ถอดรหัส ‘โมบิลิตี้ ดาต้า’ สู่การพัฒนานโยบายสาธารณะยุคข้อมูล

ถอดรหัส ‘โมบิลิตี้ ดาต้า’ สู่การพัฒนานโยบายสาธารณะยุคข้อมูล

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบทำให้สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนมีการนำ “ข้อมูลบิ๊กดาต้า” มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย

ขณะที่ภาครัฐในหลายประเทศได้มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เพื่อต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะกันบ้างแล้ว

ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในต่างประเทศเริ่มมีข้อถกเถียงและการอภิปรายถึงประเด็นการใช้ “mobility data” มาเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบาย

โดย mobility data ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาครัฐและนักวิจัยเข้าใจสถานการณ์ในสังคมได้ดีละเอียด ชัดเจน และฉับไวมากขึ้น หากภาคประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมมีทางออกใหม่ให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ดีแทค และบุญมีแล็บ ได้ดำเนินการวิเคราะห์ mobility data ร่วมกัน พร้อมนำไปสร้างประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายสาธารณะที่มีข้อได้เปรียบด้านขนาดข้อมูล ความรวดเร็วในการรวบรวมข้อมูล ต้นทุนที่น้อยกว่าการได้มาซึ่งข้อมูลแบบสำรวจ 

เชื่อว่าหากขยายผลได้มากขึ้น จะสร้างพลังขับเคลื่อนอันมหาศาลในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

'เวลา’ ตัวแปรสำคัญการพัฒนา

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซีอีโอ บุญมีแล็บ (Boonmee Lab) กล่าวว่า โครงการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำ mobility data มาวิเคราะห์และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครั้งแรกของไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มเติม นำมาพลิกแพลงได้หลายอย่างจนนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

"ในโลกสมัยใหม่ที่ดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และองคาพยพของสังคมอย่างสิ้นเชิง การออกแบบนโยบายสาธารณะควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง" 

ขณะเดียวกัน นำแนวคิดการทำงานแบบ “agile” มาใช้ เพราะหากรัฐยังมีมุมมองต่อนโยบายสาธารณะแบบเดิม ในห้วงระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะตามหลังนานาอารยะประเทศอย่างมาก ยุคที่เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่า ภาครัฐจำเป็นต้องนำเครื่องมือและรูปแบบการทำงานสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ประเดิม ‘เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ’

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า แนวทางการทำงานของภาครัฐได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อการพัฒนาสู่ “Digital Nation” โดยให้ความสำคัญที่ “ข้อมูล” มากกว่า “ระบบไอที”

อย่างไรก็ตาม ยังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะระบบการได้มา และการจัดเก็บข้อมูลนั้นมีความแตกต่าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลของตัวเอง และทั้งหมดต้องคำนึงถึงนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้การออกแบบนโยบายจำต้องให้ทันสถานการณ์ 

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้มาซึ่งข้อมูลที่ทันการณ์สำคัญมาก หากข้อมูลมีการบูรณาการจากหลายแหล่ง วิเคราะห์ได้ถูกจุด ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นๆ มีพลังอย่างมาก”

ที่ผ่านมา แม้การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐยังเผชิญกับความล่าช้าอันเนื่องมาจากการปรับปรุงกฎหมาย แต่รัฐเองก็มีความพยายามในการปฏิรูปข้อมูล ทั้งการจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลบนระบบคลาวด์ หรือการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.)

“ข้อมูลที่เรียลไทม์จะทำให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป้าหมายสำคัญในระยะอันใกล้นี้คือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่มีความสำคัญอย่างมาก”

ก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า จุดยืนของดีแทคต่อการใช้ mobility data คือ การขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อยู่บนสมดุลระหว่างนโยบายความเป็นส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสังคมเละเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปแบบอย่างแท้จริง

โครงการดังกล่าว เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ส่วนก้าวต่อไปคือ การได้รับความเห็นชอบโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบและนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยไปปรับใช้ 

ขณะที่ ปลายทางความสำเร็จคือ การเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีการใช้ข้อมูลและวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคม 

เช่นเดียวกับกรณีนี้ ที่มีความคาดหวังให้ mobility data สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “Civil society”