“สเปซเอฟ” เร่งโตดัน 10 ฟู้ดเทค แก้เกมการแข่งขันอุตฯอาหาร

“สเปซเอฟ” เร่งโตดัน 10 ฟู้ดเทค แก้เกมการแข่งขันอุตฯอาหาร

ความดุเดือดของซีซั่นนี้! สำหรับ "สเปซเอฟ" โปรแกรมการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารในระดับนานาชาติ ล่าสุดอวดโฉม 10 สตาร์ทอัพหน้าใหม่สายฟู้ดเทค ด้านอาหารทางเลือก-ฟังก์ชัน-การจัดการอาหาร ที่มีโจทย์เพื่อแก้เกมการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารท่ามกลางสมรภูมิโควิด

จากการที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จํากัด ได้ผนึกกำลังเพื่อขับเคลื่อน"สเปซเอฟ" โปรแกรมการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารในระดับนานาชาติ โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยในฐานะการเป็น “ครัวโลก” ด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโต น่าสนใจ นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันสตาร์ทอัพสาขานวัตกรรมอาหารให้มีคุณภาพ ความหลากหลาย

มาคราวนี้ได้รุกหนักจัด "SPACE-F batch 2 Incubator Demo Day" เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะในรุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F

ซึ่ง สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีม เป็นสตาร์ทอัพกลุ่ม Incubator หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ได้เข้ามาเรียนรู้ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถขายได้และเป็นที่นิยมของตลาด รวมไปถึงการผลักดันให้ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับธุรกิจรายใหญ่ และได้รับการลงทุนในอนาคต

โดย "พันธุ์อาจ ชัยรัตน์" ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เอ็นไอเอ ยังคงเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง จากความสำเร็จใน 2 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34 ราย ซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง และบางรายก็ยังสามารถต่อยอดขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากเอ็สไอเอได้อีกด้วย ซึ่งเอ็นไอเอ ตั้งเป้าหมายในการสร้างสตาร์ทอัพด้านดีพเทค 100 ราย ให้ได้ภายใน 3 ปี เกิดการลงทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หนึ่งใน 9 เซกเตอร์ นั้นคือสตาร์ทอัพด้านอาหาร

โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตธุรกิจอาหารไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการ การสร้างรูปแบบของอาหารแห่งอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก เพราะการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่กระบวนการผลิตใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ การบริหารจัดการ และระบบทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนที่กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นไม่ได้เป็นการส่งเสริมเฉพาะสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลการปรับตัวที่สำคัญทั้งกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไปจนกระทั่งกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มอาหารทางเลือก ที่ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ โปรตีนจากแมลง กลุ่มอาหารฟังก์ชัน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้คุณค่ามากกว่ารสชาติหรือความอร่อย การบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร เช่น นวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับอาหารเหลือทิ้ง การจัดเก็บอาหาร - การพัฒนาสิ่งหุ้มห่อ ตลอดจนนวัตกรรมด้านการปรุงหรือรสชาติอาหาร ที่ผู้คนและนักบริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในขณะนี้”

พันธุ์อาจ กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีที่ดำเนินการมามีความสำเร็จอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.ตัวชี้วัดการทำงานร่วมกันของเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในเรื่องของระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ทำให้ Accelerator นี้มีจุดเด่นคือการที่จะดึงสตาร์ทอัพระดับนานาชาติมาเป็นหลัก และมี Incubator สำหรับสตาร์ทอัพที่เตรียมพร้อมจะเติบโตในประเทศ เพื่อเข้า Accelerator ต่อไปได้

2.Accelerator ที่ครบสูตร มีทั้งในส่วนของการพัฒนาบิซิเนสโมเดล การพัฒนาตลาด พัฒนาเทคโนโลยี เพราะไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป แต่เน้นในส่วนของดีพเทค 3.มีบริษัทสตาร์ทอัพได้รับการลงทุนจากไทยยูเนี่ยน และอื่นๆ 4.การที่ทางภาคเอกชนมาร่วมกับเอ็นไอเอ และประกาศให้กรุงเทพฯเป็นซิลิคอนวัลเลย์อาหารระดับโลก ถือว่าไม่ใช่สเปซเอฟที่มีการผลักดันให้เกิดขึ้น แต่หลายๆองค์กรเริ่มมองเห็นจุดแข็งที่จะพัฒนาธุรกิจอาหารโดยใช้แนวคิดแบบสตาร์ทอัพขึ้นมา ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้

"แผนการดำเนินงานต่อไปในส่วนของโครงการสเปซเอฟ เนื่องจากสเปซเอฟเข้าสู่ช่วงรอยต่อของการทำงานในระยะที่ 2 จะมีความสามารถในการปักหมุดในการเป็น Accelerator ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านอาหารชั้นนำของภูมิภาค ดังนั้นในเฟสถัดไปจะเพิ่มความสามารถในการพัฒนาสตาร์ทอัพในระดับบ่มเพาะให้สามารถเติบโตได้ และทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพระดับนานาชาติเป็นจุดดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น"

รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ทอัพในไทย เนื่องจากไทยมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำอุตสาหกรรมอาหาร มีตลาดสำคัญ จึงต้องดึงศักยภาพตรงจุดนี้ให้สตาร์ทอัพเห็นว่าหากมาเติบโตในกรุงเทพฯ โอกาสในการได้สตาร์ทมันนี่ และพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถระดับโลกอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สุดท้ายนี้ พันธุ์อาจ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับสตาร์ทอัพว่า เอ็นไอเอจะเน้นสตาร์ทอัพในส่วนของความจำเป็น และเทรนด์ในอนาคตระยะกลางขึ้นไป อีกทั้งสตาร์ทอัพที่นำงานวิจัยออกมาต่อยอดได้ ซึ่งไม่ได้เน้นประเภทแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่จะเน้นดีพเทคเป็นอันดับแรก ทั้งยังได้เร่งทำการสำรวจจำนวนสตาร์ทอัพที่เป็นด้านฟู้ดเทคทั้งทั่วไป Technology based และดีพเทค พร้อมทั้งสำรวจว่าในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมามียอดการลงทุน ประมาณเท่าไร เพราะฉะนั้นความสนใจจึงมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขการลงทุน ที่ยังไม่ปรากฏออกมา

ทางฝั่งของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT)  กล่าวว่า อาหารถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตและเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเข้มแข็งในการวิจัยด้านสุขภาพ มีทรัพยากร เทคโนโลยี และเครื่องมือทันสมัยที่พร้อมจะสนับสนุนนักวิจัย  และสร้างผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีทางอาหาร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

นับเป็นงานวิจัยที่มีความโดดเด่นด้านหนึ่ง  ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ SPACE-F ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ถือเป็นเรื่องสำคัญในการร่วมกันสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ความต้องการอาหารเฉพาะบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการแพทย์ ผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละวัย ในแต่ละโรค ต้องการอาหารทางการแพทย์ที่ต่างกันไปเพื่อช่วยทั้งในด้านการป้องกันและรักษาโรค 

ตลอดจนผู้ที่มีสุขภาพดีก็อาจต้องการอาหารที่แตกต่างกันเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของแต่ละคน ดังนั้นโครงการสเปซเอฟจึงถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะบ่มเพาะ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไปในทิศทางที่เหมาะสมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต

จุดแข็งของเราคือด้านการวิจัย ซึ่งนวัตกรรมที่ดีต้องมีรากฐานมาจากการคิดค้น การสร้างสรรค์พื้นฐาน จึงจะเกิดความยั่งยืน ด้วยความที่มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ห้องแล็บ เปรียบเสมือนบันไดขั้นแรกๆ ที่จะต่อยอดสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยคือ 1.การศึกษาวิจัยความรู้พื้นฐานที่จะไปต่อยอด 2.สร้างคน ที่จะพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคต และการผลักดันหลักๆจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ผู้บริโภค

ทางฝั่งของ ต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ปัญหาด้าน โลจิสติกส์ ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เกิดการตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพ และหันมาใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของอาหารมากขึ้น

ดังนั้นผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพอาหาร กระบวนการผลิต การเก็บรักษา  และที่สำคัญคือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สะอาด ปลอดภัย และพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ รวมถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ไทยเบฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็น 1 ในวัตถุประสงค์หลักของ PASSION 2025 เพื่อเสริมศักยภาพในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และสร้าง Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่าที่มีความยั่งยืน เพื่อผู้บริโภคและคู่ค้าทางธุรกิจได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้แม้ว่าระยะสั้นจะเห็นว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงในช่วงโควิด และกำลังซื้อที่ลดลงจากการว่างงาน แต่ในระยะยาวเชื่อว่าตลาดเครื่องดื่มที่เป็นในส่วนของเทรนด์ฟังก์ชั่นนอล ออร์แกนิคฟู้ด เนื้อเทียม โปรตีนต่างๆ ทั้งตลาดในไทยและเอเชียจะมีโอกาสการเติบโตอีกมาก

ในมุมมองของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านอาหาร หลักๆจะให้ความสนใจในส่วนของสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ใหญ่ๆของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็น 1.ความปลอดภัยทางด้านอาหาร 2.ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับด้านบรรจุภัณฑ์ และการจัดการอาหาร 3.พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความสนใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ฉะนั้นหากสตาร์ทอัพกลุ่มไหนตอบโจทย์ได้น่าจะมีโอกาสไปสู่ความสำเร็จได้

โดยสตาร์ทอัพ 10 ผลงาน ในวันนี้ประกอบด้วย 1.GPJ Biotechnology: อาหารเสริมกลูโคซามีนช่วยลดภาวะสึกหรอของข้อ และกระดูกอ่อน 2.HydroZitla:เครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากน้ำหยวกกล้วยและสมุนไพรป้องกันโรคนิ่วในไต  3.Nam Jai Sparkling Water: เครื่องดื่มโซดาผลิตจากน้ำผลไม้จริง 100% รายแรกในไทย ให้พลังงานเพียง 20 แคลอรี่ 4.Omylk: นมพาสเจอร์ไรส์จากข้าวโอ๊ต ปราศจากแลคโตส

5.Rethink Bio: ผลิตภัณฑ์เสริมคุณค่าทางอาหารสกัดจากสาหร่ายขนาดเล็ก คุณค่าทางโภชนาการสูง  6.Saxo-Siam Protein: อาหารปลาและอาหารไก่ จากหนอนแมลงวันลายที่ได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

7.The Flying Thai Food: เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ช่วยยืดอายุผลไม้สด สามารถยืดได้นาน 45 วัน 8.Trash Lucky: แพลตฟอร์มออนไลน์นำขยะมาแลกเป็นคะแนนลุ้นรับทอง และการผลิตถังรีไซเคิลอัจฉริยะ 9.Viramino: ผงโปรตีนจากพืชเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย  10.Yindii Yindii: แอพพลิเคชันแมทช์ร้านอาหารกับผู้บริโภคเพื่อจับจองอาหารส่วนลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง