"เสรี-ชลัมภ์" เผยระวังฝนตกหนัก โอกาสน้ำท่วมเหมือน 54 มีน้อย ห่วง “น้ำแล้ง”

"เสรี-ชลัมภ์" เผยระวังฝนตกหนัก โอกาสน้ำท่วมเหมือน 54 มีน้อย ห่วง “น้ำแล้ง”

ตามที่มีกระแสข่าวมาว่าปีนี้จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น ฝนจะตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนจึงเป็นหน้าที่ของกองหนุนอย่าง อว. ที่จะเตรียมความพร้อมและเครื่องมือรับมือกับวิกฤติในครั้งนี้

ทั้งนี้ใต้การเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร" จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ 

เริ่มแรก รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากคำถามที่ว่าน้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น ล่าสุดต้องยอมรับว่าทุกศูนย์ภูมิอากาศทั่วโลกเห็นพ้องตรงกันว่าในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 พายุลานีญามาอย่างแน่นอน ส่วนประเด็นถัดมาคือมีการคาดการณ์อุณหภูมิสูงผิดปกติ


ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ฝน 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ตกเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2553 ,2554 ,2563 และ 2564 พบว่าปี 2564 ขณะนี้ตัวเลขเกิน 1 พันมิลลิเมตร นั่นหมายความว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคกลางเกิดขึ้นแน่นอนเป็นปกติ แต่จะไต่ไปถึงเส้นสีส้มที่เป็นน้ำท่วมใหญ่ภาคกลางหรือไม่ และจะแตะเส้นสีแดงเสมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ขณะเดียวกันหากลองเพิ่มปริมาณฝนเข้าไป 10-20% พบว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะท่วมเหมือนปี 54 ทั้งนี้ได้มีการประเมินว่าภาคตะวันออก อาทิ ระยอง ปราจีนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างโคราช มีโอกาสแตะเส้นสีแดงส่งผลต่อน้ำท่วม ฉะนั้นจากการสรุปพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้

“แน่นอนที่สุดว่าจากการดูร่องฝนพบว่าทั้ง 4 เดือน ได้แก่ กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม จะมีฝนตก ฉะนั้นภาพรวมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า 3 เดือนข้างหน้าฝนจะอยู่ในปริมาณดีถึงดีมากแต่กระนั้นฝนตกก็ไม่ได้หมายความว่าจะท่วม แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเปราะบางของแต่พื้นที่ที่จะบริหารจัดการ”  

อ่านข่าว : เฝ้าระวัง! พายุลูกใหม่เข้าไทยช่วง 8-10 ตุลาคม นี้

ส่วนประเด็นที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะท่วมใหญ่ ต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างนั้น โดยความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ภาคกลางในรอบ 10 ปีมีอยู่ประมาณ 10-20% ส่วนน้ำท่วมของปี 64 ที่จะเหมือนปี 54 นั้นมีน้อยกว่า 10% แต่อย่าลืมว่าห้ามประมาทเด็ดขาด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือโอกาสที่จะท่วมใหญ่อยู่ที่ 20-40% ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ส่วนความเสี่ยงภาคใต้อยู่ที่ 50-60% โดยจะเป็นในพื้นที่นครศรีธรรมราช พัทลุง ส่วนกรณีของหาดใหญ่ที่จะตกและท่วมเหมือนปี 53 มีโอกาสประมาณ 20-30% 

ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมที่สุด ทั้งนี้ในส่วนของหาดใหญ่อาจจะไม่ต้องกังวลมากนัก ด้วยความที่มีโครงการพระราชดำริ อย่างคลอง ร.1 ในการรับน้ำได้ในปริมาณมหาศาล และแม้จะมีฝนตกจำนวนมากแต่ก็จะน้อยกว่าปี 53 


และในที่สุดจะต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมอย่างไรนั้น จะรอเพียงมาตรการเชิงโครงสร้างที่วางแผนไว้อีก 10 ปีข้างหน้าที่จะใช้เงิน 3 แสนล้านกว่านั้นไม่ได้ ดังนั้นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นไปตามแผนแม่บท 1.ศูนย์บัญชาการส่วนกลาง จะต้องทำหน้าที่ประเมินความรุนแรงและมาตรการเบื้องต้น (ระดับลุ่มน้ำ) อย่างเช่นในระดับ 10% ต้องฉายภาพให้เห็นว่ามีระดับใดที่จะทำให้เกิด และชุมชนใดจะได้รับผลกระทบสูงสุด มูลค่าเท่าไร 2.ศูนย์บัญชาการส่วนหน้า ที่จะต้องประเมินความรุนแรงและมาตรการ (ระดับจังหวัด)

เพราะสุดท้ายแล้วจะต้องมีการประเมินความรุนแรง ความเสียหาย เครื่องมือมาตรการ สถานการณ์จำลองต่างๆ ระบบคาดการณ์ และเตือนภัย การอพยพ ประเมินความต้องการ การช่วยเหลือ เยียวยา ดังนั้นหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องเตรียมแผนรับมือไว้

3.ข้อเสนอโครงการวิจัยตอบโจทย์ประเทศ อย่างเช่น “Code Red” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC ได้ออกรายงานฉบับที่ 6 ส่งสัญญาณสีแดง (Code red) ไปยังนานาประเทศ ก่อนการประชุมโลกร้อน COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ในปลายปีนี้ 


เนื่องจากจากสัญญาณอุณหภูมิเฉลี่ยปัจจุบันของโลก ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้เกิดความรุนแรงของสภาพอากาศ เพิ่มขึ้นประมาณ 2-4 เท่าในอนาคต แต่ขึ้นอยู่กับภาพฉายอนาคตของโลก ที่ผู้นำทั้งหลายตกลง และปฏิบัติจริงร่วมกัน

“อีกทั้งหากมีปริมาณฝนตกมากขึ้น 2-3 เท่าในฤดูมรสุม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่มในหลายภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของประเทศไทยที่จะต้องประเมินตนเอง บริเวณใดที่มีความล่อแหลม เปราะบางต่อเรื่องนี้ ดังนั้นมาตรการจะต้องไดนามิก เนื่องจากเรามีภาพทุกๆปีว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรจากองค์ความรู้ของ IPCC เหลือเพียงแต่ว่าจะส่งสัญญาณไปยังผู้กำหนดนโยบายว่าจะทำอย่างไร” 

รุกแผนป้องกันน้ำท่วม
ส่วนทางด้านประเด็นสำคัญในเรื่องของ พื้นที่ปลูกข้าวผลผลิตไม่มีประสิทธิผล โดยประสิทธิผลประมาณ 4-5 ร้อยกิโลกรัมต่อไร่ทั้งปี ขณะที่ผลผลิตทั้งโลกคือ 530 กิโลกรัมต่อไร่ และน้ำที่ใช้ในแต่ละผลผลิตก็ใช้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เพราะฉะนั้นต้องมองที่ดีมานด์ หากรู้ว่าต้นทุนน้ำเท่าไรจะต้องแจกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องไปวางแผนแต่ละพื้นที่และตอบสนองกับกรมชลฯ แต่ทั้งนี้ต้องดูความเปราะบางด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ว่าฯ จึงต้องมีเครื่องมือของตนเองและระบบที่เข้มแข็ง 

ถัดมาเป็นมุมมองของ ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ที่มองว่า ด้านอุตุนิยมวิทยา ร่องความกดอากาศต่ำแถบศูนย์สูตร (Intertropical Convergence Zone : ITCZ ) หรือร่องมรสุม (monsoon trough) เป็นตัวกำหนดปริมาณฝนที่พาดผ่านประเทศไทยเป็นหลัก และนอกจาก ITCZ แล้วยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนเป็นบริเวณกว้างเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ พายุหมุนเขตร้อน ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden-Julian Oscillation (MJO) และปัจจัยด้าน climate change

ทำให้เกิดร่องมรสุมที่ผิดไปจากปกติ ทำให้เราคาดการณ์ปริมาณฝนได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาหาปัจจัยที่มีผลให้เกิดความผิดปกติร่องมรสุมเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสวิงของร่องมรสุม ทั้งด้านอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ปัจจัยในการเกิด ENSO และ IOD ส่งผลต่อปริมาณฝนของประเทศไทย

หากดูพบว่าร่องมรสุมร่องใหญ่ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 18 มิ.ย. ถึง 5 ก.ค. จะเห็นได้ว่าฝนในประเทศไทยหายไป แต่ในร่องที่พาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกกลับปกติ สิ่งที่เกิดในช่วงเวลานั้นมีความกดอากาศสูงความแรงมากบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ร่องถูกผลักให้ลงมาที่ซีกโลกใต้รวมทั้งบริเวณที่ไทยมีความถี่ความชันของอากาศสูงมาก ทำให้ปริมาณฝนลดลงไป ซึ่ง

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ITCZ เป็นตัวกำหนดฝนหลักของประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดสิ่งที่เรียกว่าฝนทิ้งช่วง 2 ครั้งและรุนแรงและระยะเวลานาน

ทั้งนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาทำไมมีฝนเยอะ จะพบว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 14 กันยายน 64 จะเห็นว่าร่องสมบูรณ์ มีกลุ่มฝนพาดผ่านจำนวนมาก และความกดอากาศไม่ได้แรงซึ่งเป็นปกติที่ผลักร่องให้อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น และเมื่อดูพบว่าฝนที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว 2563 ตั้งแต่มีนาคมจนถึงพฤศจิกายน ลักษณะการตกของฝนจะมีการตกสลับกับฝนทิ้งช่วง 

แต่ในปัจจุบันฝนทิ้งช่วงเกิดหลายรอบจนกระทั่ง เพิ่งเริ่มมามีฝนต้นกันยายนเริ่มเต็ม และต่อไปฝนจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องศึกษาปัจจัยของร่องมรสุมว่ามีเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการสวิง และอีกตัวกลางคืออุณหภูมิที่อยู่ในน้ำทะเลของมหาสมุทรทั้ง 2 ฝั่ง บ้านเราอยู่ท่ามกลางปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้ฝนผิดปกติเยอะอย่างการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาสถานการณ์

ปัจจุบันของปรากฏการณ์ ENSO  จะเห็นว่าจากที่เคยเป็นลานีญาเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่เมษากลับเข้าสู่ปกติ แต่ก็กลายเป็นลานีญา จึงสรุปได้ว่า Climate Change ไม่ได้เปลี่ยนแค่ฝนแต่เปลี่ยนปรากฏการณ์ด้วยเช่นกัน