บอร์ดใหม่ กสทช.เร่งถกด่วนข้อกฎหมายดีล 'ทรูควบดีแทค' !!!!

บอร์ดใหม่ กสทช.เร่งถกด่วนข้อกฎหมายดีล 'ทรูควบดีแทค' !!!!

บอร์ดใหม่ กสทช.ส่งสัญญาณ ดูข้อกฎหมาย ดีลทรูควบดีแทค สั่งสำนักงานฯ เตรียมรายละเอียด ผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้บริโภค ฟากค่ายมือถือสปีดขั้นตอนควบรวม หลังผ่านดีลดิลิเจ้นท์เรียบร้อยตั้งแต่ปลายปี 64 ว “หมอสรณ” ประธานบอร์ดคนใหม่ สั่งเตรียมเอกสารถกนัดแรก เดือน ก.พ.นี้

อภิดีลการควบรวมระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” ที่สร้างแรงกระเพื่อมในช่วงปลายปีที่ผ่านมาให้กับ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทำรายละเอียดดีลการควบรวมระหว่างกัน เพื่อไปสู่การสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรสู่การเป็น “เทค คอมพานี

โดยบทบาทการกำกับดูแลเรื่องนี้ตกอยู่กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” แม้ในช่วงแรก จะออกตัวว่าไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่าย เพราะการควบรวมเป็นเรื่องของบริษัทแม่ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตโดยตรง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์อย่างหนาหูจากสังคม จนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องมีการดูเรื่องข้อกฎหมาย และการถือครองหุ้นว่า หากมีการควบรวมแล้วจะเข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ซึ่งต้องรอบอร์ดใหม่ กสทช. เข้ามาเป็นผู้สะสางให้แล้วเสร็จ
 

‘ดีลดิลิเจ้นท์’เรียบร้อยปลายปี64 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เพื่อปูทางไปสู่การจัดตั้งบริษัท เทค คอมพานีร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินทรัพย์สินระหว่างกัน (ดีล ดิลิเจ้นท์) เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และได้ยื่นเรื่องขออนุมัติควบรวมกิจการต่อ กสทช.ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานภายใน เพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัทถึงเหตุผล ความจำเป็นในการควบรวมกิจการ รวมทั้งพิจารณาผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวม โดยคาดว่าจะมีการจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาดำเนินการศึกษา และจัดทำความเห็นประกอบด้วย เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจึงจะสรุปความเห็นเสนออนุกรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม และ นำเสนอ กสทช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป
 

ทั้งนี้ การดำเนินการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคดังกล่าว แม้นักวิชาการหลายภาคส่วนจะออกโรงคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการลดทอนการแข่งขัน ก่อให้เกิดการผูกขาดเอาเปรียบผู้ใช้บริการ รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษาและตรวจสอบกรณีการควบรวมกิจการทรูและดีแทคดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อสภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน 

บอร์ดใหม่กสทช.ถกเป็นวาระด่วน

อย่างไรก็ดี ในฟากของบอร์ดกสทช. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้วเสร็จจำนวน 5 คน โดยมีนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดนั้น ได้มีการหารือกับสำนักงานกสทช. เพื่อขอให้แต่ละฝ่ายรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวกับการควบรวม้เพื่อเข้าสู่การประชุมบอร์ดในวาระการประชุมนัดแรก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประชุมได้ในเดือนก.พ.นี้ และจะมีการแต่งตั้งทีมงานมาดูเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ

โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า รายละเอียดที่สั่งให้สำนักงานรวบรวมประกอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การถือครองคลื่นความถี่ตามที่ได้รับจากกสทช.แม้ว่าผู้ถือครองจะเป็นบริษัทลูกของทั้ง 2 บริษัทก็ตาม โดยแม้ที่ผ่านมา หนึ่งในกรรมการกสทช.ยอมรับว่า กสทช.ไม่สามารถห้ามการควบรวมกิจการทรูฯกับดีแทคได้ เพราะไม่ได้เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต แต่อย่างไรก็เป็นผู้ถือหุ้นของทั้งบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) 

นอกจากนี้ ยังต้องดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อผู้บริโภคว่าจะมีออกมาในแนวทางใดบ้างอย่างไร รวมถึงการวางมาตรการเยียวยาผู้บริโภคหากมีการพิจารณาว่าอาจเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดกสทช.ชุดใหม่นั้น ตามที่มีมติคัดเลือกประธานบอร์ดดังที่กล่าวข้างต้นไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่่ผ่านมา โดยประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์​ (ประธานบอร์ด) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางพิรงรอง รามสูต นายต่อพงศ์ ​เสลานนท์ และ นายศุภัช ศุภชลาศัย ในส่วนของ 2 ด้านที่ยังอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งคือ ด้านกิจการโทรคมนาคมและด้านกฎหมาย