ดีป้า พัฒนา แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ แห่งชาติ ผนึกพาร์ทเนอร์ คิดจีพีต่ำสุด 8%

ดีป้า พัฒนา แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ แห่งชาติ ผนึกพาร์ทเนอร์ คิดจีพีต่ำสุด 8%

ดีป้า ร่ายแผนงานปี 65 เล็งผนึกบริษัทสัญชาติไทย พัฒนาแพลตฟอร์ม เนชั่นแนล ดิลิเวอรี่ ในชื่อ eatsHUB พร้อมหั่นส่วนแบ่งน้อยสุดในตลาด ระบุมีร้านค้าร่วมด้วยแล้ว 8,000 แห่ง พร้อมนำร่องเปิดบริการในจังหวัดหัวเมืองเดือนนี้

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า แผนงานปี 2565 ของดีป้านอกจากจะสานต่อโครงการ เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) และส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) แล้ว ล่าสุด ดีป้าจะร่วมมือกับ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนา แพลตฟอร์มเนชั่นแนล ดิลิเวอรี่ ในชื่อ eatsHUB ด้วยอัตราส่วนแบ่งรายได้ (GP) เฉลี่ยต่ำสุด 8% เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มรับส่งอาหารสัญชาติไทย 

โดยจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร้าน สามารถสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเป็นของตัวเอง และช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ eatsHUB ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จ มีร้านค้าร่วมเป็นสมาชิกกับแพลตฟอร์มแล้วกว่า 8,000 ร้านค้า และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม และพระนครศรีอยุธยา ช่วงเดือนมกราคม 2565
 

นอกจากนี้ ดีป้า ยังจะเข้าไปสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการลงทุนจากบริษัทเงินร่วมลงทุน ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของ ดีป้า ในลักษณะของการร่วมลงทุน (Co-investment) ภายใต้โครงการ dVenture มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในดิจิทัลสตาร์ทอัพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตได้รวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้อย่างเข้าใจ โดย ดีป้า วางแผนเปิด “ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล” ในชื่อดี-สเตชั่น (d-station) “ร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล” ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการธุรกิจตัวกลาง (เอเยนต์) ในการให้บริการดิจิทัล โดยจะหาผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สตาร์ทอัพ แต่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่มาทำหน้าที่ เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนกับทางดีป้า อาทิ บริการแอพพลิเคชั่น คิวคิว ฯลฯ และจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายบริการดิจิทัลเหล่านี้ เป็นการช่วยทำให้เกิดอาชีพใหม่ และเกิดการลงทุนในพื้นที่ โดยในช่วงเริ่มต้นจะเปิดนำร่องใน 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ ภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้
 

“แนวความคิดนี้มาจากการที่ดีป้าได้ลงพื้นที่ในต่างจังหวัด มีผู้สูงอายุต้องการใช้งานดิจิทัลต่างๆ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ใช้งานแบบไหน จึงเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ ประกอบกับดิจิทัลสตาร์ทอัพก็ยังไม่มีจุดกระจาย หรือช่องทางการนำเสนอ บริการในพื้นที่ห่างไกล ทางดีป้าจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่อาจจะมีธุรกิจอยู่แล้ว เช่น ร้านกาแฟ หรือ อาจจะเริ่มต้นทำธุรกิจอื่นที่มีหน้าร้านอยู่แล้ว ก็จะนำบริการดิจิทัลไปขายพ่วงด้วย”

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นแต่ละจังหวัดที่เป็นโครงการนำรองจะมีประมาณ 2 ร้านต่อจังหวัด ส่วนในเรื่องความน่าเชื่อถือนั้น ผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจะต้องมีการเอบรม และเปิดร้านภายใต้แบนด์ ดี สเตชั่น โดยดีป้า ซึ่งโครงการนี้จะสามารถเข้าถึง ประชาชนที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่เมืองรองให้สามารถ เลือกเทคโนโลยี ดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เชื่อถือได้ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจของตนเองได้

“ด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ มีความคุ้นเคยเทคโนโลยี และมีการใช้งานดิจิทัลอยู่แล้ว และปัจจุบันคนรุ่นใหม่ จำนวนมากก็หันมาขายของออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค้าขายของเก่งอยู่แล้ว มีการไลฟ์ขายของออนไลน์ ซึ่งการจัดทำโครงการนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถ เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้อย่างเข้าใจ และในอนาคตก็มีแผนขยายร้านสะดวกซื้อบริการดิจิทัล ให้ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย”