต โดยผ่านแพลตฟอร์มข้อมูล “Earth Pulse”

ประเดิมพื้นที่เสี่ยง ‘น้ำท่วม’

สำหรับฮับข้อมูลที่พัฒนาร่วมกันระหว่างอีเอสอาร์ไอและ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ได้เริ่มต้นเปิดตัวด้วยการคาดการณ์พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลระดับน้ำบนแผนที่ ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ ซึ่งมี “รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์” ผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC : Intergovernmental Panel on Climate Change) เป็นที่ปรึกษา

โดยใช้ชุดข้อมูลปริมาณน้ำฝนในรอบ 100 ปี ที่ทำให้น้ำเหนือหลากล้นจากแม่น้ำแล้วไหลบ่าลงมา รวมถึงชุดข้อมูลจาก ArcGIS Living Atlas เช่น ค่าระดับน้ำที่แม่น้ำ ค่าความสูงพื้นที่ (DEM) ค่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (Sea Level Rise)

รวมไปถึงจากรายงานล่าสุด ฉบับที่ 6 (IPCC-AR6) พายุเฮอริเคนแบบเรียลไทม์ และนํามา Visualization ผ่านแอปพลิชันที่พัฒนาด้วยซอฟต์แวร์จากอีเอสอาร์ไอเพื่อเปลี่ยนข้อมูลที่ซับซ้อน และหลากหลายให้เข้าใจง่าย

นอกจากจะแสดงผล ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์แล้ว จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้ยังทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่อีกด้วย เช่น น้ำท่วมบริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนด้านต่างๆ เช่น การวางผังเมือง การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ

การดี ระบุว่า พันธกิจของ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มุ่งศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่ออนาคต เพื่อสร้างอนาคตที่ดี ให้กับมนุษยชาติ โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตเพื่อสะท้อนภาพของการอยู่อาศัย การทํางาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง การคมนาคมขนส่ง และบริบทของความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน วิเคราะห์ข้อมูล สํารวจและคาดการณ์ พร้อมสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือกับนักอนาคตศาสตร์ระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมไปถึงเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ เพื่อนําไปสู่การออกแบบอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกัน