น้ำท่วม ยังอ่วม! เจาะเบื้องหลัง 'ทีมวิศวกร ดีแทค’ ภายใต้วิกฤติอุทกภัย

น้ำท่วม ยังอ่วม! เจาะเบื้องหลัง 'ทีมวิศวกร ดีแทค’ ภายใต้วิกฤติอุทกภัย

สัญญาณมือถือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต มีความสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิต เจาะเบื้องหลัง "ทีมดีแทค" ลุยเข้าดูแลสถานีฐานฝ่า น้ำท่วม ไฟรั่ว งู สัตว์อันตราย หลังหลายจังหวัดยังประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก

ดีแทค ส่งทีมวิศวกรโครงข่ายลงพื้นที่น้ำท่วมต่อเนื่อง หลังปี 65 สถานการณ์น้ำยังอ่วมไม่น้อยกว่าปี 54 ชาวบ้านเดือดร้อนหลายจังหวัด ลุยตรวจสอบสถานีฐานและประเมินความเสี่ยงของระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบต่ออุปกรณ์สื่อสาร หวังสัญญาณให้บริการมือถือต่อเนื่องบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ล่าสุดเตรียมพร้อมภาคใต้รับมือแนวโน้มน้ำท่วมฉับพลันหลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเตือนเฝ้าระวัง

สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต บางแห่งน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ยากต่อการดูแลรักษาสถานีฐาน บางพื้นที่ต้องพายเรือเข้าไปยังสถานีฐาน 

"ชัยยศ สิทธิราช" ฝ่ายปฏิบัติการโครงข่ายดีแทค กล่าวว่า การดูแลรักษาสถานีฐานให้ใช้งานได้ปกตินับเป็นอีกหนึ่งความ "ท้าทายทางวิศวกรรม" ไม่มีสูตรสำเร็จและต้องอาศัยประสบการณ์ของคนหน้างานในการแก้ไขปัญหา นอกจากน้ำท่วมจะมีอันตรายต่อการปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมสูง ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ที่สำคัญคือ "สัตว์" ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจทำให้สถานีฐานไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอันตรายเพราะหนีน้ำท่วมเข้าไปทำรังในตู้ควบคุม

น้ำท่วม ยังอ่วม! เจาะเบื้องหลัง \'ทีมวิศวกร ดีแทค’ ภายใต้วิกฤติอุทกภัย

"ที่ผ่านมาเจอทั้งงูเห่า และงูเขียวหางไหม้ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน พอน้ำท่วมงูก็อาจจะหนีน้ำไปอาศัยตามเสาและตู้อุปกรณ์ของสถานีฐาน ส่วนสถานีฐานบางแห่งตั้งอยู่ในป่า ต้องนั่งเรือลุยน้ำท่วมเข้าไปถึง 1 กิโลเมตร บางครั้งเรือต้องผ่านดงกล้วยหรือพื้นที่รกชัฏ เราต้องเคาะเสียงดังนำทางเสียก่อน เพื่อให้งู ตะขาบ หรือสัตว์เลื้อยคลานสารพัดที่มีอันตรายหนีไป และไม่ตกลงมาบนเรือที่แล่นเข้าไปที่สถานีฐานนั้นๆ" ชัยยศ กล่าว

การออกปฏิบัติการในพื้นที่น้ำท่วมของทีมดีแทคเพื่อดูแลสัญญาณมือถือ ต้องเผชิญกับอันตรายรอบตัว ความท้าทาย และสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้น ในการทำงานก็จะต้องปฏิบัติตามกฎบริษัทว่าด้วยอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (HSSE) โดยจะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน หมวกนิรภัย เสื้อสะท้อนแสง ในกรณีของน้ำท่วมก็จะมีไม้วัดไฟรั่วเพิ่มเติมเข้ามา รวมถึงเสื้อชูชีพ และชุดเอี๊ยมกันน้ำ ทุกอย่างต้องรัดกุมเพราะถ้าพลาดอาจหมายถึงความปลอดภัยของชีวิต

น้ำท่วม ยังอ่วม! เจาะเบื้องหลัง \'ทีมวิศวกร ดีแทค’ ภายใต้วิกฤติอุทกภัย

ทั้งนี้ หลายพันครัวเรือนที่เผชิญกับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือน การสื่อสารยิ่งมีความสำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตในการรับมือกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้ทีมวิศวกรของดีแทคต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อให้สถานการณ์ของผู้ใช้งานไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้

กนกพร ทองประเสริฐ ชาวบ้านในชุมชนเพนียดคล้องช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติภัยน้ำท่วมมาเกือบ 2 เดือน กล่าวว่าแม้ชุมชนที่เธออยู่อาศัยจะเผชิญกับภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปี แต่ในปีนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากเทียบเท่ากับปี 2554 โดยมีระดับน้ำท่วมสูงราว 2 เมตรหรือมิดหลังคาบ้านชั้น 1 ขณะที่ช่วงเวลาของภัยพิบัตินั้นนานขึ้นนับเดือน จากปกติไม่กี่สัปดาห์น้ำก็ลดระดับลงแล้ว แต่ช่วง 2 ปีมานี้ สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติน้ำท่วมสูงขึ้นและนานขึ้น

ความเสี่ยงจากน้ำท่วมกับภารกิจดูแลสถานีฐาน

กิตติพงษ์ กิจสนาโยธิน หัวหน้าสายงานปฏิบัติการโครงข่ายดีแทค ฉายภาพการทำงานของทีมเพื่อดูแลระบบสื่อสารว่า "สถานีฐาน" ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้บริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ในภาวะปกติ จะมีการดูแลรักษาสถานีฐานปีละ 2 ครั้ง หรือที่เรียกว่า Routine Preventive Maintenance: RPM ซึ่งจะมีการตรวจเช็คเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในสถานีฐานว่าการทำงานเป็นปกติ และทำความสะอาดพื้นที่บริเวณโดยรอบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันการบุกรุกจากทั้งมิจฉาชีพและสัตว์ร้าย

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ทางทีมวิศวกรจะมอนิเตอร์อยู่ตลอดและมีทีมงานประจำในพื้นที่ เมื่อได้ข้อมูลแน่นอนแล้วก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจ อย่างในกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของไทยตอนนี้ ทีมวิศวกรจะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของสถานีฐาน ดีแทคได้เข้าดูแลทุกพื้นที่ทั่วไทยที่เกิดน้ำท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวมทั้งภาคใต้ที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมฉับพลันซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้เตือนเฝ้าระวัง

ภาณุพงษ์ ปิยัสสพันธุ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการโครงข่ายภาคกลางและภาคตะวันออก ผู้ซึ่งดูแลสถานีฐานของดีแทค 19 จังหวัดในภูมิภาคอธิบายเสริมว่า พื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่ปีนี้ ระดับน้ำค่อนข้างสูงเทียบเท่ากับเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 อย่างในกรณีสถานีฐานที่ลงพื้นที่อยู่นี้ ตั้งอยู่ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากแม่น้ำน้อยเพียง 100 เมตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม สถานีฐานดังกล่าวจึงมีการยกระดับความสูงของตำแหน่งที่ติดตั้งตู้ BTS และ MDB ขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วม

"ไฟฟ้า" ก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานีฐานทำงานได้ ซึ่งโดยปกติจะซัพพลายมาจากการไฟฟ้าฯ โดยตรง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่การไฟฟ้าฯ ตัดกระแสไฟ ทางทีมก็จะนำเครื่องปั่นไฟลงไปสำรองแทน หรือหากสายไฟเบอร์ออพติกขาด ก็จะต้องมีการซ่อมแซม

"ในภาวะวิกฤตอย่างน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือนเช่นนี้  สัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตยิ่งมีความสำคัญมาก ผู้ประสบภัยอาจเจอปัญหาได้ทุกเมื่อ เช่น อุบัติเหตุ สุขภาพ หรือถูกสัตว์มีพิษทำร้าย โดยเฉพาะสัตว์อันตรายที่มักหนีน้ำท่วมมาขึ้นบ้านเรือน ดังนั้น จึงต้องดูแลรักษาและซ่อมแซมให้สถานีฐานให้พร้อมเสมอ โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันสถานีฐานของดีแทคให้บริการได้เหมือนปกติ เพราะมือถือจะต้องใช้ได้ทุกเวลาไม่ว่าจะแจ้งเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ" ภาณุพงษ์ กล่าวในที่สุด

น้ำท่วม ยังอ่วม! เจาะเบื้องหลัง \'ทีมวิศวกร ดีแทค’ ภายใต้วิกฤติอุทกภัย