'ภูเก็ต' นำร่องติดตั้ง 'เสาอัจฉริยะ' รับเทรนด์สมาร์ทซิตี้

'ภูเก็ต' นำร่องติดตั้ง 'เสาอัจฉริยะ' รับเทรนด์สมาร์ทซิตี้

"ภูเก็ต" เดินหน้าพัฒนา "เมืองอัจฉริยะ" ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเสาอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลกะรน สอดรับนโยบายเปิดเมืองภายใน 120 วัน

นายกเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงต้นทางการพัฒนาภูเก็ตสู่สมาร์ทซิตี้ ว่า การที่ภูเก็ตจะขยับสู่เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีการส่งเสริมสุขภาพหากทำได้จะเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยว ส่วนการที่ อบจ. จะผลักดันเทคโนโลยีอย่างเช่น กล้อง AI เพื่อก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ ไว้ประจำจุดต่างๆ แม้กระทั่งจุดท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากคนต่างชาติมักจะนิยมไปเที่ยว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นหากมีระบบ AI และแอพฯซึ่งมีระบบ SOS จะสามารถช่วยชีวิตเขาได้

"ในเรื่องความปลอดภัยของสมาร์ทซิตี้เมื่อนักลงทุนเข้ามาในกะรนแล้วจะได้รับความสะดวก เพราะเรามุ่งหวังการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นนักลงทุนเข้ามาสร้างเศรษฐกิจให้กับกะรน เราจะพัฒนาควบคู่กันไประหว่างเทศบาลและนักลงทุน เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่ทันสมัย"

เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตในฐานะเมืองที่มีความพร้อมเป็นเมืองเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายยกระดับไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ อย่างเต็มรูปแบบ โดยเทศบาลตำบลกะรน เตรียมการพัฒนาพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลกะรนให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยต้องการให้เกิดการบูรณาการของข้อมูล และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบริการต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของส่วนรวม รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีน่าอยู่ยิ่งขึ้น และอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมุ่งหวังผลก่อให้เกิดผลผลิตมากขึ้น

“ภูเก็ตมีแนวคิดที่จะยกระดับตำบลกะรน ให้เป็นต้นแบบของ Smart City ด้วยการดำเนินการต่างๆ เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาเสาอัจฉริยะ การจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสารลงดิน การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ เพื่อให้มีการจัดการแบบรวมศูนย์ในพื้นที่โครงการเมืองอัจฉริยะมาใช้ในพื้นที่ เขตเทศบาลตำบลกะรน จังหวัดภูเก็ต” 

ด้าน ผศ.วโรดม วีระพันธ์ ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึง มุมมองของ Lucky Pole กับ PSU ว่า สมาร์ทโพลมีการเชื่อมต่อเครือข่าย กล้อง และเซ็นเซอร์ ที่จะสามารถทราบอุณหภูมิ ค่าความชื้น หรืออื่นๆอีกมากมายซึ่งมหาวิทยาลัยทำวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อาทิ การวัดค่าพีเอ็ม 2.5 ดังนั้นจะเป็นการพัฒนาเสาเพื่อ Health and wellness เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลทางด้านสุขภาพส่วนบุคคลที่เชื่อมโยงกับกับ Wearable device สามารถส่งผ่านเครือข่ายของ lucky pole ได้ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจท่องเที่ยวต่อไปได้

อีกทั้งหากมีนักศึกษา บุคลากร เกิดปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน เช่น เป็นลม สามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือที่ lucky pole ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อแจ้งบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลือได้ ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยพยายามพัฒนางานวิจัยให้ตอบโจทย์สังคม แต่ความยากคือการนำข้อมูลมาให้ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน อาทิ การทำความสะอาดข้อมูล วิธีการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการนำเข้าของข้อมูล และข้อมูลด้านอื่นๆ อาทิ เซ็นเซอร์ สภาพสิ่งแวดล้อม 

ด้าน นายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการในเครือ เดอะบีช กรุ๊ป กล่าวว่า เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาภูเก็ตถูกจัดเป็นเมืองที่ถูกประกาศเป็นเมืองนำร่องสมาร์ทซิตี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นของการทำสมาร์ทซิตี้ต้องมีพื้นที่นำร่อง โดยเราได้พูดคุยกับทางเทศบาลเพื่อพัฒนาเสาอัจฉริยะขึ้น ซึ่งการใช้พื้นที่ส่วนต่างๆจะต้องเป็นพื้นที่นำร่องจึงจะเกิดภาพการเชื่อมโยงได้ และด้วยการลงทุนเอกชนสามารถทำได้โดยเสาอัจฉริยะต้นนี้ในพื้นที่ของตนเองจึงจะสอดคล้องในการทำแผน แต่ทั้งนี้เสาอัจฉริยะต้องมีบิซิเนสแพลนเช่นกัน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ และในการที่เทศบาลจะมาปลั๊กอิน หรือลงทุนต่อในส่วนต่างๆจะเป็นในลักษณะบิซิเนสโมเดลได้

"ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และองค์รวมในเรื่องของมูลค่า ซึ่งสิ่งที่เราพูดกันทั้งหมดเราจะสร้างมูลค่าให้กับภาคธุรกิจต่างๆ และจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว"

สำหรับบทบาทความร่วมมือของเดอะบีช กรุ๊ป ในครั้งจะดำเนินการด้านพัฒนาสถานที่รองรับการท่องเที่ยว โดยสร้างอาคารที่พักรองรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าปลีก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ เป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้หมุนเวียนของประชาชน ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองของเทศบาลตำบลกะรน ในโครงการส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะ