"เบรนไดนามิกส์ฯ" ดึงเอไอล้วงลึกโรคจากการหลับ

"เบรนไดนามิกส์ฯ" ดึงเอไอล้วงลึกโรคจากการหลับ

สตาร์ทอัพสายการแพทย์ “เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี” ก่อตั้งในปี 2557 โดยคนรุ่นใหม่ 3 คนจากวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและวิศวกรชีวการแพทย์ ที่มีความสนใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะการทำงานของคลื่นสมองหรือคลื่นไฟฟ้าในสมอง

หลังจากได้ทดลองเล่นอุปกรณ์ที่ใช้วัดสัญญาณสมอง พบว่าสามารถควบคุมลูกบอลให้ลอยขึ้นตามพลังความคิด จึงจุดประกายแนวคิดให้ทำธุรกิจพัฒนาของเล่นที่เกี่ยวกับสัญญาณสมองขึ้นภายใต้แบรนด์ "เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี"

2-3 ปีต่อมาที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา จึงค่อยๆ ปรับจากการพัฒนาของเล่นเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือการดำรงชีวิตของผู้พิการ กระทั่งขยับสู่อุปกรณ์สำหรับการวิจัย และท้ายที่สุดได้นำอุปกรณ์ที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นโซลูชันเครื่องมือแพทย์ตอบโจทย์เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลสำหรับโรคจากการหลับขึ้นในที่สุด

เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิต

ณพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ กล่าวว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับร้อยละ 4.8 ของประชากร หรือประมาณ 3-4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 85 ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากเข้าไม่ถึงบริการดังกล่าวซึ่งมีอยู่จำกัด 

ลักษณะความเป็นนวัตกรรมของบริษัทฯ เขามองว่าเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านบริการ ถือเป็นต้นแบบเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลสำหรับโรคจากการหลับ โดยอาศัยเทคโนโลยี IoT madical device เก็บข้อมูลสัญญาณจากร่างกายคนไข้เพื่อวินิจฉัยภาวะการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ พร้อมทั้งมีฟังก์ชันช่วยแปลผลข้อมูลผู้ป่วยเบื้องต้น ทำให้สามารถลดภาระงานการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการประเมินเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในกระบวนการทดสอบทางคลินิก โดยนำร่องที่ห้องตรวจการนอนที่ศูนย์ชีวา นิทราเวช ณ โรงพยาบาลชลลดา บางบัวทอง จ.นนทบุรี กลุ่มที่เข้ามาตรวจส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เมื่อการทดสอบเสร็จสมบูรณ์จะเปิดให้บริการ 2 รูปแบบ ได้แก่ In lab Sleep test คือ การให้บริการตรวจที่โรงพยาบาล คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือน ธ.ค.2564 กลุ่มเป้าหมายจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับตั้งเป้าที่จะร่วมให้บริการกับโรงพยาบาลเพิ่ม 2-3 แห่งในระยะสั้น

ส่วนรูปแบบถัดมาคือ Out of lab sleep test หรือ Home sleep test ที่ให้บริการใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันที่สุด โดยที่เฟสนี้จะมีทีม technician ไปตรวจการนอนที่บ้านให้คนไข้โดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ก.พ.2565

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้น ความสำคัญคือความปลอดภัย และความสามารถที่จะช่วยวินิจฉัยโรคของคนไข้ ดังนั้นมาตรฐานการรับรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยปัจจุบันบริษัทฯได้รับ ISO 13485 มาตรฐานบริหารคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ โดยที่เครื่องมือแพทย์แต่ละตัวได้มีการยื่นจดทะเบียนกับทาง อย.ด้วยเช่นกัน

ส่วนภาพรวมตลาด ณพสิทธิ์ มองว่า การตรวจการนอนได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะผู้คนเริ่มตระหนักได้ว่าคุณภาพการนอนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการทำงาน และเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ ก่อนหน้านี้การตรวจการนอนมีเฉพาะโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่เท่านั้น อาทิ จุฬาฯ ศิริราช รามาธิบดี 

แต่ปัจจุบันการตรวจการนอนเริ่มหลากหลายมากขึ้นอย่างเช่น โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มมีการให้บริการ แม้ราคาสูงแต่ก็มีผู้ใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ก็มีผู้ให้บริการแบบ Home sleep test เริ่มเปิดให้บริการแก่สาธารณชนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบทางธุรกิจของบริษัทฯ คือความเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจการนอนที่พัฒนาขึ้นร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ผลตรวจวินิจฉัย ทำให้การวินิจฉัยเร็วขึ้น อีกทั้งการให้บริการการปรึกษาและพบแพทย์เกิดขึ้นในรูปแบบเทเลเมดิซีน ทำให้ต้นทุนลูกค้าลดลงทั้งเรื่องเงินและเวลา และทำให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นเช่นกัน นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบการให้บริการของบริษัทฯแตกต่าง

เตรียมสู่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะให้บริการตรวจการนอนกว่า 3 พันเคส เทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ภายในปี 2565 และมองว่าจำนวนการตรวจการนอนในประเทศไทยอาจมีโอกาสเพิ่มเป็นหลักแสนคนต่อปี ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายใหญ่ของผู้ให้บริการตรวจการนอนในไทยที่ต้องทำร่วมกัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพการนอนหลับของประชาชนดีขึ้น

อีกทั้งเบื้องต้นโฟกัสตลาดในประเทศ โดยตั้งเป้าขยายบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย สำหรับตลาดต่างประเทศวางแผนที่จะหาผู้ร่วมให้บริการและการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

ขณะที่ความท้าทายเขามองว่า เนื่องจากเป็น High tech medical device จึงต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์ และระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะต้องทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จึงจะทำให้ก้าวสู่จุดเดียวกับคู่แข่งในตลาดได้ 2.คุณภาพที่จะต้องทำให้ดีขึ้น และมีจุดที่ดีกว่า จากการที่จะต้องเข้าใจ Domain Knowledge นั้นๆ และมองหาจุดที่จะต้องพัฒนาต่อยอด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน คือ 1.เทคโนโลยี 2.โมเดลธุรกิจ 3.เทรนด์ตลาด 4.โอกาส