"นาสท์ด้า โฮลดิ้ง" วีซีรัฐฯยุคใหม่ ร่วมลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง

"นาสท์ด้า โฮลดิ้ง" วีซีรัฐฯยุคใหม่ ร่วมลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง

“นาสท์ด้า โฮลดิ้ง” หน่วยธุรกิจร่วมลงทุน ธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 24 ก.ย. 63 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงทุนเบื้องต้น 250 ล้านบาทถือหุ้น 100%

เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นาสท์ด้า โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า แม้บริษัทฯ จะเป็นนิติบุคคล แต่ถือหุ้น 100% โดย สวทช. ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยงานรัฐ สิ่งที่ทำจึงไม่ได้หวังเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการนำผลกำไรที่กลับมานั้นในรูปแบบของความยั่งยืนในการดำเนินการ และต้องการผลักดันให้ผลงานวิจัยขยายสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น 

เพื่อทำให้ธุรกิจที่เกิดจากการวิจัยและนวัตกรรมสามารถเติบโตและก้าวกระโดดสู่ตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ใช่แค่เติบโตในแง่ของกำไรเท่านั้น อีกทั้งด้วยวัตถุประสงค์ของโฮลดิ้งจึงเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันธุรกิจเทคโนโลยี 

โฟกัสผลิตภัณฑ์จากดีพเทค

สิ่งสำคัญคือ การมุ่งลงทุนในกลุ่มดีพเทคสตาร์ทอัพ หรือ เทคเอสเอ็มอี เพราะหากเป็นทางด้านวิศวกรรมหรือมีบิซิเนสโมเดลเพียงอย่างเดียวจะไม่น่าสนใจ ยกเว้นจะมีข้อได้เปรียบหรือความสามารถที่เหนือคู่แข่ง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์บนฐานงานวิจัยและพัฒนาจึงเป็น “ตัวหลัก” ที่จะนำพาประเทศไปได้ดี

ดังนั้น พันธกิจของบริษัทฯ ได้แก่ 1.เสาะหาโครงการลงทุนและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2.ร่วมลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ สวทช.และพันธมิตร 3.ดำเนินกิจกรรมที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี

 

กิจการเป้าหมายได้แก่ 1.กิจการที่มีลักษณะเป็นผลมาจากการใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม 2.มุ่งเน้นในการสร้างผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม 3.กิจการซึ่งอยู่ในสาขาเป้าหมาย เช่น เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุก้าวหน้า ธุรกิจบริการ

4.กิจการที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 5.ไม่ลงทุนในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ธุรกิจที่อาจขัดกับหลักจริยธรรมจารีตประเพณี และหลักปฏิบัติของสังคม และไม่ลงทุนในกิจการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจทันที

“บริษัทฯจะลงทุนกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์จากดีพเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจบีซีจี ไม่ว่าจะเป็น  เกษตรแม่นยำ เครื่องมือแพทย์ สารสกัด เครื่องสำอาง สมุนไพร เป็นต้น อีกทั้งลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มและธุรกิจบริการสนับสนุนนวัตกรรม”

หวังดันเทคสตาร์ทอัพสู่ไอพีโอ

นาสท์ด้าโฮลดิ้งไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุน ไม่มีกำหนดระยะเวลาการลงทุนขึ้นอยู่กับการเจรจาในแต่ละโครงการ แต่จะร่วมกำกับดูแลในฐานะกรรมการตามสัดส่วนการถือหุ้น ส่วนในกรณีที่ไม่มีกรรมการผู้แทนก็จะติดตามผลการดำเนินงานจากงบการเงินและรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ขณะที่การถอนการลงทุนจะเป็นการขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ หรือขายให้กับผู้ลงทุนรายอื่นทั้งหมดหรือบางส่วน และ Initial Public Offering (IPO)

ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการลงทุนกับบริษัทที่มีฐานมาจากผลงานวิจัยที่มีนักวิจัยเป็นเจ้าของแล้ว 3-4 กิจการ อาทิ บริษัท เวลโนเวชั่นส์ จำกัด ธุรกิจด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม ที่ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตอบสนองความต้องการของตลาดและกระแสรักสุขภาพ เพื่อตั้งเป้าหมายสู่การเป็น Thailand Product Champion ในตลาดโลก

ล่าสุดบริษัทฯ มีความร่วมมือกับ Innospace ในโครงการ Deep Tech Venture เพื่อเฟ้นหาและร่วมลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ (Deep Tech Startup) ที่สามารถสร้างธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีจากการต่อยอดผลงานวิจัยในการทำผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่มีจุดเด่นทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มีกระบวนการพิสูจน์แนวคิด (Proof of Concept : PoC) ที่ชัดเจน มีความต้องการทางตลาดสูง และทีมงานที่มีศักยภาพ

Pitch อย่างไรให้ได้ใจนักลงทุน

เฉลิมพล แนะนำว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้รับการลงทุนจากโฮลดิ้งคือ การมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในตลาด ผลงานมีความก้าวหน้าแล้วในระดับหนึ่งและมีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ ในบริษัทจะต้องมีบุคลากรทำงานฟูลไทม์ มีความมุ่งมั่นที่จะทำตามโรดแมพที่วางไว้ การเปิดกว้างยอมรับสิ่งใหม่และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน สามารถสร้างความแตกต่างและหากไม่ถึงเป้าหมายจะต้องกล้าที่จะขวนขวายและมองหาโอกาสใหม่ๆ ตลอดเวลา

“การขอรับการสนับสนุนนั้น ผู้ประกอบการต้องอิงเทคนิคการทำ Pitch Deck ซึ่งถือเป็นเท็มเพลทการนำเสนองานที่สำคัญ เพราะจะช่วยเสริมให้นักลงทุนมองภาพของกิจการได้ชัดเจนขึ้นและเข้าใจธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยอันดับแรกจะต้องรู้ว่าจะทำคืออะไร สิ่งที่ทำไปตอบโจทย์ปัญหาอะไร รวมทั้งปัญหาที่จะไปตอบโจทย์นั้นตลาดมีขนาดใหญ่หรือไม่ จะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างไรบ้าง โดยที่โซลูชันนั้นคืออะไร โปรดักท์คืออะไร และจะดำเนินการอย่างไร คู่แข่งเป็นใคร และสมาชิกในทีมมีใครบ้าง และสุดท้ายจะนำเงินทุนไปทำอะไรจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นจะสามารถตอบโจทย์ความสนใจของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี และยังสร้างความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพซึ่งมีชัยไปกว่าครึ่ง”

(เรียบเรียงจาก NSTDA ACCEL Special Talk : Series 3 ผ่านทาง FB:NSTDA Deep Tech Acceleration)