เจาะอินไซต์ "สตาร์ทอัพ" ส่องแนวโน้มทิศทาง "วีซี" ร่วมลงทุน

เจาะอินไซต์ "สตาร์ทอัพ" ส่องแนวโน้มทิศทาง "วีซี" ร่วมลงทุน

การเกิดขึ้นของ “ยูนิคอร์น” สายพันธุ์ไทยถึง 3 ตัว แฟลชกรุ๊ป, Ascend Money และ Bitkub ส่งผลให้วงการสตาร์ทอัพเป็นที่น่าจับตาและตื่นตัวมากขึ้น ทั้งลุ้นการเกิดยูนิคอร์นตัวใหม่อีก 1-2 ตัวในปี 65 "กรุงเทพธุรกิจ" จะพาไปเจาะอินไซต์สตาร์ทอัพและทิศทางการลงทุนของวีซีในประเทศไทย

หากพูดถึงวงการ "สตาร์ทอัพ" ของไทย และข้อมูลแบบเจาะลึกของบรรดานักลงทุนคงไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าตัวจริงแห่งวงการอย่าง “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้ง Ookbee ร้านหนังสือออนไลน์ และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ทาง “กรุงเทพธุรกิจ” จึงได้สัมภาษณ์คุณหมู ถึงแนวโน้มสตาร์ทอัพในประเทศไทยโดยมีใจความสำคัญที่ว่า กิจการระดับยูนิคอร์นถือเป็นไมล์สโตนที่ชัดเจนของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผลพวงจากการมียูนิคอร์นรุ่นพี่ ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมคึกคัก 

อย่างล่าสุดเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมาทาง 500 tuktuks ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จัดตั้ง “ออร์ซอน เวนเจอร์ส” มูลค่าแรกเริ่มลงทุน 25 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 825 ล้านบาท) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพด้านโมบิลิตี้และไลฟ์สไตล์ ระดับซีรีส์ A ประมาณ 50-100 ล้านบาทต่อบริษัท

“เราจะเริ่มเห็นกองทุนที่แอคทีพในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนมีสเกลที่ใหญ่ขึ้น ฉะนั้นในพอร์ตฟอลิโอของ 500 tuktuks ที่ร่วมลงทุนใน 80 กว่าบริษัท ก็เริ่มเห็นสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2565 หรือปีถัดไป และน่าจะมียูนิคอร์นตามมาอีกหลายตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า”

 

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ทิศทางการระดมทุนของสตาร์ทอัพในปี 2565 จะเป็นลำดับซีรีส์ จากการที่สตาร์ทอัพเติบโตขึ้นก็จะระดมทุนในซีรีส์ที่เม็ดเงินจำนวนมากขึ้น 

ในส่วนของ 500 TukTuks ให้การสนับสนุนตั้งแต่กิจการระดับเริ่มต้น Seed stage และจะทำต่อเนื่องเพื่อให้มีจำนวนมากๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการสตาร์ทอัพ แต่ทั้งนี้ก็เริ่มมี Angle Investor เข้ามาลงทุนในระดับนี้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

“การระดมทุนระดับ Seed stage เริ่มคึกคักมากขึ้น และจะเห็นผลลัพธ์มากขึ้นในส่วนของซีรีส์ที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเงินก็จะเห็นภาพของการลงทุน อย่างที่เอสซีบีปรับโครงสร้างใหม่ เข้าซื้อธุรกิจบิทคับและลงทุนตามโปรเจคบล็อกเชน สถาบันการเงินเริ่มขยับตัวและลงทุนในฟินเทคชัดเจนขึ้น”

ฉะนั้น จะเห็นภาพการลงทุนของ CVC ค่อนข้างชัดเจน และมีเซกเตอร์ที่ร้อนแรงอย่างคริปโทที่จะมีการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนเซกเตอร์อื่นๆ เริ่มที่จะฟื้นตัวเช่นกันทั้งการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ จากที่ซบเซาไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

วิถีสตาร์ทอัพจังหวะคือทุกสิ่ง

ส่วนภาพรวมการลงทุนของ Venture Capital (VC) ในปี 2564-2565 จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกราย และจะเริ่มเห็นวีซีต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์ A ที่เข้ามาลงทุนแม้กระทั่งสตาร์ทอัพที่อยู่ในบัญชีของ 500 TukTuks ที่ได้ลงทุนด้วยในระดับตั้งแต่เป็น Seed

ดังนั้น ภาพการลงทุนในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนของคอร์ปอเรทใหญ่ในตลาดที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และบางส่วนได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างเช่น FlowAccount สตาร์ทอัพโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ได้รับเงินระดมทุนกว่า 4 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 130 ล้านบาท จาก Sequoia Capital India ซึ่งเป็นวีซีระดับโลกจากสหรัฐในการระดมทุนรอบ Series A

หรือแม้กระทั่ง จิซทิกซ์ (GIZTIX) สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน e-Logistic ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ กับผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศ ได้รับการระดมทุนในรอบนี้มีมูลค่ารวม 7.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 260 ล้านบาท จากบัวหลวงเวนเจอร์ส ในรอบ Series B 

“ปี 2565 มองว่าจะมีการลงทุนในลักษณะนี้อีกหลายตัว ในส่วนของ 500 TukTuks ได้เปิดกองทุนสำหรับการลงทุนรวม 2 กอง โดยกองแรกมูลค่าการลงทุน 550 ล้านบาท ลงทุนในบริษัทประมาณ 50 ราย ซึ่งเริ่มเห็น Exit หรือ Return ที่ดี ส่วนกองที่สองเป็นการลงทุนต่อเนื่องเดือนละ 1-2 บริษัทในกลุ่ม Seed stage เป็นหลัก จนถึง ซีรีส์ A ที่เป็นเทคสตาร์ทอัพ"

ภายใน 2 ปีนี้จะมียูนิคอร์นไทยเพิ่มขึ้น 1-2 ตัว หากดูสตาร์ทอัพในบัญชีของ 500 Tuktuks จะเห็นที่มีศักยภาพประมาณ 2-3 ราย ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ หากระดมทุนอีกรอบ หรือ IPO จะเกิดเป็นยูนิคอร์นได้ ฉะนั้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า คาดว่าประเทศไทยจะมียูนิคอร์นสัญชาติไทยประมาณ 10 ราย

ถอดรหัสพิชิตใจนักลงทุน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในฐานะนักลงทุน ณัฐวุฒิ เล่าว่า เกณฑ์ในการพิจารณาว่าสตาร์ทอัพใดน่าลงทุนนั้น โดยสตาร์ทอัพในระดับ Seed stage ซึ่งเพิ่งเริ่มธุรกิจก็จะไม่ค่อยเห็นผลประกอบการ แต่ก็ต้องดูผลประกอบการที่พอมี ตัวผลิตภัณฑ์ที่ทดลองตลาดและผลตอบรับจากผู้ใช้ในตลาด ที่สำคัญคือ เจ้าของกิจการมีประสบการณ์เป็น Unfair Advantage ในอุตสาหกรรมใดๆก็ตาม ที่จะเป็นแต้มต่อที่รู้สึกว่าน่าลงทุน

“ส่วนระดับพรีซีรีส์ A และ A ที่มีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป จะเริ่มเห็นตัวเลขผลประกอบการ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ขนาดตลาดที่ทำต้องใหญ่ เพราะหากผู้ก่อตั้งเก่ง ไอเดียดี ผลิตภัณฑ์ดี แต่ตลาดมีขนาดไม่ใหญ่ ก็มีโอกาสที่เงินลงทุนจะไม่มีโอกาสเติบโต”

สุดท้ายนี้เพื่อเป็นแนวทางให้กับ “สตาร์ทอัพ” ที่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถพิชิตใจนักลงทุนได้นั้น เขามองว่า “จะต้องคิดเรื่องการทำตลาดให้เติบโตตลอดเวลา เพราะนักลงทุนต้องการผลตอบแทน ฉะนั้น ในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหุ้น ไม่ได้สนใจการทำธุรกิจแข่งกัน แต่สนใจผลตอบแทนที่จะได้รับ หากเข้าใจหลักการนี้จะทำให้อยู่ในเส้นทางนี้ได้ สตาร์ทอัพจึงต้องเตรียมแผนที่จะทำให้เติบโต ทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องราวที่จะใช้ในการเล่ากับนักลงทุนว่า ”หากลงทุนกับเราแล้วได้ผลตอบแทนอย่างไร”