‘หัวเว่ย’ เปิดยุทธศาสตร์ 'GUIDE' ยกระดับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัลโลก’

‘หัวเว่ย’ เปิดยุทธศาสตร์ 'GUIDE' ยกระดับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัลโลก’

หัวเว่ย จุดประกายความคิดที่จะช่วยโลกกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วย 3 เครื่องมือสำคัญ ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของระบบประมวลผล และความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

“เศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และคาดว่าภายในปี 2565 มากกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ หรือจีดีพีทั้งโลก จะถูกเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบดิจิทัล ในหลายประเทศและภูมิภาคอย่าง เช่น จีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ต่างประกาศแผนการลงทุนจำนวนมหาศาลสำหรับรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และในฐานะผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางไอซีที ผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมจะก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น ในด้านการเป็นผู้นำการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต” 

นี่เป็นประโยคที่เป็น “คีย์เวิร์ดสำคัญ” ของ "ไรอัน ติง" กรรมการบริหารของหัวเว่ย และประธานกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในการกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “Lighting up the Future” หรือ “จุดประกายแห่งอนาคต” ในงานประชุมระดับโลก Huawei Day0 Forum

ผู้บริหาร หัวเว่ย จุดประกายความคิดที่จะช่วยโลกกำหนดอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล บอกถึงเครื่องมือสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ ความหลากหลายของระบบประมวลผล และความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

ที่สำคัญ เขาได้เรียกร้องให้กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมร่วมดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ “GUIDE” ซึ่งเป็นแผนแม่บททางธุรกิจของหัวเว่ย เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

ไรอัน บอกว่า ปัจจัยของการเพิ่มความหนาแน่นการเชื่อมต่อนั้น จะทำให้กลุ่มผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพิ่มจำนวนฐานผู้ใช้เทคโนโลยี 5จี พร้อมทั้งขยายความครอบคลุมของธุรกิจของพวกเขาได้ และด้วยการเพิ่มความหลากหลายทรัพยากรด้านการประมวลผล จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโครงข่ายพัฒนาการผสานระหว่างการเชื่อมต่อและระบบไอที ยกระดับการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในระดับองค์กร และสร้างการเติบโตใหม่ 

สำหรับด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โซลูชั่นด้านไอซีทีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่ๆ อย่างโซลูชั่นหัวเว่ยจะช่วยเพิ่มศักยภาพโครงข่ายและลดใช้พลังงานต่อบิต เพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

5จี ได้พัฒนามาอย่างยาวไกล

ขณะที่ การเปิดใช้งานเครือข่าย 5จี ในเชิงพาณิชย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นับแต่นั้นมา จำนวนของเครือข่าย ผู้ใช้งาน และอุปกรณ์ด้าน 5จี ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2564 มีผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมกว่า 200 ราย ที่เปิดให้บริการเครือข่าย 5จี ในเชิงพาณิชย์ ให้บริการผู้ใช้งานบนเครือข่าย 5จี มากกว่า 700 ล้านคน 

ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ 5จี ที่ได้รับการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากกว่า 1,200 ชิ้น ฐานผู้ใช้งานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งผลตอบแทนทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ให้บริการทางโทรคมนาคม อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการขยายโครงข่ายอย่างไม่หยุดยั้ง

ไรอัน ยังได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของเครือข่าย 5จี จากผู้ให้บริการทางโทรคมนาคมหลากหลายราย และแสดงให้เห็นว่าแอปพลิเคชัน 5จี ใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และสื่อวิดีโอรูปแบบใหม่ สามารถส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ใช้งานอย่างไร 

นอกจากนี้ โมเดลการกำหนดราคาของการใช้บริการเครือข่าย 5จี ที่ยืดหยุ่นยังเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ใช้งาน และผู้ให้บริการเครือข่าย และยังช่วยผลักดันให้ฐานผู้ใช้งานเครือข่าย 5จี สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วย

ในจีนได้ติดตั้งเครือข่าย 5จีทูบี (5G to B) หรือ 5จี สำหรับการใช้งานระดับองค์กรธุรกิจ แบบส่วนตัวในวงกว้างสำหรับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดยภายในสิ้นปี 2564 หัวเว่ยได้ลงนามในสัญญา 5จีทูบี  เชิงพาณิชย์กับผู้ให้บริการเครือข่าย และพาร์ทเนอร์ในจีนมากกว่า 3,000 ฉบับ ด้วยประสบการณ์มหาศาลด้านการนำ 5จี ไปประยุกต์ใช้กับแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ

ไรอัน เชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น จึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีขึ้นใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพของการปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้น หัวเว่ยจึงผสานเทคโนโลยีไอทีกับซีที คลาวด์กับเอดจ์ และคลาวด์กับเครือข่ายเข้าด้วยกัน มุ่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมทั้งประสบความสำเร็จด้านการเติบโตทางรายได้ครั้งใหม่

ไอซีทีสีเขียว : บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง

ไอซีทีสีเขียว เป็นอีกเรื่องที่หัวเว่ยโฟกัส เพราะมองว่า คือ กุญแจดอกสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมไอซีทีได้ส่งมอบเทคโนโลยีใหม่ซึ่งช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้ คาดว่า สัดส่วนการลดลงนี้จะมากกว่าการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมไอซีทีเองถึง 10 เท่า 

ภายในงานประชุมนี้ ไรอัน กล่าวถึงกลยุทธ์สีเขียวของหัวเว่ย นั่นคือ “บิตมากขึ้น วัตต์น้อยลง” (More Bits, Less Watts) ด้วยโซลูชั่นสีเขียวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไซต์สีเขียว เครือข่ายสีเขียว และการปฏิบัติการสีเขียว หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพเครือข่ายของผู้ให้บริการและลดการใช้พลังงานต่อบิตลง นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอดัชนีชี้วัดการเกิดคาร์บอนต่อจีดีพีในเครือข่าย (Network Carbon Intensity) เพื่อบ่งบอกถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมไอซีที และช่วยเหลือบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายในการทำให้กลยุทธ์สีเขียวเป็นจริง

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์