พลิกประวัติ 5 อรหันต์กสทช. วัดใจโหวตดีลทรู-ดีแทคพรุ่งนี้

พลิกประวัติ 5 อรหันต์กสทช. วัดใจโหวตดีลทรู-ดีแทคพรุ่งนี้

บอร์ดชุดนี้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 และในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) จะครบ 6 เดือนเต็มที่บอร์ดเข้ามาทำงาน และวันเดียวกันที่บอร์ดจะลงมติชี้ขาดดีลทรู-ดีแทคว่าจะอนุญาตให้การควบรวมแสนล.นี้ได้ไปต่อหรือไม่

พลันที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2565 

โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 

1.ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)
2. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
3. ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ (ด้านกิจการโทรทัศน์)
4. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
5. รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)

สำหรับ กสทช. ชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

พลิกประวัติ 5 อรหันต์กสทช. วัดใจโหวตดีลทรู-ดีแทคพรุ่งนี้

โดยการทำงานตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา บอร์ดกสทช.ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนเพียง 1 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 ในวาระการทำงานครบรอบ 3 เดือน

ซึ่งระบุว่า บอร์ดกสทช.ชุดนี้จะเร่งนำเทคโนโลยี 5G พัฒนาระบบ Telemedicine จัดระเบียบและนำสายสื่อสารลงดิน เร่งแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ SMS หลอกลวง เพิ่มการเข้าถึงบริการ โครงข่ายโทรคมนาคมและ ICT โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่จะสนับสนุนและรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้กลุ่มเปราะบาง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และสร้างองค์ความรู้ยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล 

ส่วนประเด็นเผือกร้อนที่รับภารกิจต่อมาจากบอร์ดกสทช.ชุดที่แล้ว ในประเด็นการพิจารณาการขอรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บอร์ดได้มีการมติวางโรดแมปการทำงานโดยการทำงาน โดยมีมติการประชุมบอร์ดในครั้งแรกคือ 27 เม.ย. 2565 ระบุว่า ประชุม กสทช.ชุดใหม่ ซึ่งประชุมเป็นครั้งแรกโดยตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย , คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ,คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์
 

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช.และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

"ทางกสทช.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ครบถ้วนและรอบด้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยดูทั้งข้อกฎหมาย และผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายวางใจได้"

จากนั้นบอร์ดใช้เวลาตลอด 2 เดือนในการดำเนินการดังกล่าว และได้เคยระบุว่าพร้อมจะลงมติเรื่องการควบรวมในวันที่ 3 ส.ค. 2565 แต่ก็เจอโรคเลื่อนโดยบอร์ดลงมติว่า ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอในการจะตัดสินใจ ซึ่งระบุว่า หลังจากได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. ทางบอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คน มีความเห็นร่วมกันว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นอื่นๆ

ต่อมาก็บอร์ดกสทช.ยังมีคำถามเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาดีลนี้ ว่าบอร์ดมีอำนาจในการดำเนินการได้หรือไม่ โดยได้ลงมติส่งจดหมายไปสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 ครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำตอบเดิมว่า สำนักงานฯกฤษฎีกาไม่ขอออกความเห็นในเรื่องดังกล่าว เพราะประเด็นการพิจารณาดีลควบรวมมีข้อพิพาทค้างอยู่ในชั้นของศาลปกครอง

จากนั้นบอร์ดกสทช.ได้ระบุว่าจะลงมติตัดสินดีลในวันที่ 12 ต.ค.ทีผ่านมา แต่ท้ายที่สุดก็ออกมาระบุว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ SCF Associates จะส่งรายงานที่มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการควบรวมมายังสำนักงานกสทช.ในวันที่ 14 ต.ค. 2565 ดังนั้น จึงสรุปว่าจะขอลงมติการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 20 ต.ค.นี้ 

 
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวม ประวัติของกรรมการ กสทช.ทั้ง 5 ราย มีดังต่อไปนี้  

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ 

เกิดวันที่ 6 มกราคม 2503 อายุ 61 ปี  

ประวัติการศึกษา 

-แพทย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์หัวใจ Kaiser Permanente Medical Center, Los Angeles, California ประเทศสหรัฐอเมริกา 
-แพทย์เฉพาะทาง การสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยและรักษา Hospital of the Good Samaritan, Los Angeles,California ประเทศสหรัฐอเมริกา 
 
 ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
-อาจารย์ประจําสาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง ปัจจุบัน)
-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2562)

รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย

เกิดวันที่ 11 มกราคม 2500 อายุ 65 ปี  

ประวัติการศึกษา 

-เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยรามคําแหง
-M.A. (Agricultural Development Economics), Australian National University
-Ph.D. (Economics), Australian National University 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ.2560)
-กรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2547)
-กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2555)

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

เกิดวันที่ 24 มีนาคม 2506 ปัจจุบันอายุ 58 ปี 

การศึกษา

-ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งกองทัพสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ นครมิวนิค 
-ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งกองทัพสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ นครมิวนิค
-ปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-ผู้อํานวยการกองแผนและวิศวกรรม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555) 
-รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค (ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2562) 
-รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค (ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ถึง ปัจจุบัน)

ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต 

เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 2510 อายุ 54 ปี  

ประวัติการศึกษา 

-อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-M.A. (Communication) University of Hawaii at Manoa ประเทศสหรัฐอเมริกา 
-Ph.D. (Communication) Simon Fraser University ประเทศแคนาดา 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-Reporter-rewriter : หนังสือพิมพ์ The Nation (ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2533) 

-อาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง ปัจจุบัน) 
รองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 

เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 อายุ 45 ปี 

ประวัติการศึกษา 

-ครุศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
-ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตการพัฒนาสังคม การวิเคราะห์และวางแผนทางสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2557) 
-สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) (ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560) 
-กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ตามพระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ถึง ปัจจุบัน)