ดิจิทัล เพย์เมนท์ สุดบูม แคสเปอร์สกี้ แนะเข้ม ซิเคียวริตี้ กันภัยคุกคาม

ดิจิทัล เพย์เมนท์ สุดบูม แคสเปอร์สกี้ แนะเข้ม ซิเคียวริตี้ กันภัยคุกคาม

“แคสเปอร์สกี้” เปิดผลวิจัยล่าสุด ชี้ "วิกฤติโควิด" ดัน "ดิจิทัลเพย์เมนท์" โตแรงผู้บริโภคเอเชียใช้งานทะลุ 90% แต่ยังหวั่นความปลอดภัย แนะมองหาช่องโหว่ เข้มมาตรการซิเคียวริตี้เพิ่มความเชื่อมั่น

นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงผลการวิจัยล่าสุดโดยแคสเปอร์สกี้ว่า ตัวเลขการใช้งานแอพพลิเคชั่นการชำระเงินผ่านมือถือและธนาคารบนมือถือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้ใช้ 58% และ 52% ที่ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อทำธุรกรรมการเงินอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งจนถึงวันละมากกว่าหนึ่งครั้ง

“สถิติดังกล่าวสามารถอนุมานได้ว่าการระบาดของโควิดกระตุ้นให้คนจำนวนมากหันมาเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งอาจแซงการใช้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้”

ผลวิจัยระบุว่า ชาวเอเชีย 90% ใช้แอพชำระเงินผ่านมือถืออย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันได้ว่าฟินเทคเฟื่องฟูในภูมิภาคนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเกือบ 2 ใน 10 คน หรือ 15% เพิ่งเริ่มใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในช่วงการระบาดของโควิด

โดยฟิลิปปินส์มีสัดส่วนผู้ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-cash รายใหม่สูงสุดที่ 37%, รองลงมาคืออินเดีย 23%, ออสเตรเลีย 15%, เวียดนาม 14%, อินโดนีเซีย 13%, และไทย 13%

เขากล่าวว่า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายได้กระตุ้นให้ผู้ใช้หันมาใช้เทคโนโลยีทางการเงินมากขึ้น มากกว่าครึ่งระบุว่าได้เริ่มใช้วิธีการชำระเงินดิจิทัลในช่วงโควิดระบาด เนื่องจากปลอดภัยและสะดวกกว่าการทำธุรกรรมแบบเห็นหน้ากัน

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่า แพลตฟอร์มต่างๆ นี้อนุญาตให้ชำระเงินโดยปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 45% และเป็นวิธีเดียวที่ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ในช่วงล็อกดาวน์ 36% ขณะที่ผู้ใช้ 29% ระบุว่าเกตเวย์ดิจิทัลในปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด และผู้ใช้ 29% ก็ชื่นชอบสิ่งจูงใจและรางวัลที่ผู้ให้บริการเสนอให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม

สถิติระบุว่า แม้จะเป็นเพียงจำนวนเล็กๆ แต่เพื่อนและญาติ 23% ยังคงมีอิทธิพลต่อผู้ใช้รายใหม่ เช่นเดียวกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ 18% ที่ส่งเสริมการใช้วิธีการชำระเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้งและแอพชำระเงินครั้งแรกยอมรับความกลัว เสียเงินออนไลน์ 48%, กลัวการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินออนไลน์ 41% เกือบ 4 ใน 10 คนระบุว่าไม่ไว้วางใจความปลอดภัยของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ผู้ใช้จำนวนมากกว่าหนึ่งในสี่ 26% พบว่าเทคโนโลยีนี้ยุ่งยากเกินไป และต้องใช้รหัสผ่านหรือคำถามจำนวนมาก ผู้ใช้ 25% ยอมรับว่าอุปกรณ์ส่วนตัวของตัวเองไม่ปลอดภัยเพียงพอ

ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่ปลอดภัย สิ่งสำคัญคือต้องทราบปัญหาของผู้ใช้และระบุช่องโหว่ที่ต้องแก้ไขโดยด่วน นักพัฒนาและผู้ให้บริการควรมองหาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในกระบวนการชำระเงินแต่ละขั้นตอน รวมถึงใช้ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและมีแนวทางการออกแบบที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ใช้การชำระเงินดิจิทัลในปัจจุบันและในอนาคตไว้วางใจ