รู้จัก Double Vote เสียงชี้ขาด "ดีลควบรวมทรู-ดีแทค"

รู้จัก Double Vote เสียงชี้ขาด "ดีลควบรวมทรู-ดีแทค"

เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดีลทรู ดีแทค มีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ตามที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ดีแทค ที่ประชุม กสทช. ได้มีการหารือ อภิปราย รวมถึงแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่วมกันในทุกๆ ด้าน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 11 ชั่วโมง จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีโหวตลงมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจดังกล่าว

ถ้าอ่านในรายละเอียดของผลการประชุมจะพบว่า เสียงการลงคะแนนในขั้นแรกเท่ากันที่ 2 เสียงคือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์

มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปีดังกล่าว

 

ส่วนที่ประชุมเสียง 2 เสียง ได้แก่รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภัชลาศัย และศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว

ส่วนอีก 1 เสียง คือพลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของดออกเสียง โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง ดังนั้น ทำให้เสียง โหวตลงมติ เท่ากันที่ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง

อนึ่ง เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้กลายเป็น 3:2

ผู้สื่อรายงานว่า จากการดูระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 14 มี.ค. 2555 

หมวด 6 เรื่องการลงมติ

ข้อ 40 ในการประชุมทุกครั้ง ให้ประธานสรุปประเด็นการประชุมพร้อมทั้งมติที่ประชุมในชั้นต้น หากไม่มีกรรมการผู้ใดคัดค้าน ให้ถือเป็นมติคณะกรรมการในกรณีที่มีกรรมการคัดค้านในประเด็นใดที่ประธานกล่าวสรุปตามความในวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อ 41
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมตามความในข้อ 4 วรรค 2 ให้ใช้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27
(19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58ให้ใช้เสียงข้างมาก
ของกรรมการผู้มาประชุม

(2) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นตามความในต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดหากคณะกรรมการเห็นว่าประเด็นใดตามความใน ข้อ 1 เป็นประเด็นสำคัญอาจกำหนดให้ประเด็นนั้นต้องได้รับมติพิเศษก็ได้

"ในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด"

ข้อ 42 ในการลงมติเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จะต้องกระทำโดยมติของที่ประชุมและต้องเปิดเผยรายงานการประชุม พร้อมทั้งผลการลงมติของที่ประชุมทั้งรายบุคคลและทั้งคณะให้สาธารณชนทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน และโดยวิธีการอื่นที่เหมาะสมตามที่ กสทช. ประกาศกำหนด

ข้อ 43 การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผย เว้นแต่เมื่อที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นชอบให้ลงคะแนนลับ
การออกเสียงลงคะแนนเปิดเผยและการออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ประธานเป็นผู้กำหนดวิธีปฏิบัติโดยความเห็นชอบของที่ประชุมเป็นครั้ง ๆ ไปการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันหรือกระทำล่วงหน้ามิได้

ข้อ 44 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมตามวาระทุกครั้ง ประธานอาจมอบหมายให้เลขาธิการสรุปมติของคณะกรรมการให้ที่ประชุมทราบอีกครั้ง