วช. โชว์ผลงานวิจัย "นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ"

วช. โชว์ผลงานวิจัย "นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ"

รู้ทันมะเร็งง่ายนิดเดียว! สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดตัว “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” โดย ดร.วรรณา เลาวกุล ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 แม่นยำสูง 70% ประมวลผลเพียง 20 วินาที หวังยกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพประเมินความเสี่ยงมะเร็งของไทย

วช. โชว์ผลงานวิจัย "นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ"

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเวที กล่าวว่า ตลอดการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  (Thailand Research Expo 2021) ทั้ง 5 วัน มีรูปแบบการจัดงานที่หลากหลายและผู้เข้าร่วมในแต่ละวันจะสามารถเข้าไปพูดคุยรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เห็นภาพความสามารถของนักวิจัยไทย และ ในวันนี้เป็นวันที่ 2 มีกิจกรรมที่หลากหลายและมีผลงานการวิจัยมากมายที่นำเสนอด้วย และ วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ฉายภาพไว้ชัดเจนให้เห็นถึงความสำคัญกับงานวิจัยทุกขอบข่ายด้วย

วช. โชว์ผลงานวิจัย "นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ"

วรรณา เลาวกุล หัวหน้าคณะวิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การวิจัยได้ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ เป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงมะเร็งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

โดยนวัตกรรมดังกล่าว มีคุณสมบัติใช้งานง่าย เพียงเป่าลมหายใจเข้าไปในเครื่อง ใช้เวลาประมวลผลเพียง 20 วินาที สามารถประเมินผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่ามีแนวโน้มควรเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ปัจจุบันทดสอบการใช้งานนวัตกรรมฯ กับผู้ป่วยมะเร็งปอดและกลุ่มคนปกติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า ประสิทธิภาพของนวัตกรรม มีความแม่นยำถึง 70% ในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม นำไปขยายผลประเมินความเสี่ยงของประชาชนผู้ได้รับหรือสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ เช่น พื้นที่ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น หากภาคเอกชนที่สนใจสามารถร่วมบูรณาการพัฒนาอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

วช. โชว์ผลงานวิจัย "นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ"

วช. หวังว่านวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจดังกล่าว จะที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ในการช่วยคัดกรองโรคมะเร็งได้อย่างง่าย และลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งสามารถเข้ารับการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และหากพบว่าเป็นมะเร็งเบื้องต้น ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกวิธี 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ  (Thailand Research Expo 2021) ยังมีเวลาอีก 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 สามารถเดินทางมาชมผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ