เปิดฉาก! พันธมิตรนวัตกรรมไทยสู้วิกฤติโลก

เปิดฉาก! พันธมิตรนวัตกรรมไทยสู้วิกฤติโลก

ในการเปิดตัว “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” และแพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย ที่เป็นการระดมความร่วมมือจากหน่วยงานชั้นนำของประเทศจากทุกภาคส่วน นำโดย เอ็นไอเอ กับพันธมิตรทั้ง 73 องค์กร เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยสู่ประเทศฐานนวัตกรรม

ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ พันธมิตรนวัตกรรมไทยสู้วิกฤติโลก” ด้าน พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยถึงมุมมองว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาสำคัญทั้ง 3 ด้าน ที่ฉุดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหากับดักรายได้ปานกลางปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

จึงมองเห็นว่า “นวัตกรรม” จะเป็นทางออกในการพลิกฟื้นประเทศ ให้ผ่านพ้นวิกฤติและหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น “นวัตกรรมประเทศไทย” จะช่วยหนุนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ของคนไทย ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างสมดุล

สำหรับแพลตฟอร์ม "นวัตกรรมประเทศไทย" ได้วางกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.จุดยืนนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศด้านนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก 2.ดีเอ็นเอนวัตกรรมประเทศไทย ที่มุ่งสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ไทยใน 7 ด้าน

และ 3.เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ด้วยการสร้างให้เกิดพันธมิตรนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลกผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ และ 4.แดชบอร์ดนวัตกรรมประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เกิดข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน

สุดท้ายการที่จะทำให้นวัตกรรมของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก มองว่า การสื่อสารนั้นสำคัญ โดยจะต้องสื่อสารผ่านมุมมองคือทำให้คนไทยเชื่อมั่น ฉะนั้นต้องทำให้รู้ว่าเอกชนไทยเก่ง มหาวิทยาลัยไทยเก่ง ซึ่งการนำข้อมูลที่ทำด้านนวัตกรรมสื่อสารให้เกิดการรับรู้ โดยมีหัวใจสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เชื่อมั่นว่ามีสิ่งๆนั้นในประเทศ 

 

เปิดช่องทางเข้าถึงการเงิน

ด้าน ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน ระบุว่า ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม” คือตอบโจทย์เชิงธุรกิจ แต่กระนั้นในเชิงของนวัตกรรมของประเทศยังคงกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่ม อาทิ โลจิสติกส์ หรือทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นดีพเทค ไบโอเทค เอ็ดเทค ยังไม่เยอะมากนัก

คงจะดีหากการพัฒนาและการลงทุนในเรื่องนวัตกรรมจะกระจายตัวกว่านี้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำทั้งอีโคซิสเต็ม ส่วนทางด้านวิกฤติเป็นอย่างไรและในฐานะเอกชนจะช่วยเหลือได้อย่างไรนั้น ในมุมธนาคารนอกเหนือจากเป็นธุรกิจที่จะต้องเอาตัวรอด ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือลูกค้า ที่เมื่อผ่านวิกฤติแล้วจะรอดไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นการเข้าถึงบริการทางการเงิน เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มที่ยังไม่เคยเข้าถึง และในกลุ่มที่ต้องการตัวช่วยในช่วงวิกฤติ

อาทิ 1.ใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 2.ดึงเดต้าเข้าหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการช่วยเหลือ และกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะมีทางรอดหากได้รับการช่วยเหลือ โดยทางธนาคารได้มีสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 3 แสนล้านบาท และสินเชื่อที่รองรับสภาพคล่องเกือบ 2 แสนล้าน ที่ได้ส่งเข้าสู่ช่องทางดิจิทัลตั้งแต่โควิดระลอกแรกจนปัจจุบัน ทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้และแม่นยำมากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของสินเชื่อนั้นผู้ที่ต้องการก็สามารถสมัครผ่านโมบายแบงก์กิ้งได้เช่นกัน

3.NLP ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ ทำความเข้าใจภาษาให้มากขึ้น ช่วยให้บริการลูกค้า ความแม่นยำในการเข้าใจภาษามากกว่า 70% แชทบอท 95% สามารถตอบโต้ลูกค้าได้โดยไม่ต้องใช้พนักงาน สำหรับการบริการใช้แชทบอทไปแล้วกว่า 57% และยังใช้การโทร 43% ทั้งยังสามารถเข้าถึงลูกค้า 6 แสนคนต่อปี ต้นทุนคิดเป็น 25 บาทต่อคน  และข้อมูลมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ด้วยเช่นกัน

 

หนุนสร้างคน-สเกลอัพ

ส่วนทางด้าน ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เผยถึงมุมมองว่า ในปี 2564 แม้จะรายล้อมไปด้วยวิกฤติของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของนวัตกรรมประเทศไทย เพราะหากไม่มีวิกฤติโอกาสที่คนไทยจะแสดงฝีมือในการพัฒนานวัตกรรมน้อยมาก ดังนั้นเครือข่ายพันธมิตรในครั้งนี้มีใจที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง 

แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น มี 2 ส่วนคือ 1. การสร้างคน ซึ่งประเทศไทยมีการเปิดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมประมาณ 80 แห่ง ในแต่ละปีมีการจบการศึกษาประมาณ 3.5 หมื่นคน แต่มีการขอใบอนุญาตทางวิศวกรไม่ถึง 7 พันคน ซึ่งคนที่จบวิศวกรรมศาสตร์ส่วนใหญ่เบนเข็มสู่ด้านทางการเงิน หรืออุตสาหกรรมอื่นเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่มีคนเรียนวิศวกรรมศาสตร์ไม่มากเท่าประเทศเกาหลี หรือ สิงคโปร์ นั่นหมายความว่าการลงทุนกับคนที่สร้างสรรค์นวัตกรรมหายไปทันทีจึงต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ทุกอย่างใหม่

2.การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จากที่ผ่านมาพบว่าการลงทุนในมหาวิทยาลัยจากเอกชนค่อนข้างน้อย มีไม่ถึง 1% ของเงินวิจัยที่มหาวิทยาลัยได้รับ อีกทั้งภาครัฐด้วยเช่นกัน เนื่องจากโครงสร้างมหาวิทยาลัยทางกฎหมายปัจจุบันมีปัญหามาก เพราะการที่จะรับเงินจากเอกชน หรือ การจ้างคนมาสร้างนวัตกรรมมีปัญหาเพราะต้องอ้างอิงระบบราชการ เช่นเดียวกันกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถทำธุรกิจสตาร์ทอัพได้เพราะถือว่าผิดกฎหมาย

"ดังนั้นจึงทำให้ไม่สามารถรักษาคนที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ บวกกับโครงสร้างมหาวิทยาลัยไม่รองรับให้คนเก่งได้เฉิดฉาย และไม่รองรับในการเป็นอิสระในการลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมทุกอย่างจึงยังคงอยู่ที่เดิม หากแต่ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ทั้งหมด"