"อินเตอร์ฯเอสโอเอส" เต็งหนึ่ง ที่ปรึกษาองค์กรรับมือวิกฤติสุขภาพ

"อินเตอร์ฯเอสโอเอส" เต็งหนึ่ง ที่ปรึกษาองค์กรรับมือวิกฤติสุขภาพ

ฝ่ายบุคคลในองค์กรทั่วไปมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลพนักงาน ซึ่งแบ่งเป็นหลายๆ ส่วน เช่น ส่วนเงินเดือน ส่วนสวัสดิการ ส่วนจัดการอบรม ตลอดจนงานด้านการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ

เพราะหากการช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ทันท่วงทีอาจทำให้พนักงานมีความเสี่ยงและถึงแก่ชีวิตได้ เช่น กรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สภาพอากาศที่เลวร้าย โรคระบาด ภาวะวิกฤติด้านความมั่นคงปลอดภัย

ความต้องการดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กับ “บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด” ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำในการให้บริการความช่วยเหลือด้านการแพทย์และความมั่นคงปลอดภัยแก่พนักงานขององค์กรต่างๆ โดยก่อตั้งในปี 2528 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอนดอนและสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยดำเนินการมากว่า 30 ปี

“หลายบริษัทจากเดิมทีมบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติขององค์กร จะมีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัย แต่หลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ก็ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานเพื่อวางแผนบริหารความเสี่ยง” นพ.จามร เงินชารี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ กล่าว

นอกจากนั้น ภาวะสุขภาพจิตของพนักงานมีแนวโน้มเป็นปัญหาเรื้อรังหลังโควิด-19 เพราะพนักงานต้องทำงานจากที่บ้าน ความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การทำงาน และคาดว่าปัญหาเศรษฐกิจจะยังมีต่อไปอีก องค์กรก็หันมาดูแลและใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงทำงานร่วมดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ตลอดจนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย โดยปรับให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร เพื่อให้หน่วยงานเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน

อ่านข่าว : เมนู อาหารสมุนไพร เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านโควิด ดีต่อสุขภาพดีต่อใจ

ส่ง 3 โซลูชันเจาะกลุ่มองค์กร

โมเดลธุรกิจของบริษัทฯ จะเป็น B2B เน้นเจาะองค์กรขนาดใหญ่ไปถึงขนาดกลาง หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงาน ยา ธนาคารและสถาบันการเงิน โรงเรียนนานาชาติ โรงแรม ยานยนต์ ค้าปลีก กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี องค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร โดยให้บริการผ่าน Workforce Resilience Solution ซึ่งประกอบด้วย 3 โปรแกรม คือ

1.บริการช่วยเตรียมความพร้อม ให้บริการข้อมูลที่สำคัญและทันต่อเหตุการณ์แก่องค์กร เพื่อนำไปใช้ในการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ การส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการให้ความรู้แก่พนักงานขององค์กรผ่านการอบรมต่างๆ ที่ให้ความรู้แก่พนักงานทั้งด้านการแพทย์และความปลอดภัย เช่น การป้องกันตัวเองจากโควิด-19

2.บริการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำทางด้านการแพทย์และความมั่นคงปลอดภัย ผ่านศูนย์บริการความช่วยเหลือตลอด 24 ชม.เช่น เกิดเจ็บป่วยสามารถโทรคุยกับแพทย์ได้ ประสานงานส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในทุกรูปแบบทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ทีมแพทย์ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยชาวไทยที่ติดโควิดจากประเทศพม่ากลับมารักษายังโรงพยาบาลในไทย โดยใช้แคปซูลความดันลบที่ร่วมกันพัฒนากับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์

3.บริการด้านการป้องกัน ให้คำปรึกษาวางแผนนโยบายทางด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่พนักงานขององค์กร รวมทั้งการส่งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติ เช่น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดมีการวางมาตรการกรณีที่มีพนักงานติดโควิด มาตรการการกักตัว การให้ความรู้แก่พนักงานถึงแนวทางการป้องกัน

โควิดดันการใช้บริการโต 10 เท่า

นพ.จามร กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิดทำให้จำนวนของผู้ใช้บริการ เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และร้อยละ 30 เป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด เนื่องจากข้อกำหนดที่เข้มงวดในการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้เกิดความซับซ้อนและการบริหารจัดการเคสยากมากยิ่งขึ้น จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคติดเชื้ออย่าง อีโบล่า ซาร์ส ด้วยเช่นกัน

สำหรับการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ จะเน้นไปยังกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุม การจัดสัมมนา ประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้ ความท้าทายในการทำธุรกิจทางด้านนี้ นพ.จามร มองว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดทำให้คนเดินทางน้อยลง แน่นอนมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยได้ปรับรูปแบบการให้บริการให้ครอบคลุมพนักงานขององค์กรทั้งหมดที่เป็นคนเดินทาง และคนที่อยู่ในประเทศแบบครบวงจร

นอกจากนี้ ด้วยความที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับตัวด้านนี้เช่นกัน โดยเน้นลงทุนและพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการให้บริการแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ระบบจัดเก็บและเชื่อมต่อข้อมูลทั่วโลก การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือ Assistance App เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น

อีกทั้งพัฒนาคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจในการดูแลตัวเองและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทั้งยังพัฒนาระบบติดตามว่าพนักงานองค์กรอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ รวมถึงการพัฒนาระบบเทเลเมดิซีนรองรับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สะดวกไปโรงพยาบาล