"นวัตกรอาหารรุ่นใหม่" พลิกไอเดียครีเอทนวัตกรรม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์โลกอนาคต

"นวัตกรอาหารรุ่นใหม่" พลิกไอเดียครีเอทนวัตกรรม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์โลกอนาคต

“Food Innopolis Innovation Contest 2021” เวทีออนไลน์ที่ให้เหล่านวัตกรอาหารรุ่นใหม่ ที่มีใจรักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และไอเดียนวัตกรรมอาหารล้ำยุค ได้แสดงศักยภาพจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมอาหาร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ “โลกอนาคต” ไปครอบครองได้สำเร็จ!

ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า กิจกรรม Food Innopolis Innovation Contest 2021 ในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากมีการเปิดรับผลงานเพิ่มในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Fly Weight) ภายใต้หัวข้อการแข่งขัน 2 หัวข้อ ได้แก่ Food Heritage Innovation หรือนวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร และ Future Lifestyle Food Innovation หรือนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต ซึ่งตลอดระยะการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการได้ทำการบ่มเพาะผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น ตั้งแต่การออกแบบแนวคิดนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบ การจัดทำโมเดลธุรกิจ ตลอดจนเทคนิคการนำเสนอผลงาน

โดยมุ่งหวังกระตุ้นให้เยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สามารถนำความรู้ เครื่องมือการสร้างนวัตกรรมไปพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ และนำผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในทั้ง 3 รุ่นนี้ ผ่านการคัดสรรจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมดมากกว่า 200 ทีม จากทั่วประเทศ จนเหลือ 42 ทีมที่มีแนวคิดน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในทางการตลาด โดยผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้จะแบ่งเป็นรุ่นนักเรียนจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่  ส่วนรุ่นนักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาทพร้อมโล่เช่นกัน

นายปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่เครือบุญรอดให้การสนับสนุนโครงการ Food Innopolis Innovation Contest เพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจนวัตกรรมอาหารเป็นสิ่งที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ดังคำกล่าวที่ว่า อาหารไทยสามารถส่งออกได้ทั่วโลก หรือ ครัวไทย สู่ครัวโลก ที่มีการผลักดันเป็นนโยบายของภาครัฐ ทางบริษัทมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดของนวัตกรรมด้านอาหาร หรือการนำศิลปะทางด้านอาหารไปสู่ระดับโลกได้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนที่เป็นต้นน้ำหรือแหล่งการผลิต คือการทำอย่างไรให้สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในการควบคุม และการสร้างสินค้าทดแทนหรือการมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีขึ้น 2. ส่วนที่เป็นกลางน้ำ หรือ นวัตกรรมในการทำอาหาร หรือการออกสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการแข่งขันมีอยู่ทั่วโลก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการนำเสนออย่างไรให้นวัตกรรมนั้นมีความน่าสนใจ และดึงดูดตลาดโลก  

3. ส่วนที่เป็นปลายน้ำ เมื่อมีวัตถุดิบที่ดี มีนวัตกรรมที่ดีแล้ว จะขายสินค้าอย่างไร จะดึงจุดเด่นในการขายสินค้านั้นอย่างไร การจะสร้างอนาคตธุรกิจอาหารสู่ครัวโลก ต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนนี้ รวมถึงมุมมองความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดแผนการตลาดหรือแผนการนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจและสมบูรณ์แบบมากที่สุด

สำหรับผลการแข่งขันหัวข้อ Food Heritage Innovation หรือนวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร ทีมที่ชนะเลิศรุ่นนักเรียน ได้แก่ “ทีมปลาร้าวิวัฒน์” จากโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับผลงาน “ปลาร้าวิวัฒน์ น้ำปลาร้าทรงเครื่องเพื่อสุขภาพโซเดียมต่ำ” ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสะอาด และปัญหาปริมาณโซเดียมสูงด้วยการปรุงรสจากผักไชยาที่เป็นผักพื้นบ้าน รวมถึงการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และตัวน้ำปลาร้าให้มีความข้นและความหนืดแบบพอดี

ทีมชนะเลิศรุ่นนักศึกษา ได้แก่ “ทีม Rice gun muk” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับผลงานชื่อ “มงคล” ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมวีแกนรสข้าวแช่เพื่อสุขภาพ และผู้ชนะเลิศรุ่นบุคคลทั่วไป ได้แก่ “ทีมร้าแซ่บ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “ร้าแซ่บ ปลาร้าทอดสุญญากาศพร้อมทาน” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่ชอบทานปลาร้าทอดให้สามารถหาซื้อทานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยแก้เรื่องกลิ่นรบกวนขณะปรุงสุกและกลิ่นหืนเมื่อเก็บไว้ รวมถึงปัญหาเรื่องของการพกพาอีกด้วย

สำหรับหัวข้อ Future Lifestyle Food Innovation หรือนวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต ผู้ชนะเลิศรุ่นนักเรียน ได้แก่ “ทีมน้องหนอนดุกดุ๋ยกระดึ๋บดุ๊กดิ๊ก” จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กับผลงาน “DUKDIK สเปรดสุขภาพจากดักแด้ไหมปรุงรส” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูง แต่มีปริมาณแคลอรี่และไขมันต่ำ ส่วนผู้ชนะเลิศรุ่นนักศึกษา ได้แก่ “ทีม 5 SHADES” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ “ผลิตภัณฑ์ VELOAF มีทโลฟวีแกน” ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์พร้อมทานอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร  และผู้ชนะเลิศรุ่นบุคคลทั่วไป ได้แก่ “ทีม Trumpkin” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน “Trumpkin Vegan Cheese” หรือ “Vegan mozzarella cheese” สัญชาติไทยจากเมล็ดฟักทองที่มีไฟเบอร์สูง เป็นผลิตภัณฑ์ Dairy free ที่ไม่มีส่วนผสมของนม ปราศจากคอเลสเตอรอลและสารก่อภูมิแพ้ 8 ชนิด ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทานอาหาร Vegan ที่อาจขาดสารอาหารที่จำเป็น รวมถึงแก้ปัญหา Vegan cheese ทางเลือก ที่มีอยู่ในตลาดทั่วไปที่มักทำจากถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

โครงการ Food Innopolis Innovation Contest นับเป็นหนึ่งโครงการที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการอาหารของไทยให้ก้าวหน้า อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านกลยุทธ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภค จนสามารถแข่งขันในตลาดไทยและตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่จะช่วยเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการทางด้านอาหารทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่ที่รวมแนวคิด และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาและพลักดันวงการอาหารไทยให้ก้าวเติบโตต่อไปได้ในอนาคต