เจาะแผนโต 'ไลน์ ประเทศไทย' กับคนใช้ 52 ล้านคน คำต่อคำกับ ‘พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา’ !!!

เจาะแผนโต 'ไลน์ ประเทศไทย' กับคนใช้ 52 ล้านคน คำต่อคำกับ  ‘พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา’ !!!

รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา  ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไลน์ ประเทศไทย จำกัด สูตรความสำเร็จฉบับ ซีอีโอ ที่ต้องบริหารแอพพลิเคชั่นใหญ่ มีผู้ใช้ในไทยมากกว่า 52 ล้านคน ตอบโจทย์ชีวิต ธุรกิจ 24 ชม.

“เราน่าจะอยู่เบอร์ต้นๆ ในประเทศ ทุกวันนี้ตัวเลขที่ประกาศทางเป็นทางการ เรามีผู้ใช้อยู่ 52 ล้านคน ไม่ว่าคุณคิดจะทำอะไร ภายใน 24 ชั่วโมง ไลน์ต้องมีโปรดักส์ตอบโจทย์ให้ได้” 

ประโยคแรกของ "ดร.พิเชษฐ" หัวเรือใหญ่ ไลน์ ประเทศไทย แอพพลิเคชั่นที่เกิดจาก “เกาหลี” มาเติบใหญ่ใน “ญี่ปุ่น” และมาใหญ่เอามากๆ ในประเทศไทย

เจาะแผนโต 'ไลน์ ประเทศไทย' กับคนใช้ 52 ล้านคน คำต่อคำกับ  ‘พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา’ !!!

ไลน์ เป็น “เทคคอมพานี” ที่บรรยากาศการทำงานไม่เป็น formal มาก ดังนั้นเรามักเห็น ซีอีโอ ไลน์ ในลุคเสื้อยืด กางเกงยีนส์ ขณะที่พนักงานส่วนใหญ่ อายุไม่เกิน 30 มีสไตล์ที่เป็นของตัวเอง เรียกได้ว่า ที่นี่เป็นแหล่งรวมนักคิดรุ่นใหม่ ที่ผลิตโปรดักส์ตอบโจทย์คนไทยได้ทั้งประเทศ

"เราเน้นเรื่อง ambience หรือ บรรยากาศในการทำงาน เรียกว่า การทำงานที่ให้พนักงานรู้สึกว่า มันไม่มีความ formal แต่คุณสามารถโชว์ความสามารถได้โดยที่ไม่ต้อง formal อายุเฉลี่ยของพนักงานคือ 30 ต้นๆ โจทย์ที่เราต้องการให้พนักงานมาทำ คนกลุ่มนี้ทำได้ดีที่สุด แล้วคนรุ่นใหม่เป็นคนที่เรียกว่า tech savvy สูงมาก ให้โจทย์เขาไป ไกด์เขาไม่ต้องเยอะ เขามีออปชั่นกลับมาดีกว่าที่เราคิดได้อีก" 

เจาะแผนโต 'ไลน์ ประเทศไทย' กับคนใช้ 52 ล้านคน คำต่อคำกับ  ‘พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา’ !!!

ประสบการณ์กับเทคคอมพานีโลก

ย้อนไปช่วงปี 1999 -2000 ดร.พิเชษฐ์ เคยทำงานอยู่ที่ บริษัท ออเรนจ์ เรียกว่า เป็นเทค รุ่นแรกๆ เกี่ยวกับ Telco เป็น Telco รายแรกๆ ที่ทำแบรนด์ดิ้งค่อนข้างแรง

"ชีวิตการทำงานของผมก็ดำเนินไปเรื่อยๆ จากนั้น จนได้เข้ามาทำงานที่บริษัทกูเกิล ประเทศไทย ซึ่งพื้นเพเดิมสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เรียนตรงมาทางนี้ ก็ไปทำสายที่เรียกว่า corporate affair และ government relation ดูด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทำได้ประมาณ 4 ปี ก็ได้โอกาสมาทำงานที่ ไลน์ ประเทศไทย จากนั้นได้โปรโมทให้ขึ้นมาให้เป็น ซีอีโอ ในประเทศไทย ดูภาพรวมทั้งหมดของบริษัท" 

พื้นเพของ "ไลน์“ แท้จริงแล้ว ก่อกำเนิดมาจาก ”เกาหลีใต้" ได้รับความนิยมใน "ญี่ปุ่น" และมาใหญ่มากๆ ในประเทศไทย 

"บริษัทเราเป็น มัลติเนชั่นแนลจริงๆ พนักงานหลากหลาย ไลน์ ประเทศไทยโตได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไลน์ เป็น แชท แอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่า ตอบโจทย์ผู้ใช้ เป็น user centric มากๆ เพราะเราให้มันเป็นได้มากกกว่า แค่ส่งตัวอักษร เราเบรคตลาดด้วย สติกเกอร์ เป็นทูลส์อย่างหนึ่ง แต่ที่เราโตได้รวดเร็ว คือ มันถูกจริตผู้ใช้ รูปภาพ มันแสดงถึงอารมณ์ที่หลากหลาย คนไทยมีทักษะ และมีสเน่ห์ในการสื่อสาร รูปภาพเข้ามาตอบโจทย์ได้ดี ลูกเล่นอะไรต่างๆ ถูกจริตคนไทย ถูกจิตคนไต้หวัน ถูกจริตคนอินโดฯ ถูกจริตคนญี่ปุ่น มันเหมาะกับคนเอเชียอย่างมาก เราเลยโตได้อย่างรวดเร็ว" 

ตอบโจทย์คนไทยมากกว่า 52 ล้านคน 

ในประเทศไทย เชิงการเข้าถึงผู้ใช้ ไลน์ น่าจะอยู่เบอร์ต้นๆ ในประเทศ ทุกวันนี้ตัวเลขที่ประกาศทางเป็นทางการ ไลน์มีผู้ใช้งาน 52 ล้านคน ไม่ว่าคุณคิดจะทำอะไร ภายใน 24 ชั่วโมง ไลน์ต้องมีโปรดักส์ตอบโจทย์ให้ได้

"52 ล้านคน ถ้าไปเทียบกับประชากร 70 ล้านคน ถือว่าเยอะ แต่ยังไปได้มากกว่านี้ แต่ถ้าเราดูปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 52 ล้านคน คือ 90% ในเชิงการทำธุรกิจ การตลาดถือว่าเป็น market dominnance  มีฐานที่ค่อนข้างดีในการต่อยอดทำธุรกิจต่างๆ" 

โจทย์ใหญ่ของไลน์ที่เขาวางไว้ ไม่ใช่แค่แชท แอพพลิเคชั่นอย่างเดียวแน่ๆ แต่ คือโปรดักส์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้ทุกๆ คนได้ 

"ผู้ใช้ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึงผู้ที่ส่งข้อความ ผู้เข้าสู่คอนเทนท์ แต่ผมหมายถึง คนที่ต้องการใช้ไลน์ในการทำ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางธุรกิจ ช่วยเขาค้าขายได้ ช่วยเขาให้มีอาชีพได้ เราเลยมีโปรดักส์เกิดขึ้นมาหลากหลาย เช่น ไลน์สติกเกอร์  ครีเอเตอร์มาร์เก็ต ค่อนข้างโตเร็ว และเป็นอาชีพหลักของน้องๆ หลายคน ไลน์ ชอปปิง โตเยอะมาก เราเห็นพฤติกรรม ของผู้บริโภคที่ชัดเจน เรามีจิ๊กซอว์ทุกอย่าง หลักๆ คือ ไม่ว่าคุณคิดจะทำอะไรภายใน 24 ชั่วโมง ไลน์ต้องมีโปรดักส์ตอบโจทย์ให้ได้ เพราะในภาพรวมความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกๆ 3 เดือน เราต้องเปลี่ยนอยู่เสมอ" 

กลิ่นอายการทำงานผสานญี่ปุ่น - เกาหลี

ดร.พิเชษฐ ยอมรับว่าไลน์ ยังคงใช้วัฒนธรรมองค์กรในแบบญี่ปุ่น ผสมผสานกับ เกาหลี โดยเฉพาะยังมีกลิ่นของความเป็นญี่ปุ่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสไตล์การทำงาน ที่เป็นฮาร์ดเวิร์คกิ้ง คนเอเชียจะค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในเรื่องนี้ 

"สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการทำงานบริษัทเทคมาหลายที่ ไม่ว่าจะ ออเรนจ์ ของอังกฤษ เสิร์ชเอ็นจิ้นที่เป็นของอเมริกันก็ดี รวมถึงไลน์ ในปัจจุบัน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจน ข้อดี ของไลน์ประเทศไทยในการทำงาน คือ เขาจะให้ปรับโปรดักส์ หรือสร้างโปรดักส์ขึ้นมาเอง เพื่อให้สอดคล้อง กับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น ไลน์แชท เป็น mother plattform ใหญ่ เป็นยานแม่ ตรงนี้จะมีทุกประเทศ แต่ภายใต้ไลน์ แชท จะมี โปรดักส์อื่น ซึ่งเป็นแขนขา ซึ่งแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน" 

ต่อยอดจากแชทแอพสู่บริการอื่น 

ซีอีโอ ไลน์ ย้ำตลอดการสนทนาว่า ไลน์ไม่ได้มีไว้เพื่อพูดคุยสื่อสารระหว่างกันเท่านั้น แต่ไลน์ คือ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีบริการหลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ต่อยอดจากแอพแชท ไปสู่ผลิตภัณฑ์ และบริการในด้านอื่นๆ ทั้งบริการด้านการเงินผ่าน "ไลน์ บีเค" บริการชอปปิงออนไลน์ ผ่าน "ไลน์ชอปปิง" หรืออย่างธุรกิจผ่าน "ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเค้าท์" รวมถึง "ไลน์ โอเอ" และศูนย์รวมข่าวสารอย่าง "ไลน์ ทูเดย์"

ไลน์ นิยามตัวเอง ว่าเป็น ไลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ ที่มีระบบนิเวศธุรกิจ ประกอบด้วยบริการที่หลากหลาย บริการนั้นต้องตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน ของผู้คน เทคโนโลยีที่ใช้งานได้สะดวก ตรงใจคนไทย และเป็นบิสิเนส โซลูชั่น ให้กับแบรนด์ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ไลน์แมน บริการหนึ่งเดียวในไทย 

ไลน์แมน เป็นอีกหนึ่งบริการที่เป็นความภาคภูมิใจของไลน์ ประเทศไทย เพราะมีแค่บริการในประเทศไทยประเทศเดียว  “ไลน์แมน เกิดขึ้นในไทย จากไอเดียคนไทย เพื่อคนไทย เราเห็นโอกาสในตอนนั้นว่าฟู้ดดิลิเวอรี่ รายอื่นจะไปโฟกัสในเรื่องร้านอาหาร แต่สิ่งที่ดีมากๆ ในไทย คือ ร้านอาหารที่ขายตามข้างทางที่ผมว่าไทยดีที่สุดในโลก มีเสน่ห์ และอร่อย ไลน์แมน เราโฟกัสตรงนั้น”

ไลน์แมน มียูสเซอร์ อินเตอร์เฟส ที่ใช้งานง่ายทั้งกับผู้สั่ง ไรเดอร์ และร้านอาหาร นับเป็นอินโนเวชั่น ภายใต้ไลน์ใหญ่ อันแรกที่ได้รับเงินลงทุนจากภายนอก และเป็นไปได้ที่จะเห็นไลน์แมนไปให้บริการในประเทศอื่นๆ ด้วย

“ไลน์แมน ถือว่า โตอย่างรวดเร็ว ที่เหลือมันต้องเรียกว่า โอกาสและการแข่งขันในธุรกิจ แต่ตอนนี้ทางทีมก็ยังโฟกัสที่ประเทศไทยอยู่ มีที่ให้โตเยอะมาก ช่วงโควิดความต้องการของผู้บริโภค และผู้ที่ต้องการขายอาหารโตขึ้นมาก ไลน์แมนก็มีทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน” 

จนวันนี้ 'ไลน์แมน วงใน' กลายเป็นยูนิคอร์นรายล่าสุดของประเทศมูลค่าบริษัทหลายหมื่นล้านบาท ในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี 

“ไลน์ บีเค”กับแนวโน้มในอนาคต 

“ไลน์บีเค” เป็นอีกหนึ่งบริการภายในไลน์ยานแม่ เติบโต ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ดี โดยเฉพาะในเรื่องการกู้ยืม บางคนไม่มีสเตทเม้นท์ ไลน์บีเค มาตอบโจทย์ตรงนั้น มีเอไอที่จะวิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรมการใช้เงิน ความน่าเชื่อถือ เครดิตต่างๆ เพื่อปล่อยเงินกู้

"บริการของไลน์ ก็จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายใหม่ อย่าง PDPA เพราะเราเป็นบริการฟินเทค ไลน์เตรียมพร้อมเรื่องนี้มานาน ทุกบริการ เราทำตามกฏหมายมาถูกต้อง ยืนยันว่า เรามีระบบที่เป็นระดับเวิลด์คลาส ในการดูแลปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล มีหลายคนถามว่า เวลาส่งแชท มีคนมาดักอ่านได้ไหม ต้องบอกว่า ไลน์มีระบบเอ็นด์คริปชั่น เรียกว่า เอ็นด์ ทูเอ็นด์ เอ็นด์คริปชั่น ถ้ามีคนส่งข้อมูลมาหาเรา ใครมาดักระหว่างกลาง ถ้าดักได้ เขาจะไม่มีตัวถอดรหัส มันเป็นการรักษาข้อมูลที่เป็นการเข้ารหัส เรียกว่าให้ความมั่นใจกับทุกคนตรงนี้ได้" 

ไลน์กับความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ 

อีกบทบาทหนึ่งของ ไลน์ ในช่วงที่ผ่านมา คือ การเป็นแอพที่ภาครัฐมักนำไปเชื่อมโยงเพื่อให้บริการกับประชาชน ในเรื่องนี้ ดร.พิเชษฐ์ เล่าว่า ไลน์ ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ให้ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐในการนำไลน์ไปใช้เพื่อให้บริการประชาชน

“ดิจิทัลมันช่วยตรงนี้ได้ ไม่ใช่แค่ไลน์ บริษัทเดียว แต่การเอาเทคโนโลยีมาช่วย มันทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้งาน ก็คือ ประชาชน ได้ดีขึ้น โควิด เป็นตัวอย่าง สังเกตว่าคนจะวิ่งไปที่ไลน์ ไม่ว่าจะรวมกลุ่มกันเพื่อไปช่วยคน รวมกลุ่มกันเพื่อไปแชร์ข้อมูล รวมกลุ่มกันเพื่อสื่อสารข้อมูล ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเรา คือ เราต้องการเป็นกลไกช่วยหน่วยงานภาครัฐในการให้บริการประชาชนให้ดีขึ้น"

จริงๆ แล้ว การทำแอพในหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะทำอย่างไรให้คนดาวน์โหลดเอาไปใช้ ขณะที่ "ไลน์" อยู่ในมือของคน 52 ล้านคนอยู่แล้ว ซึ่งโควิดที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นประสิทธิภาพของไลน์ ซึ่งคือ user choice ในการสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้น เขาเชื่อว่า ไลน์ จึงมีโอกาสอีกมากในการเติบโตไปพร้อมภาครัฐ อย่างในญี่ปุ่น ไลน์แทบจะเป็น แพลตฟอร์มหลักสำหรับ ประกันสังคมของญี่ปุ่นในการที่คนเข้าไปดู

ขณะที่ หลังบ้านของ ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเค้าน์ สามารถต่อยอดทำได้ตามความต้องการของผู้ใช้ อย่างที่เห็นช่วงโควิด “หมอพร้อม” ถ้าไม่มีดิจิทัลเป็นทูลส์ การลงทะเบียนอะไรต่างๆ จะยากแค่ไหน

ไลน์จะไม่หายไปเหมือนกับแอพอื่น

เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ไลน์เป็นแอพที่ดำรงอยู่ได้ต่อไป ซีอีโอ ไลน์ บอกว่า กำลังทำอยู่ ผู้ใช้ทุกคนคงอยู่ในกระบวนการที่ทำให้ ไลน์ เป็นมากกกว่า แชท แอพพลิเคชั่น 

“เราพยายาม ตอบโจทย์โดยการ พัฒนาโปรดักส์เรา ใช้คำว่า humanization คือ เอายูสเซอร์เป็นตัวตั้ง แล้วผู้ใช้ต้องการทำอะไร เราจะตอบโจทย์นั้น แต่วันที่เราจะทำอะไร เราจะยึด 2 อย่าง คือ 1.ต้องใช้งานง่าย 2.คนใช้แล้ว ประสบการณ์ หรือ ยูสเซอร์เอ็กซพีเรียน จะต้องดีขึ้น

ลุยสมรภูมิฟินเทค บล็อกเชน

ส่วนการต่อยอด บริการไลน์ ไปสู่โลกใหม่ทางการเงิน ทั้งสกุลเงินดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี่ รวมถึง เอ็นเอฟที ดร.พิเชษฐ บอกว่า การมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว และไลน์ ก็มีไลน์พ้อยต์มาตั้งนานแล้วด้วย 

"คริปโทฯ นั้น ด้วยความที่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยี เราเชื่อว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ดี ให้ซิเคียวริตี้ที่ค่อนข้างดี เชื่อว่าเป็นอะไรที่แอดวานซ์มากที่สุดที่เรามีอยู่ตอนนี้  เราเชื่อในเรื่องบล็อกเชน เราก็จะมีเทคโนโลยีตัวนี้ ที่เราซัพพอร์ตอยู่ ขณะที่ ไลน์ก็มีคริปโทเป็นของเราเอง รวมไปถึงคริปโทเอ็กซ์เชนจ์ เรามีเปิดตัว โตชิ โตชิ เป็น เอ็นเอฟที มาร์เก็ตเพลส จะเห็นในเร็วๆ นี้"  

Painpoint ที่ผ่านมา 

ดร.พิเชษฐ เล่าถึง Painpoint ในส่วนของการทำงานที่ผ่านมาว่า เคยทำงานอยู่สถาบันสิ่งแวดล้อม และมาอยู่ บริษัทออเรนจ์ อยู่ กูเกิล และมาที่ไลน์ แต่ทั้งหมด เขาไม่ได้อยู่ใน role ของ ซีอีโอ หรือ managing director หรือ front man เลย พอได้รับโปรโมทขึ้นมา จึงเป็นควมท้าทาย และเป็น painpoint อย่างหนึ่ง

"ผมจะไม่ค่อยถนัดคุยกับสื่อ หรือเป็น front man ด้วยสายงานของผม การบริหารคนในภาพใหญ่ๆ โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยี ก็ต้องเรียกว่า ได้รับโอกาสที่ดีจากไลน์ ซึ่งก็เป็นความท้าทาย และเป็น painpoint ที่ผมต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง ต้องทำงานหนักขึ้น เกิดชาเลนจ์ขึ้นว่า เราจะบริหารเวลาอย่างไร แต่เราก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็ช่วยได้เยอะ”

เมื่อถามว่า กว่าจะมาเป็น ดร.พิเชษฐ ต้องเสียอะไรไปบ้าง เขาตอบอย่างจริงจังว่า อยากให้มองเป็นเรื่องของ  commitment ดีกว่า 

"ผมไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่ง สมัยเด็กๆ ผมเน้นการมีเพื่อนเยอะๆ เล่นกีฬา แต่ว่า ผมก็ทำได้ในการเรียนหนังสือ แต่ผมพอจบปริญญาตรี ผมรู้สึกอายกับทรานส์คริปต์ของผม ก็เลยตั้งปณิธานตัวเองว่า เวลาไปเรียนปริญญาโท ผมจะทำให้ทรานส์คริปต์ผมมันดูดี ซึ่งผมก็ทำแบบนั้นได้ แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ ผมผันชีวิตออกจากบริษัทเทลโก้ไปอยู่ในหน่วยงานกึ่งๆ ภาครัฐ ไปทำเรื่องนโยบาย ผมต้องหยุดด้านเทค ผมก็ต้อง sacrifie ตัวนั้นไป แต่ผมก็บอกกับตัวเองว่า ต้องเพิ่มแวลู ให้กับตัวเอง ก็เริ่มทำปริญญาเอก เพื่อเติมแวลูให้กับตัวเอง ถามว่าเสียอะไรไปไหม มันเสียเวลาส่วนตัวไปส่วนหนึ่ง แต่ เราก็บริหารจัดการได้ เพราะผมก็ยังเป็นคนที่มีเพื่อน สามารถใช้ชีวิตในช่วงนั้นๆ ได้"

การแข่งขันในอุตฯเทคยัง “ดุเดือด” 

ในตลาดไทย คู่แข่งของไลน์ ไม่ได้มีแค่ในประเทศ ยังมีรายใหญ่ระดับโลก และมีรายใหม่ๆ ที่มีความพร้อม ความท้าทายในอุตสาหกรรมนี้จึงยังสูง  

"ด้วยวิธีที่ไลน์ทำธุรกิจ เราต้องการเป็นไลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ของทุกคน กลายเป็นว่า เราก็ต้องไปแข่งกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ แอดเวอร์ไทซิ่ง โอทีที คอนเทนท์ บิสิเนส มีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ ส่วนในตลาดโลก ก็คล้ายๆ กันอาจจะลงละเอียดไปในสเกลที่ใหญ่ ขึ้น ดังนั้นมันก็เป็นความท้าทายที่ต้องแก้กันเป็นวันต่อวัน แล้วก็ต้องสร้างยุทธศาสตร์ที่ดี ไม่มีสูตรสำเร็จ ที่สำคัญเราต้องเรียนรู้จากคู่แข่งของเราอย่าไป under estimate"