ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล "ญี่ปุ่น" ต้นแบบ

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล "ญี่ปุ่น" ต้นแบบ

เจาะลึก Micro-tourism กับ ดีแทค- สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ แนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ความเป็นจริง แนวคิด “ไทยเที่ยวไทย”  ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาพร้อม “วิกฤติ” เสมอ ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ไข้หวัดนก จนมาถึงล่าสุดวิกฤติโควิด-19 ที่รัฐบาลส่งเสริมผ่านมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

จากการวิเคราะห์ข้อมูล mobility data เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่เกิดจากการวิจัยร่วมกันระหว่าง ดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ พบว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยยังคงเดินทางท่องเที่ยวแบบ “เช้าไปเย็นกลับ”  โดยมีค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 150 กิโลเมตร

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล \"ญี่ปุ่น\" ต้นแบบ

ผลการวิเคราะห์พบว่า เมืองรอง บางจังหวัดมีศักยภาพในการดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับจากพื้นที่โดยรอบได้เป็นอย่างดี เช่น ลำพูน เชียงราย นครศรีธรรมราช สามารถดึงดูดการเดินทางการท่องเที่ยวแบบไปกลับจากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม. ได้ในสัดส่วนสูงถึง 40 – 60 % ของจำนวนทริปทั้งหมด  ขณะที่ค่าเฉลี่ยรวมของกลุ่มจังหวัดเมืองรองมีเพียง 14 % เท่านั้น  

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ Mobility data ชี้ให้เห็นว่า เมืองรองบางจังหวัดสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับให้เดินทางมาเยือนได้ในระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล \"ญี่ปุ่น\" ต้นแบบ

เช่น แม่ฮ่องสอน ระนอง น่าน เพชรบูรณ์ นครพนม  และยังพบว่าเมืองรองบางแห่งมีความสามารถในการดึงดูดปริมาณการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มเมืองรองด้วยกันเองถึง 3 – 5 เท่า เช่น นครนายก ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง   

โดยเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันจะพบว่า จังหวัดที่มีศักยภาพในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับอย่างโดดเด่นในกลุ่มเมืองรองประกอบด้วย 16 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุพรรณบุรี และชุมพร ตามลำดับ

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล \"ญี่ปุ่น\" ต้นแบบ

ผ่าโมเดล Micro-tourism ของญี่ปุ่น

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่ (mobility data) อธิบายว่า

การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับนี้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวภายในประเทศที่สามารถสร้างการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น มีความพยายามโดยภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism หรือการส่งเสริมประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ธรรมชาติ สวนเกษตรกรรม และเมืองเก่าในต่างจังหวัดที่ตั้งอยู่โดยรอบถิ่นที่อยู่ของตนในระยะเดินทางที่ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง (ประมาณ 150 กิโลเมตร)  

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล \"ญี่ปุ่น\" ต้นแบบ

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศคิดเป็น 60% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จึงเกิดเป็นแนวคิดในการ กระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น ภายใต้แนวคิดการส่งเสริม Exchange population หรือ ประชากรที่ก้าวข้ามถิ่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อรับมือกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกัน หลังช่วงปี 2010 เป็นต้นมา ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยแรงงาน และกลุ่มผู้สูงอายุได้หันมาให้ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้มากขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวมองว่า การศึกษาในห้องเรียนและการกวดวิชาเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และความสามารถในการดำรงชีวิตในอนาคต  แต่เป็น “ประสบการณ์” ในการใช้ชีวิตและการเรียนรู้จากการได้พบปะผู้คนในสังคม  พ่อแม่จึงเริ่มพาเด็กออกนอกห้องเรียน ไปตกปลา เรียนรู้การทำเกษตร จักสานและอุตสาหกรรมต่างๆ 

“การก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ประกอบกับการกระตุ้นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำให้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นต่างๆ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในกระบวนการผลิตของตน เพื่อดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับในช่วงเสาร์อาทิตย์ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งพ่อแม่ที่ได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ ขณะที่ลูกๆ ก็ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนต่างท้องที่ เกิดเป็นกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism ตามเมืองและชุมชนต่างๆ ” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ อธิบาย

Micro-tourism ลดความเปราะบางภาคท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้มีต้นทุนทางฝั่งซัพพลายหรือผู้ให้บริการมากนัก ในปีช่วงปี 2000 การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงมีนโยบายในการใช้ Service Design หรือการออกแบบบริการ ซึ่งหมายถึง การออกแบบรูปแบบบริการให้มีกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถสามารถมีส่วนร่วมได้ในกระบวนการผลิต

ตัวอย่างเช่น การทำเส้นอูด้งที่ผลิตจากข้าวในแต่ละพื้นที่ทำให้เกิดเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ผักและมิโซะในแต่ละพื้นที่ทำให้ซุปที่มีรสชาติแตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นมี “อูด้ง” ที่ขึ้นชื่อของเป็นของตัวเอง  

การพัฒนา Micro-tourism ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดกิจกรรมการทำเส้นอูเด้งโดยนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมเรื่องวัตถุดิบและอุปกรณ์ ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำเส้นอูด้ง เกิดการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้แบบเช้าไปเย็นกลับที่วัยแรงงาน ครอบครัว ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม ระลึกความหลัง ประเพณีและวัฒนธรรมทางอาหาร

นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากจังหวัดข้างเคียงเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำในพื้นที่บ่อยๆ หลายเมืองในประเทศญี่ปุ่นจึงเกิดการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้มีทัศนียภาพสวยงาม ตอบสนองความต้องการท่องเที่ยวในยุคแห่งคอนเทนท์ที่ต้องรูปถ่ายสวยๆ จากการท่องเที่ยวแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และยังนำมาสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก

ดีแทค ผนึกพันธมิตรดึง mobility data ปลุกท่องเที่ยว ดึงโมเดล \"ญี่ปุ่น\" ต้นแบบ

เช่น ทางเดินและทางจักรยาน  ระบบขนส่งมวลชน  ห้องน้ำสาธารณะ การพัฒนาคุณภาพการบริการในร้านค้าและร้านอาหาร รวมไปถึงการผลิตของฝากประจำเมือง ดังที่เรามักพบเห็นกันเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น  สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดโดยรอบเท่านั้น ยังสร้างความภาคภูมิใจและความสะดวกสบายให้กับประชาชนในเมืองอีกด้วย

“ผมมองว่า เมืองรองอาจจะต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Micro-tourism อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้  อย่างไรก็ตามภาคส่วนต่างๆ ควรต้องร่วมมือกันดำเนินการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วในช่วงการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19นี้ เพราะตอนนี้ความต้องการด้านการท่องเที่ยวกำลังเพิ่มขึ้นอยู่ทั้งภายในประเทศและในตลาดโลก หากเราสามารถช่วยกันหายุทธวิธีในการกระจายนักท่องเที่ยวไปพร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาฐานการท่องเที่ยวในเมืองรอง จะช่วยให้เรามีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต”  

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ยังกล่าวย้ำอีกว่า “และนี่คือ “Turning point” สำคัญของการรื้อโครงสร้างการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานรากของไทย ก่อนที่สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะแบบเดิมในยุคก่อนโควิด-19”