"เอ็นบีสเปซ" สตาร์ทอัพอวกาศไทย ปักหมุดฐานผลิตดาวเทียม ป้อนตลาดโลก

"เอ็นบีสเปซ" สตาร์ทอัพอวกาศไทย ปักหมุดฐานผลิตดาวเทียม ป้อนตลาดโลก

เอ็นบีสเปซ (NBSPACE) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ “The Best Startup in Space Economy: Lifting Off 2021” ที่จัดโดย เอ็นไอเอ

จากการนำเสนอรูปแบบเทคโนโลยี นวัตกรรมและแผนธุรกิจ “The Best Startup in Space Economy: Lifting Off 2021” ใน โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ

ผู้ร่วมก่อตั้งเป็นศิษย์เก่า มจพ. และเป็นสมาชิกในทีมพัฒนา “แนคแซท" (KnackSat) ดาวเทียมรูปทรงคิวแซท (CubeSat) ดวงแรกของประเทศไทยที่ออกแบบและสร้างในไทยทั้งหมด พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่างๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง โดยที่ภารกิจหลักในอวกาศของดาวเทียมแนคแซทคือ การส่งข้อมูลและถ่ายภาพจากอวกาศเพื่อทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ ที่ออกแบบและสร้างขึ้น

จุดเปลี่ยนไทยสู่อุตฯดาวเทียม

อภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเอ็นบีสเปซ เปิดฉากเล่าว่า จุดเริ่มต้นของความสนใจนั้นมาจากการที่มองเห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้ซื้อและใช้เทคโนโลยีอวกาศมานาน แต่ยังไม่มีการออกแบบและสร้างดาวเทียมเองอย่างจริงจัง จึงมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำความเชี่ยวชาญมาทำธุรกิจในด้านนี้ เพื่อสร้างดาวเทียมตอบโจทย์ธุรกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมอากาศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และอุตสาหกรรมอื่นๆ

ขณะเดียวกันสำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลก มีการคาดการณ์จากมอร์แกน สแตนลีย์ว่า ในปี 2583 อุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะเติบโตแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับในไทยมีการประมาณการว่าตลาดเศรษฐกิจอวกาศของไทยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 90% ของมูลค่าตลาดนั้น เป็นการที่ไทยนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ อาทิ การซื้อขายชิ้นส่วนดาวเทียม ไปจนถึงการบำรุงรักษา แต่กระนั้นไทยก็มีการให้บริการด้วยเช่นกัน อาทิ ไทยคม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลางน้ำ และปลายน้ำ ส่วนต้นน้ำยังมีน้อย

ดังนั้น ไทยควรเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดนี้ และดาวเทียมก็ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการยกระดับไทยไปสู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นสูง โดยที่สิ่งที่เอ็นบีสเปซทำอยู่เป็นหนึ่งสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในตลาดนี้โดยเป็นการโฟกัสที่ต้นน้ำ

“เรามีโปรเจคที่ทำร่วมกับหลายองค์กร อาทิ โครงการดาวเทียมแนคแซท-2 ที่จะปล่อยสู่วงโคจรไปกับจรวดส่งเสบียงของสถานีอวกาศนานาชาติ ในไตรมาส 3-4 ปี 2565 โดยบริษัทเป็นผู้ออกแบบและสร้างดาวเทียมร่วมกับ มจพ. นอกจากนี้มีการให้คำปรึกษากับหน่วยงานวิจัยไทยและต่างชาติหลายหน่วยงานที่เป็นลูกค้า อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป เดนมาร์ก เยอรมนี”

นอกจากนี้ยังแผนที่จะส่งดาวเทียมอีก 20 ดวง ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก เพื่อสร้างข้อมูลต้นน้ำของตัวเอง และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์นำข้อมูลไปใช้กับธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ คาดว่าโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนในระยะยาวตั้งเป้าอยากจะเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีการออกแบบและสร้างดาวเทียมในประเทศไทย

ปั้นข้อมูลต้นน้ำในประเทศ

“ทุกวันนี้ไทยไม่มีดาวเทียมที่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะการที่มีดาวเทียม 1-2 ดวงในปัจจุบัน ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมใช้เวลานาน ไม่สามารถให้ข้อมูลที่เสถียรได้ จะต้องไปซื้อข้อมูลจากต่างประเทศ อาทิ บางปีที่น้ำท่วมทำให้เสียเงินมูลค่ามหาศาลจากการซื้อภาพถ่ายดาวเทียม ฉะนั้น อวกาศจึงเหมือนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพียงแค่เราทำไม่ได้ หากทำได้เองในประเทศจะสามารถสร้างรายได้และนำไปปรับใช้ได้หลายเซกเตอร์”

ที่ผ่านมา เขามองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจมา 1 ปีกว่าๆ คิดว่าอยู่ในระดับเริ่มต้น ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ Growth state เพื่อที่จะขยายสเกล ส่วนประสบความสำเร็จหรือยังนั้นมองว่าทำได้ดี แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม จึงต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อสร้างธุรกิจด้านดาวเทียมให้มั่นคงมากขึ้น

ขณะที่ในอุตสาหกรรมอวกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังนั้น ความท้าทายในมุมมองของเขาในฐานะนักออกแบบและผลิตดาวเทียม คือ การที่จะสร้างดาวเทียมลูกหนึ่ง ไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องการอีโคซิสเต็มที่จะมาช่วยในการผลิต ชิ้นส่วนดาวเทียม ให้ตรงตามมาตรฐานที่ต้องการ

ด้วยความที่เป็น “Made in Thailand” จะเป็นอุปสรรคในการสร้างการรับรู้ของคนไทยหรือไม่นั้น สิ่งที่บริษัทชูจึงเป็นเรื่องของ “Thai made space system” ที่จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งคนไทยด้วยกันและระดับสากล เพราะอยากให้ทุกคนมองว่าเรื่องของอวกาศเป็นสิ่งที่คนไทยทำได้ และเป็นผู้สร้างได้มากกว่าผู้ซื้อ ดังนั้นการทำธุรกิจด้านนี้นอกจากในไทย อยากนำชื่อของเอ็นบีสเปซไปเติบโตและทำธุรกิจด้านอวกาศในระดับโลกได้

 “ภาครัฐ”ปัจจัยหนุน ศก.อวกาศ

ส่วนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของเอ็นไอเอ เพราะมองว่า การอยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศ เมื่อมีโครงการที่เกี่ยวข้องขึ้นในประเทศ จึงสนใจที่จะเข้าไปเรียนรู้ เพราะด้วยความที่เป็น Tech Company และเพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่าทีมงานส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จึงอยากจะเรียนรู้ด้านธุรกิจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งการพัฒนาธุรกิจและคำแนะนำด้านธุรกิจ

“ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้สเกลได้และเติบโตอย่างยั่งยืน คือ การมีเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นของตนเอง รวมทั้งการมีพาร์ทเนอร์ และนักลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้สเกลได้และเติบโตอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม การที่อุตสาหกรรมอวกาศของไทยจะพัฒนาไปได้เร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับการอุดหนุนจากภาครัฐ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างของผู้เล่นในประเทศ และการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อกับธุรกิจไทย เพื่อให้เกิดดีมานด์ภายในประเทศ รวมทั้งการจูงใจให้เกิดความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยและต่างชาติที่มีผลต่ออุตสาหกรรมอวกาศด้วยเช่นกัน