"ญี่ปุ่น" ส่งเทคสตาร์ทอัพ ผูกมิตร "เอกชนไทย" ร่วมลงทุน

"ญี่ปุ่น" ส่งเทคสตาร์ทอัพ ผูกมิตร "เอกชนไทย" ร่วมลงทุน

Regional Fish และ Euglena 2 ใน 6 ทีมสตาร์ทอัพชั้นนำจากญี่ปุ่นนำเสนอแผนธุรกิจนำร่องสู่รูปแบบเศรษฐกิจสีเขียว จับคู่กับนักธุรกิจไทยในงาน Rock Thailand #3 เจ้าภาพโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั้ง 6 ทีม ได้แก่ 1.Regional Fish สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการแก้ไขพันธุกรรมและการใช้เทคโนโลยีจัดการกับก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.Euglena สตาร์ทอัพที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสาหร่ายไมโครแอลจี ในการนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเนื้อจากพืชและเชื้อเพลิงชีวภาพ 3.Polar Star Space สตาร์ทอัพด้านข้อมูลเพื่อป้องกันโรคภัยและภัยพิบัติต่างๆ 4.PeptiDream สตาร์ทอัพที่วิจัยและพัฒนาด้านเภสัชกรรม 5.ACbiode สตาร์ทอัพด้านขนส่งและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และ 6.RESC สตาร์ทอัพด้านพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีความยั่งยืน

ยกระดับฟาร์มสัตว์น้ำ

ชุนซูเกะ อิชิโมโตะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Regional Fish กล่าวว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการโปรตีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568-2573 ดีมานด์จะเกินอุปทาน ซึ่งหมายความว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนโปรตีน แม้จะมีแหล่งโปรตีนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว หมู ไก่ ปลาหรือแมลง แต่โปรตีนจาก “ปลา” ง่ายต่อการยอมรับของผู้บริโภค มีโอกาสทางการตลาดสูง

บริษัทจึงพยายามแก้ไขวิกฤติโปรตีน โดยนำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของญี่ปุ่นไปสู่อีกระดับ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับเทคโนโลยีทางพันธุกรรม เพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความชาญฉลาด ยั่งยืนและตอบโจทย์แหล่งโปรตีนทางเลือกในโลกอนาคต 

“ภาพรวมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีผู้เล่นหลายรายในญี่ปุ่น แต่การปรับปรุงสายพันธุ์ปลาแทบจะไม่มี หรือที่มีก็เป็นเทคนิคแบบดั้งเดิมที่ใช้ระยะเวลาถึง 30 ปี เราจึงใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมในการปรับปรุงสายพันธุ์ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ Sea Bream ต้องการอาหารน้อยกว่า มีขนาดเพิ่มขึ้น 1.2-1.6 เท่าของขนาดปกติและน้ำหนักเนื้อที่เพิ่มขึ้น”

สายพันธุ์ใหม่ถัดมาคือ Tiger Puffer ต้องการอาหารน้อย มีขนาดใหญ่กว่า 1.9 เท่าของขนาดปกติ ซึ่งมีคุณสมบัติโตเร็ว ทั้งนี้ นวัตกรรมของบริษัทสามารถเพิ่มขนาดปลาได้เป็นสองเท่า ลดต้นทุนต่อตัวปลาได้ 1/4 ทั้งยังทำให้ปลามีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มถึง 4 เท่า สำหรับปลาใหม่ทั้งสองชนิดนี้จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ฟันดิ้ง หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติทางกฎหมายสำหรับสายพันธุ์ใหม่ 

ชุนซูเกะ กล่าวอีกว่า Regional Fish จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกียวโตและมหาวิทยาลัยคินได โดยวางบิซิเนสโมเดลเน้นการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนา และเป็นศูนย์จัดหาสายพันธุ์ ส่วนคู่แข่งที่มีในตลาดคือ “AquaBounty" จากสหรัฐ ที่มีการพัฒนาในเรื่องจีเอ็มโอ 

แต่ความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทคือ มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย สามารถกำหนดเป้าหมายตามฐานข้อมูลจีโนม รวมทั้งการจัดการความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำครบวงจร ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา การขยายธุรกิจในต่างประเทศ ตอนนี้กำลังมองหาหุ้นส่วนต่างชาติพร้อมกับตั้งเป้าเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน

ทางด้าน “Euglena” ทัตสึ โค กล่าวว่า ยูกลีนาเป็นสาหร่ายชนิดหนึ่งที่มีความพิเศษคือ โครงสร้างอุดมด้วยสารอาหาร 59 ชนิด มีโปรตีนสูงและสามารถสร้างไขมันภายในร่างกาย จึงเหมาะใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์และเชื้อเพลิงทดแทน

บริษัทก่อตั้งปี 2548 มีมหาวิทยาลัยโตเกียวร่วมลงทุน และเป็นบริษัทแห่งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กกลางแจ้ง และเป็นลิสต์แรกๆ ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวตั้งแต่ ธ.ค.2557

“ปรัชญาบริษัทคือ ความยั่งยืนต้องมาเป็นอันดับแรก เรามุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความท้าทายทางสังคมผ่านธุรกิจ ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ เชื้อเพลิงทดแทนและธุรกิจเพื่อสังคม ในปี 2558 ได้รับรางวัลในโครงการ “1st Japan Award Program”

ทางด้านการดำเนินงานนั้นเริ่มเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงหมุนเวียนเต็มรูปแบบในปี 2553 โดยปี 2561 ลงทุน 55 ล้านดอลลาร์สร้างโรงงานสาธิต มีกำลังการผลิตเชื้อเพลิงจากสาหร่าย 5 บาร์เรลต่อวัน กระทั่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงเจ็ทในเที่ยวบินแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2564 ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ASTM7566 สำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน สามารถผสมกับน้ำมันปิโตรเลียมที่มีอยู่แล้วได้ถึง 50% โดยไม่ส่งปัญหาถึงเครื่องยนต์ 

ส่วนแผนงานในอนาคต ปี 2568 ต้องการเปิดโรงงานเชิงพาณิชย์​ และขยายสาขาเพิ่มปี 2573 ดังนั้น ปี 2566 เป็นต้นไป จึงมองหาสถานที่ที่เหมาะสมราว 25,000 ตารางเมตร หรือมากกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เพื่อจัดทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่าย 

“ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ได้ขยายการวิจัยพัฒนาฟาร์มสาหร่ายที่ปัจจุบันมีอยู่ 2 ที่ในโอกินาวา 25 ตารางเมตรและมิเอะ 1,000 ตารางเมตร"

ทัตสึ ปิดท้ายถึงปัญหาราคาสินค้าชีวภาพที่สูงกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป หากต้องการลดช่องว่างราคา รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้สินค้ามีราคาต่ำลง เหมือนสหรัฐที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้