“อินสเปคทราฯ” เอไอผู้ช่วยแพทย์รังสีวินิจฉัยภาพถ่ายทรวงอก

“อินสเปคทราฯ” เอไอผู้ช่วยแพทย์รังสีวินิจฉัยภาพถ่ายทรวงอก

ต่อยอดทักษะความชำนาญในธุรกิจให้บริการปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอในรูปแบบ Custom Solution สู่บริการเอไอทางการแพทย์ ตอบโจทย์ความต้องการแพทย์รังสีท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด ผ่านแพลตฟอร์ม “อินสเปคทรา ซีเอ็กซ์อาร์” (Inspectra CXR) ผู้ช่วยแพทย์วินิจฉัยภาพถ่ายรังสีทรวงอก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากสภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอด และหากไม่สามารถตรวจคัดกรองและรักษาได้ทันท่วงที จะส่งผลต่อการรักษาที่ยุ่งยากและอาจนำมาซึ่งโอกาสเสียชีวิตของผู้ป่วยที่สูงขึ้น

ดังนั้นการตรวจคัดกรองผู้ป่วยด้วยวิธีภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก จึงนับเป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสี่ยงและลดการติดเชื้อที่รุนแรง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันการตรวจคัดกรองด้วยวิธีภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกจะมีความสะดวก มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง และมีความปลอดภัย 

หากแต่การวินิจฉัยภาพถ่ายเอกซเรย์ให้แม่นยำสูงนั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวินิจฉัย ซึ่งประเทศไทยยังประสบปัญหาจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวที่ไม่เพียงพอในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จึงเป็นเหตุผลให้ “เพอเซ็ปทรา”สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก เข้ามาสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ “อินสเปคทรา ซีเอ็กซ์อาร์” ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก

ลดภาระงาน-แก้ขาดแคลน

สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด เปิดเผยว่า เพอเซ็ปทราเริ่มต้นธุรกิจมาประมาณ 5 ปี โดยก่อนหน้านั้น บริษัทดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการเอไอในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งการประเมินราคาที่ดิน ต่อมาจึงมีแนวคิดที่อยากจะนำเอไอมาต่อยอดให้เกิดอิมแพค จึงพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์เพื่อเป็นระบบคัดกรองโรคที่เกี่ยวข้องกับปอดด้วยภาพถ่ายเอกซเรย์ โดยมุ่งหวังการพัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนและการกระจายตัวของบุคลากรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา

 “การที่จะทำให้บริการทางสาธารณสุขดีขึ้น จะต้องมีการวินิจฉัยที่เร็วขึ้น พบแน่เนิ่นๆและผิดพลาดน้อยลง ดังนั้นแกนหลักทางเทคโนโลยีที่บริษัทมีพื้นฐาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านนี้ได้ ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาแอพพลิเคชันอินสเปคทรา ซีเอ็กซ์อาร์ (Inspectra CXR) ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติในทรวงอกจากภาพถ่ายเอกซเรย์แบบเรียลไทม์”

ตรวจสภาวะปอด 8 สภาวะ

โดยแพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบสภาวะของปอดได้ 8 สภาวะ เช่น วัณโรค ก้อนเนื้อในปอด สภาวะการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดติดเชื้อจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาวะปอดแฟ่บ สภาวะหัวใจโต สภาวะของปอดที่บวมน้ำ ลักษณะของปอดที่มีฝ้าสีขาว และสภาวะที่มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

อีกทั้งยังมีระบบที่บ่งชี้ตำแหน่งที่ผิดปกติให้เห็นเด่นชัด และแสดงอัตราส่วนระหว่างปอดและหัวใจ (CT Ratio) โดยอัตโนมัติ ที่จะช่วยทำให้แพทย์ตัดสินใจได้เร็วขึ้น เพิ่มความถูกต้องและแม่นยำ และสามารถวินิจฉัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อแพทย์รังสีทำงานร่วมกับเอไอทำให้มาตรฐานการวินิจฉัยสูงขึ้น 20-30% ทั้งยังช่วยลดภาระงานของแพทย์ได้มากกว่า 40%

“ทั้งนี้ Inspectra CXR ระบบจะทำการฟิลเตอร์เฉพาะภาพถ่ายทรวงอกและส่งเข้าระบบโดยอัตโนมัติทำให้แพทย์สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ซึ่งทุกๆภาพจะมีการตัดข้อมูลของคนไข้ออก และประมวลผลผ่านระบบที่มีความปลอดภัยแบบล็อคสามชั้นเพื่อให้มั่นใจเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล และเมื่อประมวลผลเสร็จจะถูกส่งกลับไปแมชเข้ากับชื่อของผู้ป่วยนั้นๆที่โรงพยาบาลนั้นๆเท่านั้น ฉะนั้นผู้ใช้งานจึงวางใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล”

ขณะที่ปัจจุบัน Inspectra-CXR สามารถรวบรวมข้อมูลภาพถ่ายปอดได้ถึง 2.5 ล้านภาพ ทั้งจากไทย และจากต่างประเทศ แต่ทีมผู้พัฒนาคัดเลือกเฉพาะภาพที่มีคุณภาพสูงให้เหลือประมาณ 1.5 ล้านภาพ เพื่อให้การพัฒนาระบบเอไอนั้นได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพดีและเหมาะสมกับคนไทยที่สุด 

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าของการพัฒนาเอไอนั้นคือความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบ จะต้องมีการพัฒนาและสอนระบบเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเพราะการใช้ซ้ำไปนาน ๆ ไม่อาจทำให้เอไอนั้นเก่งขึ้น แต่จะต้องมีทีมทั้งทางด้านวิศวกรรมและด้านการแพทย์ที่ทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทีมของเพอเซ็ปทราร่วมกับพาร์ทเนอร์โรงพยาบาลต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถเทรนด์ภาพเพิ่มขึ้นได้หลายแสนภาพต่อปี

ปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์โควิด นวัตกรรมได้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วกว่า 80 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลบ้านโป่ง เป็นต้น ซึ่งโดยปกติจะมีเคสภาพเอกซเรย์ทรวงอกมากถึง 150 เคสต่อวันอยู่แล้ว เมื่อรวมกับเคสอื่น ๆ ทำให้แพทย์รังสีทำงานไม่ทัน และยิ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีจำนวนเคสภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,000 เคสต่อวัน ก็ยิ่งทำให้แพทย์รังสีไม่สามารถดูแลทุกเคสได้

แต่เมื่อมีระบบอินสเป็คทราฯเข้ามาช่วยในสถานการณ์ดังกล่าวแล้วทำให้แพทย์รังสีสามารถดูแลได้ครอบคลุมทั้งหมด 100% ได้ และยังมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ในสถานการณ์ดังกล่าวบริษัทฯ ได้ทำ CSR ร่วมกับภาคเอกชนโดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยติดตั้งในโรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาลที่มีเคสจำนวนมาก และยังได้เข้าไปช่วยกลุ่มแพทย์รังสีอาสาในการช่วยคัดกรองผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งภายในระยะเวลา 3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม) ระบบอินสเป็คทราฯ ได้เข้าไปช่วยแพทย์ในการคัดกรองอาการติดเชื้อในปอดของคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปกว่า 2.5 แสนภาพ

“สำหรับแผนดำเนินการระยะสั้นถึงกลาง มองว่าจะเป็นการขยายตลาดไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับขยายโจทย์ให้กว้างขึ้น ส่วนในระยะยาวจะเป็นการสร้างระบบจัดการกระแสงาน และพยายามเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้ใช้งานให้มากขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ของบริษัทคือ เราต้องการยกระดับการบริการทางด้านการแพทย์ของเมืองไทยและอาเซียน ดังนั้นสิ่งที่เป็นมิชชั่นตอนนี้คือทำยังไงให้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าถึงโรงพยาบาลทุกแห่ง และใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงการทำให้ระบบมีความถูกต้องแม่นยำสูงระดับสากลในขณะที่ระบบจะต้องใช้งานง่าย ติดตั้งได้เร็ว และเหมาะสมกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ”

และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสามารถอ่านภาพเอกซเรย์ปอดได้เพียงอย่างเดียว แต่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ โดยอาจจะเป็นระยะสั้นในเรื่องของการทำยังไงให้การจัดการกระแสงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ลดภาระงานอีกระดับ

ธุรกิจจะยั่งยืนต้องตอบให้ตรงโจทย์

สุพิชญา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้คือ ต้องตอบโจทย์ปัญหาลูกค้าให้ได้จริงๆ หรือที่เรียกว่า Product market fit จุดที่ทุกสตาร์ทอัพต้องไปให้ถึง “เมื่อเอไอเป็นสมอง เรื่องระบบเรื่องของการนำไปให้ใช้งานในเวิร์กโฟลว์จริงคือหัวใจ” ฉะนั้นขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเก็บฟีดแบ็กจากแพทย์และดูการทำงานของแพทย์ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นเมื่ออยู่ในจุดที่มีผลิตภัณฑ์ที่ดีมากๆต่อผู้ใช้และอยู่ในตลาดที่ใหญ่มากพอ ก็จะเริ่มมีคนเห็นประโยชน์และคุณค่า เมื่อนั้นโปรดักท์จะยั่งยืนเอง

สุดท้ายนี้ภาพรวมการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในประเทศไทย เธอมองว่า “2-3 ปีที่ผ่านมา มีการตื่นตัวขึ้นเยอะ ทั้งอีโคซิสเต็มและทางด้านผู้พัฒนาที่หันมาสนใจทางด้านนี้มากขึ้น ด้านผู้ให้เงินทุนก็ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะการแพทย์เป็นจุดแข็งที่สำคัญของประเทศแต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยทางด้านการแพทย์ที่จะต้องมีการผลักดัน”