“ดีอีเอส”รอสัญญาณรัฐบาลดัน“เอ็นที”ประมูลดาวเทียม

“ดีอีเอส”รอสัญญาณรัฐบาลดัน“เอ็นที”ประมูลดาวเทียม

ดีอีเอสเร่งหาข้อสรุปส่งหนังสือยืนยันร่วมวงประมูลดาวเทียมต่อกสทช. ก่อน 12 ก.ย. นี้ เหตุเงื่อนไขประมูลดาวเทียมแบ่งความจุให้รัฐไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หวังเดินหน้าไอพีสตาร์บนวงโคจรต่อเอง เพราะมีศักยภาพทำธุรกิจได้ ส่ง “เอ็นที” หาข้อสรุปเอกชนร่วมลงทุน

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะคณะทำงานจัดทำนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 12 ก.ย. 2565 นี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพ็คเกจ) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง) 

ดังนั้น คณะทำงาน และกระทรวงดีอีเอส ต้องส่งหนังสือแสดงความต้องการเพื่อร่วมประมูล วงโคจรดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการประมูลเอง และการร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะการประมูลให้ชัดเจน

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นทีได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ให้เป็นผู้บริหารกิจการดาวเทียมของชาติ ซึ่งขณะนี้วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก หรือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่ได้รับทรัพย์สินหลังจากหมดสัญญาสัมปทานมาจากบมจ.ไทยคม อายุทางวิศวกรรมจะใช้ได้ถึงปี 2566 โดยอาจจะยืดอายุเวลาออกไปได้ 3 ปี ได้เพื่อรอการสร้างดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนดวงเดิม

“ดีอีเอส”รอสัญญาณรัฐบาลดัน“เอ็นที”ประมูลดาวเทียม
 

ความจุไม่พอ-จำต้องประมูล

เขา กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ ต้องประมูลให้ได้ เพราะรัฐบาลต้องมีความจุของดาวเทียมให้เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติ ความมั่นคง แต่ต้องไม่กระทบต่อเอกชน เพราะรัฐบาลต้องการใช้งานแค่ 2% เท่านั้น 

ดีอีเอสมีหน้าที่หารือกับกสทช.ขณะที่ เอ็นทีมีหน้าที่เจรจากับเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูล ว่าหากลงทุนร่วมกันแล้วจะมีขอเสนอให้เอกชนอย่างไรบ้าง 

ทั้งนี้ ในร่างประกาศประมูลดาวเทียมดังกล่าว ข้อ 30 ระบุว่าให้ผู้ชนะการประมูลแบ่ง 1 ช่องสัญญาณ (ทรานสปอนเดอร์) ให้ภาครัฐใช้เพื่อความมั่นคงและประโยชน์สาธารณะ และหากเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ต้องแบ่งความจุให้รัฐ 1% หากดาวเทียมมีขนาด 100 GB แบ่งมา 1% ให้รัฐใช้ 1 GB เพียงพอ แต่ไทยคม 4 มี 45 GB หากแบ่ง 1% จะได้เพียง 0.45 GB ไม่เพียงพอ เพราะรัฐใช้งานอยู่ที่ 0.80 GB

ดาวเทียมแห่งชาติหนุนภารกิจรัฐ

โดยคณะทำงานมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอโครงการดาวเทียมแห่งชาติ รวมถึงมีหน้าที่จัดทำข้อมูลการใช้ข้อมูลดาวเทียมประเภทต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนจัดทำนโยบายและแผนการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมแต่ละประเภท โดยแผนดาวเทียมแห่งชาติก็เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ได้มีการจำแนกข้อมูลดาวเทียมตามประเภทของดาวเทียมได้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.ดาวเทียมสื่อสาร 2.ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร 3.ดาวเทียมระบุพิกัด 4.ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (พยากรณ์อากาศ) และ 5.ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อมูลดาวเทียมมีความสำคัญกับการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐ สามารถนำมาใช้ประกอบการวางแผน จัดทำนโยบายต่าง ๆ ให้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีในทุกมิติ
 

คาดเคาะประมูลได้ไม่เกินธ.ค.

สำหรับแผนการประมูลดาวเทียมซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนั้น พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวระบุว่า พอสิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. แล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการกสทช.ภายในเดือนต้นเดือน ต.ค. 2565 และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในปลายเดือน ต.ค. 2565

คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือน ธ.ค.2565 รับประกันว่าการประมูลจะเกิดขึ้นได้จริงเพราะเงื่อนไขมีการระบุราคาเริ่มต้นสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล 1 ราย และ ราคาเริ่มต้นสำหรับผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย คาดมีผู้เข้าร่วมประมูล 2-3 ราย

สำหรับการแพ็คเกจดาวเทียมที่จะจัดประมูลประกอบด้วย 5 แพ็คเกจ รวมราคาเริ่มต้นทั้งสิ้น1,841 ล้านบาท ประกอบด้วย

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 522 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) หากเข้าร่วมประมูล 1 รายราคาเริ่มต้น 503 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาท

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E) หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 547 ล้านบาท หากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาท

ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาท และ ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) หากเข้าร่วมประมูล 1 ราย ราคาเริ่มต้น 259 ล้านบาทหากเข้าร่วมประมูลมากกว่า 1 ราย ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท