“เดอะเกรทรีเซ็ต” พลิกเกมใหม่ปั้นแบรนด์ไทยสู่สมาร์ทธุรกิจ รับเปิดประเทศ

“เดอะเกรทรีเซ็ต” พลิกเกมใหม่ปั้นแบรนด์ไทยสู่สมาร์ทธุรกิจ รับเปิดประเทศ

วิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อภาคอุสาหกรรมต่างๆ ด้วยกันทั้งสิ้น จึงเป็นเหตุผลให้ "ISMED" สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งสัญญาณถึงเอสเอ็มอี พร้อมจับมือพันธมิตร "Reset" ภาคธุรกิจไทยสู่การปั้น "เดอะเกรทรีเซ็ต" การจัดการธุรกิจสมัยใหม่ด้วยโซลูชันยุคนิวนอร์ม

จากการที่ "ISMED" มองหาหนทางที่จะช่วยเอสเอ็มอีผ่านการเข้าไปตามหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งตกผลึกจากการเห็นภาพที่สำคัญผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำไปใช้เป็นพลังของเครือข่ายที่จะเป็นตัวช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงกลายเป็นสูตรที่จะทำให้เอสเอ็มอีปไปต่อได้และประสบความสำเร็จ แต่กระนั้นเอสเอ็มอีก็จะต้องมีการปรับตัวเช่นกัน 

ISMED ยกทัพอัพสเกลเอสเอ็มอี

นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการอยู่ 3 กลุ่มในสถานการณ์วันนี้ คือ 1.เอสเอ็มอีที่ยังประคอง หรือ กัดฟันสู้ในแนวทางที่เคยทำมาก่อน แต่ยังไม่เห็นแสงสว่างหรือทางออก และรู้ตัวว่าจะต้องปรับ แต่ยังไม่รู้จะปรับอย่างไร ดังนั้นจึงต้องหาจิ๊กซอว์มาเติมเต็มอยู่ที่ 89.7% 

2.เอสเอ็มอีที่เริ่มเห็นทางออกบางอย่าง แต่ไม่รู้แนวทางหรือวิธีการว่าจะทำอย่างไร อยู่ที่ 38.4% และ 3.เอสเอ็มอีที่รู้สถานการณ์ เห็นทางออก และค่อยๆ ค้นหาหรือกำลังดำเนินการต่างๆ ให้สามารถอยู่รอด หรือหาโอกาสใหม่ๆ อีกทั้งรู้ว่าจะปรับแต่ก็ยังชะลอเพื่อให้ผู้อื่นปรับก่อน อยู่ที่ 51.3%

ด้วยปัจจัยข้างต้นจึงเป็นโจทย์ที่จะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้เอสเอ็มอีกลับมาเฟื่องฟูไม่ตกเป็นเกมรอง และก้าวไปพร้อมกันในทิศทางใหม่ จึงเป็นเหตุผลให้ทางสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ผุดโครงการ “เดอะเกรทรีเซ็ต (The Great Reset)” ที่จะเป็นการปรับตัวสู้ด้วย การบริหารจัดการแบบสมาร์ท ใช้เทคโนโลยี ใช้เดต้าเพื่อก้าวทันยุคสมัยดิสรัปท์ชัน สอดคล้องกับผู้บริโภคนิวนอร์ม

ในซีรีย์แรกเพื่อรับการเปิดประเทศ จึงเน้นให้น้ำหนักกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการแก้ปัญหา หาทางออก ด้านการขาย การตลาด และอีกกลุ่มหนึ่งคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการที่หลังโควิดจำเป็นต้อง ค้นหาแนวทางและวิธีการ ในการสร้างคุณค่าใหม่ๆให้กับธุรกิจ และอื่นๆอีกมากมาย

เอสเอ็มอีเดินเดี่ยวจะเดินยาก

ส่วนเดอะเกรทรีเซ็ต Super Smart Solutions ประกอบด้วย

1. Big step go.com SME solutions คอร์ส+เครื่องมือ+ข้อมูล+ช่องทางตลาด ครบจบที่เดียว

2. ระบบ 2 NDCASH.CO รวมกองทัพนักขายออนไลน์กว่าแสนรายที่จะช่วย SMEs รุกตลาดทั่วโลก

3. Sell Profit Design Simulator Program แก้ปัญหาการทำโฆษณาออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพแอดได้ถึง 80%

4. ปลุกยักษ์หลับภาคธุรกิจบริการ ผ่านโมเดลบริการ WOW สมัยใหม่ ด้วย Smart Service for Excellent Solutions

5. โมเดลการ วัดและสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจด้วยระบบ CPMS (Corporate Performance Management System)

6. Hybrid Branding ฉีกตำรา-ฉุดแบรนด์ให้พ้นการดิสรัปชั่น

7. โมเดลการอัพมูลค่าธุรกิจสุขภาพด้วย Modernize Thai Medicine

สำหรับวัตถุประสงค์ในครั้งนี้คือ  1. เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในการเตรียมเปิดประเทศให้กับเอสเอ็มอี ทั้งเชิงรับ-รุกให้สามารถผ่านวิกฤติไปได้   

2. วางเข็มทิศเชิงกลยุทธ์ให้กับเอสเอ็มอีให้สามารถเดินต่อได้อย่างถูกทิศทางและทันการณ์ 

3. ออกแบบเครื่องมือ โซลูชัน ตัวช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถซ่อม สร้างเสริม ธุรกิจได้ทันการณ์

ทั้งนี้มองว่า กลุ่มธุรกิจแรกๆที่พร้อมโตไปกับการเปิดประเทศ ได้แก่ 1.กลุ่มภาคบริการ ท่องเที่ยว การเดินทาง 2.กลุ่มการบริโภคในประเทศ เช่น กลุ่มการค้าปลีก การค้าออนไลน์ การเดลิเวอรี 3.กลุ่มเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ตั้งแต่บริการ ไปจนถึง อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ สุขอนามัย เป็นต้น

สำหรับการคัดเลือกเอสเอ็มอีนั้น จะไม่มีการจำกัดจำนวน เพียงแค่มีความตั้งใจและพร้อมที่จะปรับตัว เนื่องจากเป็นออนไลน์จึงสามารถรับได้ไม่จำกัด ส่วนขั้นตอนเชิงลึกอาจจะต้องดูความพร้อมของเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการระยะแรกเริ่มตั้งแต่ตุลาคม ไปจนถึงธันวาคม หลังจากนั้นจะมีการเซอร์วิสอย่างต่อเนื่อง

“ผลลัพธ์ในส่วนของเอสเอ็มอี มองว่าจะสามารถอยู่รอดได้ และพ้นข้อจำกัดต่างๆ แต่กระนั้นก็อยู่ที่ว่าเอสเอ็มอีเหล่านั้นจะมาเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ซึ่งเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของจีดีพีประเทศ"

ดังนั้นตัวแปรที่สำคัญจึงอยู่ที่ “เอสเอ็มอี” ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโมเดลในครั้งนี้ ให้สำเร็จได้ ส่วนในอนาคตจะมีการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย จีน และตะวันออกกลาง ผ่านการเชื่อมโยงโดย ISMED ปัจจุบันได้มีการเจรจาแล้วเบื้องต้น

ฉีกตำราสร้างดีเอ็นเอแบรนด์

ส่วนทางด้าน อาจารย์สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย พันธมิตรผู้ที่มาพร้อมกับหลักสูตร Hybrid Branding ฉีกตำรา-ฉุดแบรนด์ให้พ้นจากการดิสรัปท์ชัน กล่าวว่า Hybrid Branding 2022 จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถสร้างแบรนด์ได้อย่างเป็นมืออาชีพ ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างฐานธุรกิจให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด

"เนื่องจากการสร้างแบรนด์ปัจจัยสำคัญไม่ได้มีแค่ชื่อ โลโก้ แต่อยู่ที่การหาตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยหัวใจสำคัญมีทั้งหมด 13 ลักษณะ ที่จะโน้มน้าวหาผู้ซื้อได้ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือน DNA ผู้ประกอบการจึงต้องมีความรู้ที่ครบถ้วน หากไม่มีตัวตนที่ชัดเจนจะหากลุ่มลูกค้าไม่เจอและจะไร้ซึ่งผลลัพธ์"

ฉะนั้น 5 Solutions of Hybrid Branding ที่สำคัญได้แก่ 1. Brand Health Check การตรวจสอบสุขภาพแบรนด์ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ความเชื่อ ความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ความสามารถของแบรนด์ พันธมิตรของแบรนด์ และความแตกต่างที่โดดเด่น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์ได้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์ในแต่ละธุรกิจ

2. Brand Charisma การค้นหาตัวตนของแบรนด์ด้วยเครื่องมือเฉพาะของ Brand Matter Plan กับ 13 ต้นแบบที่สื่อถึงความหมายและบุคลิกภาพของแบรนด์ เพื่อช่วยให้เจ้าของแบรนด์สร้างแบรนด์ผ่านความหมายและบุคลิกภาพที่โดดเด่นเป็นแบบฉบับเฉพาะของแบรนด์

3. Brand Positioning Workshop การวิเคราะห์ตลาดและรู้จักสมรภูมิในการแข่งขันเพื่อให้แบรนด์ได้กำหนดกลยุทธ์สร้างจุดยืนของแบรนด์ให้โดดเด่นในสมรภูมิ รวมถึงการกำหนดคุณค่าของแบรนด์ที่แตกต่างและเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค

4. Brand Strategy Milestone การกำหนดกลยุทธ์ ทิศทางของแบรนด์ระยะยาว เพื่อช่วยให้แบรนด์บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ โดยมีการทำความเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ช่องทางในการสื่อสาร และการวัดผลอย่างต่อเนื่อง

5. Brand Marketing Communication & Budget การวางแผนการสื่อสารการตลาดสำหรับแบรนด์ การเลือกใช้สื่อและเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่เหมาะสม และกำหนดงบประมาณ เพื่อช่วยให้แบรนด์บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น การสร้างการรับรู้ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย การทำให้คนมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ตลอดจนให้เกิดการซื้อและใช้ซ้ำ เป็นต้น

แก้ปัญหาทำไมยิงแอดถึงขายไม่ได้ ?

ส่วนทางด้านอาจารย์อลงกรณ์ สุวรรณเวช ผู้อยู่เบื้องหลังโมเดล Sell Profit Design Simulator Program แก้ปัญหาการทำโฆษณาออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพแอดได้ถึง 80% กล่าวว่า ปัญหาการขายของออนไลน์จากแต่ก่อนเคยขายได้ แต่วันนี้กลับขายไม่ได้ ยอมขายลด ค่าโฆษณาก็แพงขึ้น กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่ขายของบนโลกออนไลน์ 

และเมื่อการโฆษณาออนไลน์วันนี้ เปรียบเสมือนการทอยลูกเต๋า มีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงแค่ 50-50 ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงของยอดขายที่ลดลงคืออะไร

ซึ่งคนส่วนใหญ่ประมาณ 80% ได้มีการซื้อแอดมาใช้กับธุรกิจแล้วเวิร์ค แต่เมื่อผ่านมา 2-3 เดือนกลับขายไม่ได้ และเมื่อยอดขายหายไป ส่งผลให้มองว่าแอดไม่ดี คอนเทนต์ไม่โดน กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ แต่จริงๆแล้วนั้นปัญหาที่แท้จริงและสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการไม่รู้ ข้อมูลการตลาดอื่นๆ จากการทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งรู้เพียงยอดขายเท่านั้น

ดังนั้นวันนี้เราจึงพัฒนาเครื่องมือช่วยผู้ประกบอการ "Digital Marketing Data" มาวิเคราะห์และช่วยสร้าง Sell Profit Design Program หรือ ระบบการขายออนไลน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งโปรแกรมนี้จะสามารถจำลองระบบการขายออนไลน์ของผู้ประกอบการแล้วคำนวนออกมาเป็นยอดขาย และกำไรต่อปีได้ที่ความแม่นยำมากกว่า 80% "

ซึ่งโซลูชันนี้จะทำให้รู้ว่า การยิงแอดไปแล้วขายได้ขายดี เพราะอะไร โดยอาจจะเป็น คอนเทนต์ กลุ่มเป้าหมายที่ตรง หรือระบบการจัดการภายในขององค์กร

ฉะนั้นเครื่องมือตัวนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ โดยเกิดจากการเก็บเดต้าของการทำการตลาดของผู้ประกอบการจริงๆ และประมวลผล ว่าปัญหาที่แท้จริงของผู้ประกอบการคืออะไร และจะบ่งบอกว่าผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง และมีค่าการตลาด มีต้นทุน ค่าที่ได้จากการโฆษณาอะไรบ้าง จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีกำไร หรือขาดทุนอย่างไร 

วัด-สร้างมูลค่าด้วย CPMS

ขณะเดียวกัน ด้าน สายัณห์  ไวรางกูร ก็ได้พัฒนา "โมเดลการวัดและสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจด้วยระบบ CPMS (Corporate Performance Management System)"

โดยจะเน้นเรื่องการบริหารงานที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่ากิจการ (Enterprise Value Enhance Services: EVES) และเอสเอ็มอียุคนี้จำเป็นต้องรู้มูลค่ากิจการตนเอง

ไม่ว่าจะเป็น 1.กิจการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีแผนธุรกิจระยะยาว และไม่รู้มูลค่ากิจการตัวเอง เพราะไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และไม่รู้วิธีการคิดมูลค่ากิจการ การนำเอาหลักการเรื่องการบริหารที่มุ่งเน้นคุณค่ามาใช้ในองค์กร หรือ ที่เรียกว่า Value Based Management หรือ VBM จะให้ช่วยให้การบริหารกิจการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ (เช่นต้องการให้บริษัทตัวเองมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาทภายใน 5 ปี) 

2. การที่มูลค่าหุ้นของเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้นได้ในยุคนิวนอร์มอลนั้น บริษัทต้องสามารถสร้างกระแสเงินสด (Cash Flow) ออกมาให้ได้มากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเอสเอ็มอีสามารถบริหารปัจจัยหลัก (Value Drivers) 7 ปัจจัยได้ดี คือ 

1.การสร้างจุดขายจุดแข็งให้กับองค์กร 

2.การทำให้ยอดขายเติบโต 

3.การทำให้กิจการมีกำไรดี 

4.การบริหารภาษีให้มีประสิทธิภาพ (ไม่ใช้การหลบภาษี) 

5.การใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อยๆ 

6.การใช้เงินลงทุนที่ต่ำๆ 

7.การหาแหล่งเงินทุนต้นทุนถูกที่สุด 

และสุดท้าย 3. การจะบริหารกิจการให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นทุกๆปี เอสเอ็มอีควรติดตั้งระบบการบริหารผลการดำเนินงาน ที่จะช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ลึกซึ้ง และเพียงพอในการตัดสินใจบริหารงานและติดสินใจลงทุนที่เหมาะสม มูลค่ากิจการก็จะเพิ่มขึ้นได้ตามแผน