สภานโยบายฯ เคาะงบด้านการอุดมศึกษา ปี 66 กว่า 1.14 แสนล้านบาท

สภานโยบายฯ เคาะงบด้านการอุดมศึกษา ปี 66 กว่า 1.14 แสนล้านบาท

สภานโยบายฯ เคาะงบด้านการอุดมศึกษา ปี 66 กว่า 1.14 แสนล้านบาท ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ ด้านงบ ววน. เคาะที่ 2.9 หมื่นล้านบาท พร้อมพัฒนากำลังคนและงานวิจัยด้านการเกษตร

จากการที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

สภานโยบายฯ เคาะงบด้านการอุดมศึกษา ปี 66 กว่า 1.14 แสนล้านบาท

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของประเทศทั้งด้านการพัฒนากำลังคน การเตรียมกำลังคนที่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ  นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารงบประมาณที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจนเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนมีการติดตามผล Follow up และ Follow through ในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน

เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปี 66 ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนอว. ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวมทั้งสิ้น 114,634.7682 ล้านบาท 
 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้ในการผลิตบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งในลักษณะ Degree และ Non – Degree การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และเห็นชอบระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณด้านการอุดมศึกษา โดยใช้หลักการ Demand – Directed Budgeting ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลลัพธ์สำคัญ ได้แก่ การผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราการได้งานทำที่เพิ่มสูงขึ้น ความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ชัดเจน รวมถึงความสอดคล้องในการร่วมลงทุนพัฒนากำลังคนกับความต้องการของภาคเอกชน ซึ่งงบประมาณและระบบการจัดสรรดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการอุดมศึกษาให้ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ และนโยบายรัฐบาล 

เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 29,100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จำนวน 29,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีระบบการจัดสรรแบบ Block grant & Multi-year budgeting 

 

“กรอบงบประมาณดังกล่าว จะใช้สำหรับดำเนินการแผนงานต่อเนื่อง เช่น บีซีจี โมเดล แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย แผนงานการแก้ปัญหาความยากจน โจทย์ท้าทายสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาวิกฤติ และการส่งเสริมการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งนำมาจัดสรรให้กับโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การวิจัยวัคซีน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต และเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมสู่อนาคต เป็นต้น” รมว.อว. กล่าว

สภานโยบายฯ รับลูกกระทรวงเกษตรฯ พัฒนากำลังคนและงานวิจัยด้านการเกษตร
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสำราญ สาราบรรณ์  รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้นำเสนอแผนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) และแผนพัฒนากำลังคนภาคการเกษตรของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2575) ต่อสภานโยบายฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร และการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรตลอดจนการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และร่างแผนด้าน ววน. ของประเทศ ที่ได้กำหนดเรื่องการเกษตรไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต

โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม แผนงานที่ 2 การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านเกษตรและอาหารให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการการอุดมศึกษา พิจารณาใช้ประกอบการขับเคลื่อนนโยบายและการจัดสรรงบประมาณต่อไป

ความก้าวหน้าในการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน)
สำหรับความก้าวหน้าการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 3/2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเสนอต่อ ครม. ต่อไป