’ไซเบอร์บูลลี่’ ปัญหาร้ายแรง เยาวชนไทย

’ไซเบอร์บูลลี่’ ปัญหาร้ายแรง เยาวชนไทย

เทเลนอร์ เผย การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์กำลังเป็นปัญหาร้ายแรง โควิด-19 เพิ่มจำนวนไซเบอร์บูลลี่ โซเชียลมีเดีย แอพส่งข้อความ เกมออนไลน์ 3 ช่องทางหลักการบูลลี่ในหมู่เยาวชน

ผลสำรวจโดย “เทเลนอร์กรุ๊ป” และ “องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล” เผยว่า 2 ใน 3 ของเยาวชนในประเทศไทย มาเลเซีย บังคลาเทศ และปากีสถาน มองว่า “การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์” เป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับเเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน  โดยสถานการณ์โควิด-19 ได้เพิ่มปริมาณปัญหาไซเบอร์บูลลี่จาก 25% เป็น 29%

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 14% ของเยาวชนมีประสบการณ์ไซเบอร์บูลลี่อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยช่องทางโซเชียลมีเดีย แอพส่งข้อความ และเกมออนไลน์ เป็น 3 ช่องทางออนไลน์หลักที่เยาวชนมีประสบการณ์การไซเบอร์บูลลี่มากที่สุด

เยาวชนที่เคยถูกบูลลี่มีการใช้กลวิธีที่หลากหลายเพื่อหยุดยั้งการบูลลี่ที่เกิดขึ้น ทั้งการเพิกเฉยต่อการกระทำนั้นๆ เปลี่ยนการตั้งค่าความปลอดภัยเพื่อให้ผู้กลั่นแกล้งไม่สามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนการพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อเป็นเกราะป้องกันจากปัญหาที่อาจตามมาได้

'เด็กไทย' แชมป์ใช้เวลาออนไลน์

ปัจจุบัน ประเด็นไซเบอร์บูลลี่ที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความชุกของสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้น เด็กและเยาวชนแสดงความเห็นว่าควรมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการรับมือกับไซเบอร์บูลลี่บนโซเชียลมีเดียมากที่สุด (56%)

ตามด้วยการรักษาความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ (46%) และการรักษาและความสุขภาพจิต (43%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังต้องการการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือไซเบอร์บูลลี่ผ่านทางแอพแชทถึง 40% ตามด้วยการรับมือไซเบอร์บูลลี่ผ่านเกมออนไลน์ที่ 37%

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราว 70% ใช้เวลาบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด โดย 34% ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ขณะที่ 24% ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเย็นเป็นหลัก มีเพียง 7% เท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉพาะในเวลาเรียน

การใช้อินเทอร์เน็ตแปรผันไปตามสถานการณ์ในแต่ละประเทศ โดยเด็กและเยาวชนในไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับสูง, 47% ของเด็กไทยใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ตามด้วยมาเลเซียที่ 45% บังคลาเทศ 35% และปากีสถาน 17%

ทบทวนแนวทางใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

างมานิชา ดอกรา ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน เทเลนอร์ เอเชีย กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดหาแนวทางหรือวิธีการที่จะป้องกันพวกเขาจากภัยออนไลน์

ตลอดจนการสร้างการรับรู้ จัดอบรมเกี่ยวกับไซเบอร์บูลลี่ และการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวต่อภัยของโลกไซเบอร์ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ควรดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันเพื่อต่อกรกับภัยออนไลน์เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ตลอดจนองค์กรเอกชน

นางคริสตา ซิมเมอร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ องค์การแพลนอินเทอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ผลสำรวจได้แสดงถึงความท้าทายที่สูงขึ้นบนภูมิทัศน์ดิจิทัล

จากข้อมูลผลสำรวจขององค์การแพลนอินเทอร์เนชั่นแนลบ่งชี้ว่า เด็กและเยาวชนหญิงในเอเชียต่างเผชิญกับการล่วงละเมิดและถูกข่มขู่บนโลกออนไลน์ ทำให้พวกเธอเลิกใช้อินเทอร์เน็ต นำไปสู่โอกาสและเสียงที่ถูกจำกัดในการได้ยินบนโลกออนไลน์

ดังนั้นการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเพศบนโลกออนไลน์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ตในเด็กและเยาวชนผู้หญิง ตลอดจนครอบครัว จึงมีความจำเป็นอย่างมาก